Pawfessionals อาบน้ำ ตัดขนสุนัข ตัดขนแมว อาหารบาร์ฟ ขายยาสัตว์

  • Home
  • Pawfessionals อาบน้ำ ตัดขนสุนัข ตัดขนแมว อาหารบาร์ฟ ขายยาสัตว์

Pawfessionals อาบน้ำ ตัดขนสุนัข ตัดขนแมว อาหารบาร์ฟ ขายยาสัตว์ PAWFESSIONALS provides trusted products & professional grooming service for cats and dogs. อาบ provides trusted products & professional grooming service.

With the best experience offering you and your pets because everything is ESPECIALLY FUR YOU

การดูแลแมวอายุมากจะต้องทำอย่างไรบ้าง?อันนี้คือ 6 ข้อ ที่ทางร้านจะแนะนำเจ้าของทุกท่าน สำหรับการดูแลน้องแมวที่มีอายุมากนะค...
21/01/2025

การดูแลแมวอายุมากจะต้องทำอย่างไรบ้าง?

อันนี้คือ 6 ข้อ ที่ทางร้านจะแนะนำเจ้าของทุกท่าน สำหรับการดูแลน้องแมวที่มีอายุมากนะครับ

1.การตรวจสุขภาพโดยทั่วไปจะต้องมีความถี่มากขึ้น ถ้าแมวอายุ 10-15 ปี อาจจะต้องมีการตรวจสุขภาพทุกๆ 6 เดือน ถ้าเป็นแมวที่อายุมากกว่า 15 ปี อาจจะต้องมีการตรวจสุขภาพทุกๆ 4 เดือน

แมวเป็นสัตว์ที่เก็บอาการเจ็บป่วยเก่ง เพราะฉะนั้นถึงภายนอกดูปรกติ แต่ภายในร่างกายอาจจะมีปัญหาบางอย่างซ่อนอยู่ได้ เช่น โรคหัวใจ ซึ่งพบเจอได้บ่อยและเป็นอันตรายสูง และจะต้องทำการตรวจด้วยวิธีเอคโคหัวใจ หรือที่เรียกว่า Echocardiogram ถึงจะให้ผลยืนยันได้แน่ชัด สำหรับโรคหัวใจในแมว คาดว่ามีแมวประมาณ 15ตัว จาก 100 ตัว ที่เป็นโรคนี้ ซึ่งถือว่าสูงมาก และทำให้แมวเสียชีวิตฉับพลันได้

นอกจากนี้อาจจะมีการตรวจเลือดเพื่อเช็คการทำงานของไตของน้องแมวเป็นระยะๆ เพราะโรคไตก็เป็นโรคที่พบได้ในน้องแมวมาก

2.แมวที่มีอายุมาก อาจจะเกิดความเครียดง่าย การพาไปพบสัตวแพทย์แต่ละครั้งควรที่การเตรียมคำถามและข้อมูลที่ดี เพื่อให้สามารถทำการตรวจและพูดคุยกับสัตวแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว ให้เขียนเป็นข้อๆเลยว่า มีประเด็นไหนบ้างที่เราอยากจะถามหมอ และข้อมูลที่จะช่วยได้มากคือการถ่ายบันทึกวิดิโอคลิป เพราะจะเป็นข้อมูลสำคัญทำให้สัตวแพทย์สามารถวินิจฉัยหรือให้คำปรึกษาได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

3.แมวแก่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจค่อนข้างชัดเจน อย่าพยายามไปคิดว่า แมวมันแก่แล้ว เลยมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป แต่ต้องคิดว่า มันอาจจะมีโรคบางอย่างเกิดขึ้นอยู่ และหากปล่อยไว้นานๆ อาจจะทำให้แมวมีความเจ็บป่วย ทรมาน และมีคุณภาพชีวิตไม่ดีได้ อย่าลืมว่าแมวเป็นสัตว์เก็บอาการเก่งมาก การที่แมวอยู่เฉยๆ ไม่ไปไหน ความจริงคือ แมวจะอาจจะกำลังเจ็บป่วยอยู่มาก ก็เป็นไปได้ จุดที่ควรสังเกตมีดังต่อไปนี้

3.1 แมวดื่มน้ำเยอะขึ้นหรือลดลงหรือไม่? ซึ่งข้อนี้อาจจะทำให้ทราบถึงแนวโน้มของการเป็นโรคไตหรือโรคเบาหวานได้

3.2 การตรวจปริมาณฉี่และตรวจลักษณะของอุจจาระในกระบะทราย รวมทั้งให้สังเกตพฤติกรรมตอนขับถ่ายด้วย มีถ่ายนอกกระบะทรายหรือไม่? มีอาการท้องผูกหรือไม่?

3.3 การกินลดลงหรือไม่? ความอยากอาหารลดลงหรือมั้ย? ผอมลงหรืออ้วนขึ้น? มีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อหรือไม่? หากแมวน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ให้ระวังโรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปหรือโรคเบาหวาน หรือโรคที่เกี่ยวกับลำไส้ได้

หากแมวค่อยๆทานน้อยลงเรื่อยๆ อาจจะมีโรคเรื้อรังบางอย่างที่อาการจะดำเนินไปแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือมีหินปูนและเหงือกอักเสบทำให้แมวเจ็บปากเวลาทานอาหาร และถ้าแมวแก่กินยากมากขึ้นหรือไม่ทานอาหารอย่างทันทีทันใด ถือว่าอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ ให้พาไปพบสัตวแพทย์โดยทันที

3.4 ลักษณะของขนและผิวหนังเปลี่ยนไปหรือไม่? แมวทำความสะอาดตนเอง ลดลงหรือมากขึ้น

3.5 แมวมีพฤติกรรมโดยรวมที่เปลี่ยนไปหรือไม่? เช่น ตื่นตระหนกกับสิ่งต่างๆง่ายขึ้น หรือเหนื่อยง่ายขึ้นหรือไม่? การเคลื่อนไหวลดลงมากน้อยแค่ไหน? หากแมวมีพฤติกรรมเคลื่อนไหวน้อยลง ไม่กระโดดหรือเดินมากกว่าแต่ก่อน และไม่ชอบให้สัมผัสขาหรือข้อต่อบางจุด ให้สงสัยว่ามีปัญหาโรคข้ออักเสบ ซึ่งสังเกตได้ยาก เพราะแมวมักเป็นสัตว์ที่เก็บอาการเก่ง ให้สังเกตการณ์ได้ยินเสียงและการมองเห็นด้วย เพราะแมวแก่ ประสิทธิภาพการมองเห็นและการได้ยินอาจจะลดลงได้

