05/07/2022
แม้ว่าในปัจจุบันการถ่ายเลือดในแมวถือว่าเป็นหัตถการที่ไม่ค่อยได้มีการทำในคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์มากนัก เนื่องจากข้อจำกัดในด้านการหาแมวผู้ให้เลือด (donor) ที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามการถ่ายเลือดนั้นมีคุณประโยชน์มหาศาลและสามารถช่วยชีวิตแมวได้อีกหลายตัว เพื่อให้การถ่ายเลือดเป็นไปอย่างปลอดภัย 4 เรื่องที่สัตวแพทย์ควรรู้เกี่ยวกับการถ่ายเลือดในแมว มีดังต่อไปนี้
1. การเลือกแมวที่เหมาะสมเป็นผู้ให้เลือด (donor)
2. ประเมินผู้รับเลือด (recipient) และการเช็คหมู่เลือด (blood typing)
3. ทดสอบ crossmatching test ระหว่างผู้ให้ (donor) กับผู้รับ (recipient) ก่อนถ่ายเลือด
4. การถ่ายเลือดและเช็คภาวะ transfusion reaction
การเลือกแมวที่เป็นผู้ให้เลือด (donor) ที่เหมาะสม
ระดับการให้เลือดที่ปลอดภัยสำหรับแมวที่เป็น donor คือประมาณ 20% ของเลือดทั้งหมดในร่างกาย ปริมาณที่แนะนำและปลอดภัยคือ 10-12 ml/kg ต่อตัว โดยปกติแมวแต่ละตัวจะให้อยู่ที่ 40-60 ml หากทีมสัตวแพทย์มีความเชี่ยวชาญในการเก็บเลือดสามารถที่จะทำปฏิบัติการได้โดยไม่จำเป็นต้องวางยาซึม แต่อย่างไรก็ตามการถูกเก็บเลือด โดยเฉพาะในแมว อาจทำให้สัตว์มีประสบการณ์ที่ไม่ดี ก่อความเครียด ไม่สบายตัว ส่งผลต่อการถ่ายเลือดในครั้งหน้าได้ ดังนั้นสัตวแพทย์จึงสามารถพิจารณาทำการวางยาซึมระยะสั้นเพื่อลดความเครียดของสัตว์และช่วยให้ง่ายต่อการถ่ายเลือดมากขึ้น
ยาซึมที่แนะนำคือ Ketamine แนะนำให้ใช้ร่วมกับ Diazepam หรือ Midazolam (ขนาดยาที่ใช้อ่านเพิ่มเติมได้ตามอ้างอิง 1) เนื่องจากหากเลือกใช้ Ketamine เพียงตัวเดียวอาจจะเกิดปัญหากล้ามเนื้อสั่น กระตุกหรือทำให้สัตว์มีพฤติกรรมผิดปกติไปได้ หรือเลือกใช้ Sevoflurane
กลุ่มยาที่ไม่แนะนำให้ใช้ ได้แก่ กลุ่ม Alpha-2-adrenergic receptor agonists เช่น Xylazine Medetomidine และ Dexmedetomidine เนื่องจากส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงมาก และ Propofol เนื่องจากอาจทำให้เกิด cardiorespiratory depression และเหนี่ยวนำให้เกิด Heinz bodies ได้ (ผลข้างเคียงของยาต่าง ๆ อ่านเพิ่มเติมได้ตามอ้างอิง 1)
ภายหลังจาก donor ถ่ายเลือดเสร็จ การให้สารน้ำ crystalloid solutions สามารถพิจารณาให้ได้ทันที ทั้งทางใต้ผิวหนังหรือเข้าเส้นเลือด
คุณสมบัติของแมวที่เหมาะสมกับการเป็นผู้ให้เลือด ประกอบไปด้วย
- สุขภาพแข็งแรง
- อายุ 1-8 ปี
- นิสัยดี อารมณ์มั่นคง ยอมให้ความร่วมมือ
- ปกติถูกเลี้ยงในระบบปิด
- น้ำหนัก (Lean body weight) > 4.5 กิโลกรัม
- มีประวัติการทำวัคซีนและถ่ายพยาธิอัปเดต
- ไม่อยู่ในช่วงกำลังตั้งท้อง
- ไม่มีประวัติรับเลือดมาก่อน
- ทำการตรวจเช็คค่าสำคัญต่าง ๆ (donor testing) ดังนี้
1. หมู่เลือด (ในแมวจะเป็นระบบ AB system)
2. Complete blood count (CBC)
3. Blood chemistry panel
4. Urinalysis
5. F***l analysis (ตรวจทุก 6 เดือน)
6. ตรวจ FeLV antigen และ FIV antibody testing เป็น negative
7. ปลอดจากเชื้อ Haemotropic mycoplasmas, Bartonella species (ผล PCR negative)
8. เชื้ออื่น ๆ ที่สามารถตรวจเช็คเพิ่มเติมได้ (กรณีแมวอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อ) เช่น Anaplasma species, Cytauxzoon felis, Babesia felis, Ehrlichia canis, Leishmania infantum และ Neorickettsia risticii
