24/11/2024
ความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ที่ควรรู้ค่า
โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ rabies (เรบีส์) ซึ่งเป็น RNA virus สามารถติดต่อได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิด อาทิ สุนัข แมว กระต่าย หนู กระรอก ลิง ชะนีค้างคาว รวมถึงมนุษย์
การติดต่อหลักผ่านทางการถูกสัตว์ที่มีเชื้อเรบีส์ กัดจนเกิดบาดแผล ถูกเลียบริเวณบาดแผล หรือที่เยื่อบุบริเวณริมฝีปาก ช่องปาก หรือเยื่อบุตา โดยเชื้อไวรัสในน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อจะผ่านเข้าสู่บาดแผลหรือเยื่อบุดังกล่าว และมีการแบ่งตัวที่บริเวณกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้เคียง ก่อนจะเข้าสู่ปลายประสาทและเส้นประสาท และเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง
เมื่อเชื้อเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางแล้ว จะทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้สัตว์ป่วยมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป โดยมักแสดงอาการดุร้าย ก้าวร้าว กระวนกระวาย ประสาทหลอน ชัก รวมทั้งเกิดภาวะอัมพาต และเสียชีวิตในที่สุด
โรคพิษสุนัขบ้าจัดเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) ที่ร้ายแรง และมีอัตราการเสียชีวิต 100% ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และยังพบการระบาดอยู่ในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุดคือ การระมัดระวังตนเองและสัตว์เลี้ยงไม่ให้สัมผัสกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ไม่ทราบประวัติการทำวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า โดยเฉพาะสัตว์จรจัดและสัตว์ป่า ในกรณีที่มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อไวรัสจากการสัมผัสกับน้ำลายหรือสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ที่คาดว่ามีการติดเชื้อ ให้รีบทำความสะอาดบาดแผลอย่างเหมาะสม และรีบไปพบแพทย์
โรคพิษสุนัขบ้า สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน เจ้าของสัตว์เลี้ยงประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น สุนัข แมว และ กระต่าย ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสเรบีส์ให้กับสัตว์เลี้ยงอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอตามกำหนดรวมทั้งแนะนำให้มีการควบคุมประชากรสุนัขและแมวอย่างเข้มงวดเพื่อลดโอกาสการมีสุนัขหรือแมวจรจัด ซึ่งเป็นแหล่งรังโรค นอกจากนี้ ควรรณรงค์ไม่ให้นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงเนื่องจากอาจเป็นแหล่งของการนำเชื้อไวรัสเรบีส์มาสู่สัตว์เลี้ยงภายในบ้านได้
📌คู่มือเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้า ดาวน์โหลดได้ที่https://vrd-sn.dld.go.th/webnew/images/stories/service/PDF/report/CPG-A5-Update.pdf