3.6 การหายใจของแมวขณะที่นอนพัก เป็นอย่างไร หากระหว่างที่แมวนอนพัก หากแมวหายใจเร็วเกินกว่า 30 ครั้งต่อนาที ถือว่าอาจจะไม่ปรกติ แนะนำให้รีบตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะโรคหัวใจและโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ

3.7 ตามตัวมีแผลที่หายช้าหรือไม่หายหรือไม่ มีก้อนหรือตุ่มนูนตามตัวหรือไม่? มีการบวมตามจุดต่างๆหรือไม่? ให้ระวังก้อนหรือตุ่มใดๆ ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะลักษณะแบบนี้อาจจะเป็นเนื้อร้ายได้

ซึ่งการสังเกตทั้ง 7 ข้อนี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญที่เราต้องสังเกตดูอยู่ตลอดเวลา แล้วนำไปปรึกษากับสัตวแพทย์ผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ

4.ควรจะสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความเครียดต่ำสำหรับแมวแก่ เช่น มีชามน้ำ ชามอาหารอยู่หลายๆจุด และต้องมีน้ำดื่มสะอาดที่เปลี่ยนใหม่อยู่ตลอดและมีเพียงพอ เพราะแมวแก่หากได้รับน้ำไม่พอ จะเสี่ยงต่อโรคไตและท้องผูกได้ง่าย และอาจจะพิจารณาให้อาหารเปียก เพื่อให้น้องแมวได้รับน้ำที่มากขึ้น และอาจจะเตรียมชามน้ำ ชามอาหารที่ไม่ได้อยู่ต่ำมากนัก เพื่อที่แมวจะได้ไม่ต้องก้มมากเวลาดื่มน้ำและทานอาหาร เพราะแมวบางตัวอาจจะปัญหาไขข้อได้เวลาก้มต่ำ

แมวส่วนใหญ่จะไม่ชอบให้หนวดถูกขอบชามเวลาดื่มน้ำหรือกินอาหาร เพราะฉะนั้นควรเลือกชามที่มีขนาดกว้างซักเล็กน้อย

หากมีแมวหลายๆตัวอยู่ในบ้าน การแยกชามน้ำ ชามอาหาร และกระบายทรายขับถ่าย กระจายไว้หลายๆจุด อาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะหากใช้ของร่วมกันทุกอย่าง และมีอยู่จุดเดียว แมวอาจจะเครียดได้ โดยทั่วไป จำนวนกระบายทรายในบ้าน ควรจะมีเท่ากับ จำนวนแมวในบ้าน บวกหนึ่ง เป็นต้นว่า มีแมวในบ้าน 3 ตัว ก็ควรมี กระบะทราย สี่ชุด วางแยกกัน เป็นต้น

นอกจากนี้แมวแก่อาจจะชอบที่นอนนุ่มๆและอบอุ่นมากกว่าเดิม เพราะฉะนั้นควรที่จะต้องมีการจัดเตรียมในเรื่องนี้เอาไว้ด้วย

5.ควรจะมีการช่วยแมวหวีและแปรงขนตลอด เพราะแมวแก่อาจจะไม่ค่อยได้ทำความสะอาดตนเองมากเหมือนสมัยยังหนุ่มยังสาว เจ้าของตรวจที่จะตรวจตราเรื่องของก้อนขนหรือสังกะตังตลอดเวลา และควรที่จะมีการตัดเล็บอยู่เป็นประจำ เพื่อไม่ให้เล็บยาวมากจนเกินไปจนม้วนกลับไปไปแทงอุ้งมือของแมวได้ เพราะแมวแก่นั้นอาจจะไม่ได้มีแรงไปลับเล็บเหมือนแต่ก่อน

6.ที่สำคัญที่สุดคือ การให้เวลาและให้ความรักกับน้องแมวแก่ เราไม่ควรปล่อยน้องแมวแก่ให้อยู่เพียงลำพังนานเกินกว่า 12 ชั่วโมง เพราะน้องแมวอาจจะเครียด และชามน้ำ ชามอาหาร ตลอดจนกระบะทรายก็จะอาจจะไม่สะอาด

และที่สำคัญหากต้องมีการให้ยาด้วย ก็ไม่ควรจะให้น้องแมวแก่ขาดยา เพราะการขาดยาอาจจะทำให้การรักษามีปัญหาได้ เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าเจ้าของจะต้องออกไปไหนนานๆ แนะนำให้หาคนมาดูแล หรือนำน้องแมวไปฝากสถานที่ที่ไว้ใจได้จะดีที่สุด

นอกจากนี้ถึงน้องแมวจะอายุมาก แต่ก็อาจจะมีความอยากที่จะเล่นของเล่น หรือ เล่นกับเรา และยังคงสนใจอะไรหลายๆอย่างรอบตัว ซึ่งเจ้าของแมวควรที่จะเล่นกับน้องและสานสัมพันธ์กับน้องอยู่ตลอด ทำให้สภาพจิตใจของน้องดีขึ้น ได้มีการสานสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตด้วยกันอย่างมีคุณค่ามากที่สุด

ทั้งหมดนี้คือ 6 ข้อแนะนำที่อยากจะฝากเจ้าของแมวทุกๆท่านนะครับ จริงๆบางหัวข้อสามารถแตกรายละเอียดออกไปมากกว่านี้ได้อีก แต่เนื้อหามันจะยาวเกินไป ทางร้านก็จะค่อยๆลงเนื้อหาความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับสุนัขและแมวเรื่อยๆนะครับ