ประเมินผู้รับเลือด (recipient) และการเช็คหมู่เลือด (blood typing)
พิจารณาให้เลือดในสัตว์ป่วยโดยประเมินจากสัญญาณชีพ (โดยเฉพาะสัญญาณชีพที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจ การไหลเวียนโลหิต และระบบทางเดินหายใจ) รวมถึงผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ การถ่ายเลือดควรพิจารณาทำเมื่อเจอกรณีต่าง ๆ ดังนี้ สัตว์มีภาวะ anaemia, PCV < 14% จากการสูญเสียเลือดต่อเนื่องหรือ ineffective erythropoiesis สัตว์ต้องทำการผ่าตัด หรือพบว่าเกิดอาการ tachycardia, bradycardia, bounding peripheral pulse, collapse, lethargy, panting และ weakness
หมู่เลือดของแมวนั้น ถูกจัดให้อยู่ในระบบ AB ปัจจุบันถูกแยกออกเป็นหมู่ A หมู่ B และ หมู่ AB โดยพบว่าเลือด type A ถูกพบมากที่สุดในแมวทั่วโลก (ในบางสายพันธุ์เชื่อว่ามีหมู่เลือด type A 100% เช่น แมวพันธุ์วิเชียรมาศ)
แมวแตกต่างจากสุนัข คือร่างกายจะผลิต alloantibodies ต่อ foreign alloantigen ทุกชนิดที่ไม่ใช่ของตัวเองทันทีโดยธรรมชาติ เช่น ในประเทศอังกฤษ พบว่าจำนวนแมวหมู่เลือด type A มากกว่า 70% มี anti-B alloantibodies ดังนั้นแมวเลือด type A จึงสามารถให้เลือดได้กับแมวเลือด type A เท่านั้น แมวเลือด type B ก็เช่นกัน สำหรับแมวเลือด type AB สามารถรับเลือดจากแมว type A ได้หากไม่มีเลือด type AB ในคลังเลือด
ทดสอบ crossmatching test ระหว่างผู้ให้ (donor) กับผู้รับ (recipient) ก่อนถ่ายเลือด
การทดสอบ crossmatching test ระหว่างผู้ให้ (donor) กับผู้รับ (recipient) คือการทดสอบ agglutination test เพื่อเช็คความเข้ากันของเซรั่มระหว่าง donor และ recipient โดยต้องทำการทดสอบก่อนถ่ายเลือดทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อ
- สัตว์มีประวัติ transfusion reaction มาก่อน
- ไม่ทราบประวัติการได้รับถ่ายเลือดของ recipient
- ได้รับการถ่ายเลือดมาเมื่อ 2 วันก่อนหรือมากกว่านั้น
กรณีที่พบว่าในคลังเลือด ไม่มีผลิตภัณฑ์เลือดของแมวพร้อมใช้งาน สามารถพิจารณาให้เลือดแบบ xenotransfusion ได้ โดย xenotransfusion คือการถ่ายเลือดจากสัตว์สปีชีส์อื่นให้กับแมว มีรายงานความสำเร็จในการถ่ายเลือด whole blood หรือ pRBCs จากสุนัขไปยังแมว โดยเป็นการพิจารณาทำเมื่อจำเป็นจริง ๆ และถ่ายเลือดให้แมวเพียงครั้งเดียว (Oron L, Bruchim Y, Klainbart S, et al., 2017; Bovens C & Gruffydd-Jones T., 2013)
การให้เลือดแบบ xenotransfusion นั้น สามารถพิจารณาให้ได้เมื่อพบว่า ในการถ่ายเลือดครั้งก่อน สัตว์ได้รับผลิตภัณฑ์เลือดจากแมวแล้วพบการเกิด transfusion reaction เวลาในการตรวจหมู่เลือดสัตว์ recipient ไม่เพียงพอ ไม่สามารถหาผลิตภัณฑ์เลือดแมวที่ต้องการในปริมาณที่เหมาะสมได้หรือเจ้าของมีข้อจำกัดทางการเงิน
การทำ xenotransfusion จึงถือเป็นตัวเลือกที่ใช้เพื่อผยุงอาการแมวที่เป็น anaemia ให้คงที่ในระยะสั้นเท่านั้น (short-term stabilisation) เพื่อต่อเวลาให้สัตวแพทย์ได้ทำการสังเกต วินิจฉัยเพิ่มเติมหรือหาผลิตภัณฑ์เลือดแมวที่เข้าได้กับสัตว์ป่วย หากทำ xenotransfusion แล้ว ห้ามทำการถ่ายเลือดจากสุนัขให้แมวอีกเป็นรอบที่ 2 เนื่องจากจะก่อให้เกิดปฏิกิริยา severe transfusion reaction อาการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) และสัตว์อาจเสียชีวิตได้