น้องในภาพคือ น้องปอเปี๊ยะ น้องก็มีอายุมากแล้วนะครับ มาอาบน้ำตัดขนกับทางร้านประจำครับ

ทุกท่านที่สนใจเนื้อหาที่เกี่ยวกับสุนัขและแมว ก็สามารถกดติดตาม กดไลค์ กดแชร์ โพสต์ของทางร้านได้นะครับ

ตัวร้านเองเป็นร้านอาบน้ำตัดขนสุนัขและแมว ขายอาหารบาร์ฟ และเป็นร้านขายยาสัตว์ เช่น ยากันเห็บหมัด เป็นต้น ตัวร้านอยู่ที่ซอยมโนรม ถนนพระราม 4 ติดกับเทสโก้ โลตัสพระราม 4 ครับ

(คำเตือนจากทางร้าน ในขณะนี้มีแมวจำนวนมากเป็นโรคหัวใจแบบไม่แสดงอาการ (อยู่ที่ประมาณ 15% ของประชากรแมว) ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรง และแมวสามารถเป็นได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ทางร้านแนะนำให้เจ้าของแมวทุกท่าน พาน้องแมวไปตรวจโรคหัวใจด้วยวิธีคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) ก่อนเข้ารับบริการและควรตรวจหัวใจอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อความปลอดภัย)

#อาหารบาร์ฟ #ยาสัตว์ #ยากันเห็บหมัด #แมว #แมวแก่ #แมวอายุมาก #อาบน้ำตัดขน #อาบน้ำแมว #ตัดขนแมว #อาบน้ำตัดขนแมว #เลี้ยงแมว #พระราม4 #พระราม3 #สุขุมวิท #คลองเตย #พระขโนง

ปัญหาของสุนัขพันธุ์หน้าสั้นที่พบได้บ่อยมากๆ คือ กลุ่มอาการหายใจลำบากในสุนัขพันธุ์หน้าสั้น ชื่อ ภาษาอังกฤษยาวๆคือ Brachyc...
20/01/2025

ปัญหาของสุนัขพันธุ์หน้าสั้นที่พบได้บ่อยมากๆ คือ กลุ่มอาการหายใจลำบากในสุนัขพันธุ์หน้าสั้น ชื่อ ภาษาอังกฤษยาวๆคือ Brachycephalic obstructive airway syndrome(BOAS) หรือแปลเป็นภาษาไทย เข้าใจง่ายๆว่า กลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจอุดตันในสุนัขพันธุ์หน้าสั้น ซึ่งสามารถพบได้ในสุนัขหน้าสั้นหลายพันธุ์ เช่น เฟรนบูลด๊อก อิงลิช บูลด๊อก ปั๊ก ปักกิ่ง ชิสุห์ ปักกิ่ง เป็นต้น อาการภายนอกที่สังเกตเห็นได้ชัด จะเป็นการหายใจเสียงดัง หายใจเหมือนเสียงกรน เหนื่อยง่าย เวลาหายใจก็จะใช้แรงเยอะหรือหายใจกระแทก อ้าปากหายใจเกือบจะตลอดเวลา สำลักน้ำและอาหารได้ง่าย บางตัวเป็นมากๆ ขาดออกซิเจน ทำให้ลิ้นม่วงหรือเป็นลม และอาจจะเสียชีวิตเฉียบพลันได้

อาการอีกอย่างที่สามารถพบเจอได้คือ การอาเจียน หรือ สำรอกอาหารบ่อย อันเนื่องจากโครงสร้างที่แคบและตีบตัน ทำให้สุนัขต้องออกแรงหายใจมาก ทำให้เกิดแรงดันภายในร่างกายสูง ซึ่งทำให้แน่นท้อง และเกิดการอาเจียนออกมาได้ ซึ่งในกรณีนี้สุนัขบางตัวอาจจะมีภาวะของไส้เลื่อนกระบังลม(Hiatal hernia)เกิดขึ้นได้ คือภาวะที่อวัยวะบางส่วนในช่องท้องเคลื่อนผ่านกระบังลมไปยังช่องอก ที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีแรงดันภายในช่องท้องที่มากจากความพยายามหายใจหนักๆนั้นเอง

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะการที่มีโครงหน้าที่สั้นจะทำให้โครงสร้างต่างๆในระบบทางเดินหายใจถูกจำกัดพื้นที่ ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบ หายใจเข้าออกได้ไม่สะดวก โดยโครงสร้างที่มักจะเป็นปัญหา เช่น รูจมูกที่ตีบแคบ โพรงจมูกแคบ เพดานอ่อนยื่นยาวไปด้านหลังทำให้คอหอยตีบตัน ลิ้นและโคนลิ้นที่มีขนาดใหญ่บีบพื้นที่บริเวณคอหอย โครงสร้างของกล่องเสียงและหลอดลมผิดปรกติ

การรักษาส่วนใหญ่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงบางส่วน เช่น อาจจะมีการผ่าตัดเพื่อขยายช่องจมูก ตัดเพดานช่องปากให้สั้นลงจะได้ลดการอุดตันทางเดินหายใจ หรือการผ่าตัดแก้โครงสร้างที่กล่องเสียง ทั้งนี้โครงสร้างส่วนอื่นๆ ก็อาจจะยังมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่ ดังนั้น การรักษาจึงไม่สำคัญเท่ากับการจัดการและการทำความเข้าใจโรคนี้ของเจ้าของ ซึ่งโดยทั่วไปเจ้าของสุนัขพันธุ์หน้าสั้น อาจจะไม่ได้ตระหนักว่ามันเป็นปัญหาด้วยความเคยชินเห็นสุนัขตั้งแต่เล็กจนโตนั้นเอง
คำแนะนำในการจัดการเพื่อไม่ให้อาการแย่ลงหรือเป็นหนักขึ้น

1. อย่าให้สุนัขอยู่ที่ร้อน เพราะตามปรกติสุนัขต้องหอบเพื่อระบายความร้อน สุนัขหน้าสั้นที่หายใจลำบาก จะระบายความร้อนออกจากตัวไม่ทัน ทำให้เสี่ยงต่อชีวิตได้ และควรมีน้ำดื่มสะอาดให้สุนัขตลอดเวลา เพื่อให้สุนัขดื่มลดความร้อน

2. อย่าให้สุนัขอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินขนาด เพราะเมื่อสุนัขอ้วน จะหายใจลำบากมากยิ่งขึ้น ระบายความร้อนออกจากตัวยากมากขึ้น และเหนื่อยง่ายกว่าเดิม

3. การออกกำลังกายทำได้ แต่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และไม่ควรออกกำลังกายหนักๆ เป็นอันขาด เพราะจะทำให้สุนัขหายใจไม่ทัน ขาดออกซิเจน และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะสุนัขหน้าสั้นบางตัวที่คึกๆ จะเสี่ยงมากเป็นพิเศษ

4.ระวังกิจกรรมหรือการกระทำใดๆ ที่ก่อความเครียดสูงให้กับสุนัข เพราะสุนัขจะหอบหายใจเร็วขึ้น แล้วทำให้ปัญหาอุดตันทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้นได้

5. เวลาจูงเดิน ไม่แนะนำให้จูงสายที่ผูกจากปลอกคอ เพราะจะเป็นการบีบรัดทางเดินหายใจให้แคบลง แต่แนะนำให้จูงจากสายรัดอก จะดีกว่า

6. และหากสุนัขมีกลุ่มอาการหายใจลำบาก ที่มากขึ้น เช่น หายเสียงดังมากขึ้น นอนกรนมากขึ้นหรือรู้สึกว่าสุนัขหลับไม่สนิท มีอาการสำรอกอาหาร หรืออาเจียนบ่อย หมดแรงง่าย ไม่ควรปล่อยไว้ ควรรีบพาไปตรวจ และปรึกษากับสัตวแพทย์ เพื่อควบคุมปัญหาให้ได้ ก่อนที่อาการจะรุนแรงมากขึ้นจนแก้ไขไม่ได้

7. หากมีอาการรุนแรงเฉียบพลัน เช่น ลิ้นม่วง หรือสุนัขช็อกเป็นลม ถือว่าอันตรายมากและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ให้ไปพบสัตวแพทย์ฉุกเฉินทันที ทางสัตวแพทย์มักจะมีการให้ออกซิเจน และยาลดการอักเสบ ซึ่งการอักเสบที่เกิดขึ้น เกิดจากเนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจมีการระคายเคืองที่สูงตลอดเวลา จากความพยายามหายใจที่รุนแรง ในสุนัขบางรายที่ยังพอมีสติ อาจจะต้องมีการให้ยาซึมเพื่อลดอาการตื่นเต้น เพราะอาการตื่นเต้นตกใจนั้นจะทำให้สุนัขหอบมากขึ้นและส่งผลให้อาการแย่ลง หากมีความจำเป็นในการรักษาชีวิต สัตวแพทย์อาจจะต้องมีการเจาะหลอดลมชั่วคราว เพื่อให้สุนัขหายใจต่อไปได้

ก็ถ้าใครเลี้ยงสุนัขพันธุ์หน้าสั้นอยู่ หรือรู้จักคนที่เลี้ยงอยู่ ก็ช่วยเล่า ช่วยแชร์เรื่องราวเหล่านี้ เพื่อที่ข้อมูลดี อาจจะทำให้น้องๆสุนัขมีคุณภาพการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นได้ครับ

น้องในรูป ชื่อน้องอะตอม เป็นสุนัขปั๊กครับ และน้องอาโป น้องเป็นเฟรนบูลด๊อกครับ น้องสองคนนี้มาอาบน้ำที่ร้านเป็นประจำครับ

#อาบน้ำตัดขนสุนัข #ตัดขนสุนัข #ตัดขนปอม #อาบน้ำสุนัข #โรคผิวหนัง #ร้านอาบน้ำตัดขน #พระราม3 #พระราม4 #สุขุมวิท #คลองเตย #พระขโนง #ปั๊ก #เฟรนบลูด๊อก #โรคหน้าสั้น #สุนัขหน้าสั้น

โรคหนังดำ(Black Skin) หรือ Alopecia Xโดยทั่วไปๆ ช่างตัดขนสุนัข จะเรียกชื่อโรคนี้กันติดปากในสุนัขปอมว่า โรคขนช็อต/ชอร์ท (...
17/01/2025

โรคหนังดำ(Black Skin) หรือ Alopecia X

โดยทั่วไปๆ ช่างตัดขนสุนัข จะเรียกชื่อโรคนี้กันติดปากในสุนัขปอมว่า โรคขนช็อต/ชอร์ท (จริงๆน่าจะหมายถึง ชอร์ท ที่แปลว่า สั้น และเป็นคำเรียกเวลาไฟฟ้าลัดวงจร (Short Circuit)) หรือ โรคแบล็คสกิน ที่แปลว่าหนังดำ แต่ถ้าเป็นสัตวแพทย์ จะเรียกโรคนี้เป็นชื่อทางการว่า Alopecia X หรือ โรคขนร่วง เอ็กซ์ ที่เรียกว่า เอ็กซ์(X) มันคือ ตัวแทนในสมการคณิตศาสตร์ XYZ คำว่า X ใน ที่นี้ หมายถึง ไม่แน่ใจว่ามันมีสาเหตุจากอะไรที่แน่ชัดกันแน่ เลยให้ชื่อว่า โรคขนร่วง X