การถ่ายเลือดและเช็คภาวะ transfusion reaction
การให้เลือดมีจุดประสงค์เพื่อให้ค่า PCV ของสัตว์ขึ้นมาอยู่ในภาวะปลอดภัย โดยมีสูตรคำนวณ ดังนี้
PCV % increase (ปริมาณ %PCV ที่ต้องการให้เพิ่มขึ้น) = volume of blood transfused (ml) / (2 x BW [kg])
* BW = น้ำหนัก
จากการศึกษาพบว่า ในทางคลินิกปฏิบัติ การถ่ายเลือดในแมว เช่น การให้ whole blood มักจะอยู่ที่ 40-60 ml ยกเว้นว่า recipient จะมีขนาดตัวที่เล็ก อาจพิจารณาให้เลือดเพียงครึ่งหนึ่งหรือ 10 ml/kg
การถ่ายเลือดสามารถเริ่มให้ได้ที่อัตรา 0.5 ml/kg/h ในช่วง 15 นาทีแรก สัตวแพทย์ควรตรวจเช็คการเกิด transfusion reaction ตลอดการถ่ายเลือด หาก 15 นาทีแรกผ่านไป ไม่พบ transfusion reaction สามารถเพิ่มอัตราเป็น 1 ml/kg/h ได้ในช่วง 15 นาทีต่อมา จากนั้นสามารถเพิ่มอัตราได้ตามดุลยพินิจของสัตวแพทย์ การถ่ายเลือดทั้งหมดต้องเสร็จภายใน 4 ชั่วโมง
กรณีเกิดภาวะ severe transfusion reaction ให้หยุดการถ่ายเลือดโดยทันที สัตวแพทย์รีบตรวจเช็คสัตว์ป่วย หากพบสัญญาณของการเกิดภาวะช็อก (hypotension, pallor, tachycardia หรือ bradycardia) ให้พิจารณาให้สารน้ำแบบ crystalloid bolus ที่ 10 ml/kg และ Adrenaline 10-20 ug/kg ของ 1:10,000 solution ทาง IM หรือ IV หรือพิจารณาให้ยาแก้แพ้ (antihistamines) เช่น Diphenhydramine 1 mg/kg IV หรือ IM และยากลุ่ม corticosteroids เช่น Hydrocortisone 2-4 mg/kg IV หรือ IM หรือ Dexamethasone 0.05-0.1 mg/kg
อย่างไรก็ตามปัจจุบันรายงานการใช้ corticosteroids เพื่อแก้ภาวะ acute transfusion reaction นั้นยังมีจำกัดและยังพบผลข้างเคียงจากการใช้ยาอยู่ สัตวแพทย์ควรทำการพิจารณาก่อนเลือกใช้ยา สำหรับเลือดของ donor ควรเก็บตัวอย่างมาเช็คค่า PCV เพื่อดูภาวะ haemolysis และนำตัวอย่างเลือดไปเพาะเชื้อ (bacterial culture) เพิ่มเติม
อ้างอิงข้อมูล
1. Taylor S., Spada E., Callan M.B., Korman R., Leister E., Steagall P., Lobetti R.,Seth M., Tasker S. (2021). 2021 ISFM Consensus Guidelines on the Collection and Administration of Blood and Blood products in Cats. Journal of Feline Medicine and Surgery (2021) 23, pp: 410-432.
2. Zaremba R., Brooks A., Thomovsky E. (2019). Transfusion Medicine: An Update on Antigens, Antibodies and Serologic Testing in Dogs and cats. Topics in Companion An Med (2019). pp: 36-46.
เรื่องและภาพ Infographic โดย สพ.ญ.ธิติอร อัศวรังษี
สำหรับคุณหมอสัตวแพทย์ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก
ตอนนี้ทาง VPN มีโปรโมชั่นน่าสนใจอยู่นะ
💙 อ่านออนไลน์ จ่ายถูกกว่า -
สำหรับสัตวแพทย์ท่านที่สมัครสมาชิกแบบอ่านออนไลน์ (ไม่รับหนังสือ) จ่ายเพียง 1,000 บาท/ปี เท่านั้น และยังสามารถทำ CE online ในเว็ปไซต์ได้ตามปกติ
💙 อ่านจากเล่ม เน้นสะสม -
สำหรับท่านที่สมัคร/ต่ออายุสมาชิกแบบรับหนังสือ (สามารถใช้งานเว็ปไซต์และทำ CE online ได้ด้วย)
📍 ได้ทำ CE online มากกว่า 40 คะแนน/ปี
📍 ดาวโหลด E-book ไปอ่านได้
📍 ใช้งานเว็ปไซต์ได้เต็มรูปแบบ
📍 E-learning online course
ดูรายละเอียดแพคเกจ
และสมัครออนไลน์ด้วยตัวเองได้ที่ https://www.readvpn.com/VPN/Subscription
หรือสอบถามเพิ่มเติม
add Line : https://lin.ee/v8Ldcyu