โดยทั่วๆไป ร้านตัดขนหลายๆร้าน รวมทั้งช่างของทางร้านเราเอง มักจะไม่แนะนำในลูกค้าไถขนสุนัขปอมให้สั้น หรือตัดขนให้สั้นจนเกินไป ถ้าไม่จำเป็น เพราะหากสุนัขมีอาการของโรคนี้อยู่ จะทำให้ขนไม่งอกขึ้นมาใหม่ กลายเป็นสุนัขที่มีขนขึ้นเป็นหย่อมๆหรือไม่มีขนแทน ซึ่งรักษาได้ยาก และเพื่อตัดปัญหาความเสี่ยงนี้ โดยมากทางร้านตัดขนจะแนะนำให้ตัดแบบกรรไกรในสุนัขปอม โดยตัดไม่ให้สั้นมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม ในสุนัขบางตัว ถึงไม่เคยตัดขนเลย ก็สามารถที่จะเป็นโรคนี้ได้ แต่จากประสบการณ์ของทางร้านเราเองพบว่า สุนัขปอมหน้าสั้นที่ขนชั้นในหนาๆ จะมีโอกาสเป็นโรคขนร่วง เอ็กซ์ (Alopecia X) มากกว่าสุนัขปอมที่มีหน้ายาวและมีขนชั้นนอกเด่น

ถ้าเป็นร้านตัดขนทั่วๆไป ก็จะเจอในสุนัขพันธุ์ปอมมากที่สุด เพราะจำนวนปอมที่มาใช้บริการอาบน้ำตัดขนนั้นมีมาก แต่อาการ Alopecia X หรือ โรคขนร่วง เอ็กซ์ ก็สามารถพบเจอได้ในสุนัขพันธุ์อื่นๆด้วย เช่น เชาเชา อลาสกัน มาลามิวท์ ไซบีเรียน ฮัสกี้ ซามอยด์ แม้แต่พูเดิ้ลบางตัวก็พบโรคนี้ได้

สาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานได้หลายประการ เช่นมีการทำงานที่ผิดปรกติของต่อมหมวกไต ซึ่งอาจจะมีความเกี่ยวเนื่องกับ ต่อมใต้สมองพิทูอิตารี บ้างก็ว่าเกี่ยวข้องกับ โกรทฮอร์โมน ไม่เพียงพอ บ้างก็ว่าฮอร์โมนเพศจากต่อมหมวกไตไม่สมดุล หรืออาจจะเกี่ยวข้องกับการทำงานของรูขุมขนขนที่ผิดปรกติไป อาการของโรคนี้จะพบได้บ่อยในสุนัขที่มีอายุ 2-5 ปี

อาการโดยทั่วไปคือจะค่อยๆขนร่วงหรือขนไม่ขึ้น ในบริเวณคอ หาง ส่วนท้ายลำตัว และอาจจะกระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งโดยมากขนบริเวณหัวและขาหน้ามักจะไม่ได้รับผลกระทบ และผิวหนังจะมีสีเข้มขึ้น เลยเป็นที่มาของชื่อโรคหนังดำหรือแบล็กสกิน นอกจากนี้หนังอาจจะบาง และหย่อน นอกจากนี้อาจจะมีสะเก็ดหรือการติดเชื้อที่ผิวหนังร่วมด้วยได้
อย่างไรก็ตาม โรคนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคทางฮอร์โมนอื่นๆ ดังนั้น ไม่ควรที่จะฟันธงว่าสุนัขที่มีอาการดังกล่าวจะเป็นโรคนี้ทุกตัว การวินิจฉัยเพื่อให้ทราบแน่ชัด ควรทำโดยสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ

จริงๆแล้วโรคนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสุนัขแต่อย่างใด ยกเว้นมีผิวหนังติดเชื้อ ที่อาจจะต้องมีการใช้แชมพูยา แต่ถ้าอยากจะลองรักษาให้ขนงอกกลับขึ้นมาใหม่ดู ถ้าเป็นสุนัขที่ยังไม่ทำหมัน แนะนำให้ลองทำหมันดู เพราะมีโอกาสที่ขนจะกลับมางอกใหม่ได้ถาวร หรือบางครั้ง อาจจะขนกลับมางอกใหม่ชั่วคราว

บางครั้งการรักษาด้วยการให้ ฮอร์โมนเมลาโทนิน ก็อาจจะได้ผล 30-60% บางตัวหลังได้รับยาเมลาโทนิน ก็อาจจะขนขึ้นมาฟูใหม่ แล้วกลับไปขนร่วงเหมือนเดิมได้ บางตัวก็หายได้ถาวร คาดการณ์ได้ยาก ฮอร์โมนเมลาโทนิน เป็นฮอร์โมนที่หลังออกมาในช่วงพระอาทิตย์ตกดิน และหลั่งมากสุดในระยะเวลากลางคืน การให้ฮอร์โมนเมลาโทนินเพิ่มเข้าไปในร่างกาย อาจจะเป็นการส่งสัญญานหลอกให้ร่างกายรับรู้สเมือนว่า มีช่วงกลางคืนยาวนานขึ้น ซึ่งจะตรงกับฤดูหนาว ทำให้ขนของสุนัขงอกออกมาใหม่ได้ เพราะเป็นการตอบสนองของร่างกายสุนัขเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่จะต้องมีขนปกคลุมเพื่อให้ความอบอุ่นร่างกาย เมลาโทนินมีผลรบกวนการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน เพราะฉะนั้นควรระมัดระวังในการใช้กับสุนัขที่เป็นโรคเบาหวาน และไม่ควรให้ยาเมลาโทนินเองกับสุนัข เพราะเมลาโทนินบางแบรนด์จะใส่ไซลิทอลเอาไว้ ซึ่งเป็นพิษอันตรายกับสุนัขมาก เพราะฉะนั้น การให้เมลาโทนิน ควรอยู่ในการควบคุมดูแลของสัตวแพทย์เท่านั้น

บางคนอาจจะพิจารณาใช้ยารักษาโรคต่อมหมวกไต แต่ผลข้างเคียงจากการใช้ยาโรคต่อมหมวกไต ถือว่าอาจจะมีอันตรายที่สูงและไม่คุ้มค่าในการรักษาโรค Alopecia X

ใครเคยมีประสบการณ์น้องสุนัขของตนเองเป็นโรคนี้ก็สามารถแชร์กันได้ ใครที่รักษาแล้วหาย ขนฟูฟ่องกลับมาเหมือนเดิม ก็มาคอมเม้นต์กันได้นะครับ แชร์รูปน้อง ก่อน/หลังการรักษา เอาไว้เป็นวิทยาทานก็ได้ครับ

#ขนช๊อต #ขนร่วง #สุนัขปอม #สุนัขปอมเมอราเนี่ยน #อาบน้ำตัดขนสุนัข #ตัดขนสุนัข #ตัดขนปอม #อาบน้ำสุนัข #โรคผิวหนัง #ร้านอาบน้ำตัดขน #พระราม3 #พระราม4 #สุขุมวิท #คลองเตย #พระขโนง

16/01/2025

โรคหางมันในแมว หรือ ที่เรียกว่า Stud Tail ที่อาจจะบ่งบอกว่าแมวมีปัญหาสุขภาพที่ใหญ่กว่าซ่อนอยู่ได้

โรงหางมันในแมว เป็นโรคที่พบเจอได้บ่อยในแมว โดยเฉพาะในแมวเพศผู้ที่ยังไม่ได้ทำหมัน หางมันนี้เกิดจากต่อมไขมันที่บริเวณโคนหางของแมวนั้น มีการขยายใหญ่ทำงานมากจนเกินไป ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีขนร่วงในบริเวณนั้น และมีคราบมันสกปรกสะสมอยู่ที่บริเวณโคนหางของแมว หากการสะสมของคราบไขมันมีมาก อาจจะนำพาไปสู่การอักเสบของผิวหนังและการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ ทำให้เห็นเป็นสะเก็ดหรือคล้ายหัวสิวดำๆ หรือผิวหนังแดงติดเชื้อ หากเป็นมากๆ แมวจะรำคาญและหันไปกัดหาง ซึ่งจะทำให้การติดเชื้อและอักเสบเพิ่มขึ้นไปอีก

การที่ต่อมไขมันที่หางมีการขยายใหญ่และทำงานมากเกินไป ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศผู้ของแมว อย่างไรก็ตามแมวที่ทำหมันแล้ว หรือแมวตัวเมีย ก็สามารถมีอาการหางมันได้ และมักมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้คราบมันที่หางมีมากกว่าปรกติ ซึ่งได้แก่ การเลี้ยงแมวในที่ปิดมากเกินไป เช่น ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในกรง หรือมีการเลี้ยงแมวอย่างแออัด ทำให้แมวเครียด ไม่ค่อยดูแลตนเอง หรือ แมวตัวนั้นอาจจะไม่ค่อยมีนิสัยทำความสะอาดตนเอง เลยทำให้เกิดคราบมันสะสม

ซึ่ง ณ จุดนี้ ที่กล่าวว่า แมวไม่ค่อยมีนิสัยทำความสะอาดตนเองนั้น อาจจะมีปัญหาทางสุขภาพบางอย่างแอบแฝงอยู่ แมวเลยเกิดความเครียด เลยไม่ค่อยเอาใจใส่ดูแลตนเอง เช่น แมวอาจจะเป็นโรคอ้วน หรือเป็นโรคไขข้อที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดเรื้อรังที่สังเกตเห็นได้ยาก หรือมีโรคอื่นๆที่แอบแฝงอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นแมวที่มีหางมัน นอกจากจะคิดถึงเรื่องของฮอร์โมนเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องคิดถึงเรื่องของสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงและโรคแอบแฝงอื่นๆอีกด้วย
หากเป็นแมวตัวผู้ที่ยังไม่ทำหมัน และมีอาการหางมันหางอักเสบมาก สัตวแพทย์อาจจะมีการตรวจอัณฑะแมวเพื่อหาความผิดปรกติอย่างอื่น เช่น มะเร็งอัณฑะในแมว และหากอาการคราบมันกระจายไปทั้งตัว สัตวแพทย์อาจจะมีต้องการตรวจโรคทางผิวหนังอื่นๆเพิ่มเติม

สำหรับการดูแลจัดการ สำหรับแมวตัวผู้ที่ยังไม่ทำหมัน การทำหมันอาจจะช่วยทำให้โรคไม่พัฒนาเพิ่มเติมได้ แต่ไม่ใช่แมวตัวผู้ทุกตัวที่จะตอบสนองต่อการทำหมัน และแมวหลายๆตัวที่เป็นโรคหางมัน ก้ไม่ใช่แมวตัวผู้ที่ยังไม่ทำหมัน สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือการอาบฟอกแชมพูยาขจัดคราบมันและการติดเชื้อ หรือใช้ครีมขจัดคราบมันที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับสัตว์เลี้ยงเข้าช่วย ซึ่งอาจจะต้องมีการดูแลอาบน้ำฟอกยาในลักษณะแบบนี้เป็นประจำ และการแปรงขนก็จะต้องมีการทำอยู่ด้วยตลอดเวลา หากมีการติดเชื้อมากๆ อาจจะต้องมีการให้ยาฆ่าเชื้อเพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังจำเป็นที่จะต้องหาปัจจัยอื่นๆอีก ที่ทำให้แมวนั้นไม่ค่อยทำความสะอาดตนเอง เช่น สภาพแวดล้อมในการเลี้ยงที่ไม่ดีทำให้แมวเครียด หรือมีปัญหาทางสุขภาพอื่นๆที่แอบแฝงอยู่ ซึ่งจะต้องมีการตรวจรักษาเพิ่มเติมต่อไป

ปรกติทางร้าน ถ้าเจอแมวหางมัน ก็จะแนะนำลูกค้าให้ใช้ครีมขจัดคราบมันพิเศษ ในการเอาคราบมันออก หรืออาจจะมีการไถขนออกและอาบแชมพูยา หากผิวหนังมีลักษณะอักเสบและติดเชื้อมาก และแนะนำให้ลูกค้าแปรงขน หรือ พาน้องแมวมาอาบน้ำฟอกครีมขจัดคราบมันเป็นประจำ

#คราบมัน #แมวหางมัน #หางมัน #โคนหางมัน #อาบน้ำตัดขนแมว #ตัดขนแมว #อาบน้ำแมว #พระราม3 #พระราม4 #สุขุมวิท #คลองเตย #พระขโนง

รู้หรือไม่? หนวดแมวไม่ได้พบเฉพาะแค่ที่ใบหน้าของแมว และหนวดแมวสามารถบอกอารมณ์ของแมวได้หลักๆคือ หนวดแมวเป็นโครงสร้างพิเศษส...
15/01/2025

รู้หรือไม่? หนวดแมวไม่ได้พบเฉพาะแค่ที่ใบหน้าของแมว และหนวดแมวสามารถบอกอารมณ์ของแมวได้

หลักๆคือ หนวดแมวเป็นโครงสร้างพิเศษส่วนหนึ่งของแมวที่เอาไว้รับรู้ความรู้สึก โดยเฉพาะการสั่นสะเทือน ชื่อทางการของหนวดแมวคือ “Vibrissae” มาจากภาษาลาติน “Vibrio” ที่แปลว่าแรงสั่นสะเทือน หนวดแมวภาษาอังกฤษ เรียกทั่วไปว่า แคท วิสเกอร์ส “Cat Whiskers”

ซึ่งหนวดของแมวนั้นจะฝังลึกในผิวหนังมากกว่าขนแมวปรกติ ตรงขุมขนของหนวดแมวจะติดอยู่กับเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้แมวขยับหนวดได้ หนวดแมวจะมีอยู่ประมาณ 24 เส้นบนหน้าของแมว แต่หนวดแมวสามารถพบได้ที่อื่นๆอีก เช่น เหนือคิ้ว บริเวณกราม และด้านหลังของขาหน้า ซึ่งจุดนี้หลายๆคนอาจจะไม่ได้สังเกตเห็น แต่เนื่องจากภาษาไทยเราใช้คำว่า “หนวดแมว” จึงทำให้มีความเข้าใจว่าหนวดแมว ก็คือหนวดที่อยู่ตรงหน้าแมวเท่านั้น ทั้งๆที่ความจริงหนวดของแมวคือโครงสร้างพิเศษอย่างหนึ่ง

ไม่ใช่แมวทุกตัวที่จะมีหนวดแมว แมวบางพันธุ์ เช่น แมวสฟิงซ์ ที่มีแต่ขนอ่อนๆ ก็อาจจะไม่มีหนวดแมว หรือมีหนวดเพียงสั้นๆ

เนื่องจากหนวดแมวเป็นส่วนของแมวที่ไว้รับรู้แรงสั่นสะเทือน แมวจึงใช้หนวดเพื่อกะระยะต่างๆได้ เช่น แมวจะยื่นหัวเข้าไปก่อน เพื่อกะระยะว่าจะเอาตัวเองผ่านช่องแคบเข้าไปได้มั้ย? เพราะว่าในระยะตรงหน้าที่ใกล้กว่า 30 เซนติเมตร แมวจะไม่สามารถโฟกัสสายตาได้ แมวจึงต้องใช้หนวดแมวในการช่วยกะระยะ และหนวดแมวสามารถรับแรงสั่นสะเทือนทางอากาศได้ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้แมวมีความมั่นใจในการเคลื่อนไหวในเวลากลางคืนที่แสงน้อย

เวลาแมวดื่มน้ำ แมวจะไม่ชอบให้หนวดถูกกับขอบชามน้ำ เพราะฉะนั้น เจ้าของแมวอาจจะเลือกชามน้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อไม่ให้ขอบชามถูกหนวดแมว

หนวดแมวนั้นไม่ควรตัด เพราะเป็นส่วนรับรู้สิ่งแวดล้อมภายนอกของแมว ถ้าตัดออก แมวอาจจะกะระยะลำบาก ทำให้สูญเสียความมั่นใจในการเคลื่อนไหว แต่การตัดหนวดแมวจะไม่ทำให้แมวเจ็บแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ถ้าดึงหนวดแมว อันนี้จะทำให้แมวเจ็บ เพราะส่วนขุมขนของหนวดแมวจะมีเส้นประสาท หนวดแมวนั้นสามารถที่จะหลุดร่วงและงอกขึ้นมาใหม่ได้ หนวดแมวสามารถที่จะหักได้ หากมีการมุด การชน หรือเล่นกันแรงจนเกินไป แต่ก็จะงอกขึ้นมาใหม่ตามปรกติได้

หนวดแมวสามารถที่จะบ่งบอกอารมณ์ของแมวได้ เช่น ถ้าหนวดแมวไม่ตึง ดูผ่อนคลาย อยู่ในตำแหน่งด้านข้างที่ดูปรกติ ก็แสดงว่าแมวมีความผ่อนคลายในระดับนึ่ง แต่ถ้าหนวดแมวชี้ค่อนไปข้างหน้า แมวอาจจะมีอาการตื่นเต้น ตื่นตัว หรืออยากรู้อยากเห็นอะไรบางอย่าง แต่ถ้าอยู่ตำแหน่งที่ค่อนไปทางข้างหน้านานๆ อาจจะหมายถึงแมวมีความเจ็บปวดบางอย่างเกิดขึ้นอยู่ได้ และด้านแมวหนวดหุบไปทางด้านหลัง อาจจะแสดงถึงความกังวลใจ หรือความตื่นกลัวได้ ทั้งนี้ต้องดูอารมณ์อย่างอื่นของแมวประกอบด้วย

ที่สำคัญ บางคนจะเก็บหนวดน้องแมวไว้กับตัว เช่นพกใส่กระเป๋าเงิน เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีโชคมีลาภ ประสบความสำเร็จ คุ้มครองภัยและทำให้ผู้พกหนวดแมวมีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งหนวดแมวที่เก็บมาพกนั้น ต้องเป็นหนวดแมวที่หลุดออกมาเองเท่านั้น ไม่ใช่หนวดแมวที่ไปตัดมา

น้องในภาพคือน้องทู้ค น้องมาอาบน้ำตัดขนสั้นที่ร้านครับ

#หนวดแมว #แมว #อาบน้ำแมว #ตัดขนแมว #อาบน้ำตัดขนแมว #พระราม3 #พระราม4 #สุขุมวิท #คลองเตย

14/01/2025

เรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับสุนัขคาวาเลียร์ และโรคที่ควรต้องระมัดระวัง
สุนัขคาวาเลียร์ คิง ชาลส์ สแปเนียล (Cavalier King Charles Spaniel) เป็นสุนัขสายพันธุ์เล็ก ปากสั้นเรียว ส่วนตากลมโตสีน้ำตาล ขนละเอียด มีสีได้หลากแบบ เมื่อโตเต็มวัยจะสูงประมาณ 30-33 ซม. และหนักประมาณ 5.5-8 กก. อายุขัยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 12-15 ปี เชื่อกันว่าถิ่นต้นกำเนิดของสายพันธุ์อยู่ที่ประเทศอังกฤษ

สุนัขคาวาเลียร์ส่วนใหญ่จะนิสัยดี เป็นมิตรกับทุกคนและมีเสน่ห์สูงมาก จนเป็นที่ต้องตาต้องใจคนรักสัตว์เลี้ยงโดยทั่วไป สุนัขคาวาเลียร์ควรที่จะมีการแปรงขนเป็นประจำ อย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง และควรที่จะต้องมีอาบน้ำอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อเดือน เพื่อขจัดขนที่ตายและพันกันออก นอกจากนี้ สุนัขคาวาเลียร์เป็นสุนัขที่มีหูยาวลงมาปิดช่องหู ทำให้ช่องหูเกิดการอับชื้นและอักเสบติดเชื้อได้ง่าย จึงควรมีการดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ และควรที่จะมีการพาไปออกกำลังกายบ้าง เพื่อสุขภาพของน้องสุนัขที่ดี

แต่สุนัขพันธุ์คาวาเลียร์มักจะมีโรคทางพันธุกรรมที่จะต้องระวังอยู่เหมือนกัน โดยโรคสำคัญๆ ได้แก่

1.โรคหัวใจ ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบในสุนัขพันธุ์คาวาเลียร์ได้มาก หากอาการเป็นมาก อาจจะสังเกตเห็นว่า สุนัขไอแห้งๆเยอะ หมดแรงได้ง่าย หายใจลำบาก หรือเป็นลมก็มีเหมือนกัน ถือเป็นโรคร้ายแรงที่ทำให้สุนัขพันธุ์คาวาเลียร์ตายได้ เพราะฉะนั้นควรที่จะมีการตรวจสุขภาพเรื่องนี้อย่างจริงจัง การรักษาโดยมาก จะเป็นการรักษาแบบประคับประคองโดยใช้ยา

2. โรคถุงน้ำในโพรงไขสันหลัง (Syringomyelia) ถือว่าเป็นโรคทางระบบประสาทที่มีความร้ายแรงสูง และพบได้บ่อยใน สุนัขพันธุ์คาวาเลียร์ โดยมากมักจะพบในสุนัขพันธุ์คาวาเลียร์ที่มีอายุระหว่าง 6เดือน ถึง 3 ปี แต่สุนัขพันธุ์คาวาเลียร์ ที่มีอายุมากกว่านี้ก็สามารถพบได้ โดยอาการที่สำคัญๆ ที่สามารถสังเกตเห็นได้ คือความพยายามที่สุนัขพยายามเกาอากาศ(คือเกาไม่ถูกผิวหนัง) แถวๆช่วงระดับไหล่ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการตื่นเต้น หรือระหว่างที่เดิน นอกจากนี้สุนัขอาจจะร้องหรือแสดงความเจ็บปวดโดยที่หาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ ถ้าอาการทางประสาทเด่นชัดมากขึ้น อาจจะมีขาอ่อนแรง หัวสั่น มีอาการเลียปาก ขยับใบหน้าไม่ได้ หรือ มีอาการชักได้ การรักษาต้องมีการใช้ยาประคับประคองหรือมีการผ่าตัดกะโหลก เพื่อลดแรงกดทับที่บริเวณท้ายทอย

นอกจากนี้สุนัขพันธุ์คาวาเลียร์ ยังจะต้องระวังโรคอื่นๆอีกได้ เช่นโรคกระดูกสะบ้าหัวเข่าเคลื่อน โรคกระดูกสะโพกเสื่อม และโรคตา เป็นต้น
สำหรับน้องสุนัขที่อยู่ในคลิป ชื่อน้องโทชี่ มาอาบน้ำแปรงฟัน ที่ร้านอยู่เป็นประจำครับ

#สุนัขคาวาเลียร์ #คาวาเลียร์คิงชาลส์สแปเนียล #คาวาเลียร์ #อาบน้ำตัดขน #อาบน้ำตัดขนสุนัข #ตัดขนสุนัข

น้องปอมใครเคยหน้าลิงกันมาบ้าง?วันนี้เราจะมาพูดถึงว่า ทำไมปอมเด็กถึงหน้าลิงกันนะครับ  ใครที่เลี้ยงสุนัขปอมตั้งแต่ตัวเล็ก ...
13/01/2025

น้องปอมใครเคยหน้าลิงกันมาบ้าง?
วันนี้เราจะมาพูดถึงว่า ทำไมปอมเด็กถึงหน้าลิงกันนะครับ ใครที่เลี้ยงสุนัขปอมตั้งแต่ตัวเล็ก ก็จะสังเกตเห็นว่าจะมีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่น้องปอมของเราดูกลายเป็นปอมหน้าลิงขึ้นมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มักจะเห็นได้ในช่วงที่อายุน้องปอมของเราอยู่ที่ 4-6 เดือน ซึ่งที่ดูหน้าลิงขึ้นมา เพราะขนรอบๆใบหน้ามันฟูขึ้นมานั้นเอง เหตุการณ์ปอมหน้าลิงนี้มักจะเกิดกับลูกสุนัขปอมประมาณ 8 ใน 10 ตัว

สาเหตุที่น้องปอมดูเป็นหน้าลิงเป็นเช่นนี้ เพราะน้องปอมของเราอยู่ในช่วงพลัดขน ซึ่งในลูกปอมนั้น ขนปอมเด็กจะเป็นขนชั้นเดียวที่นิ่ม มีความนุ่มลื่น ซึ่งพอน้องปอมโตขึ้นมาระดับหนึ่ง ก็จะเริ่มมีการพลัดขนลูกปอมออก แล้วขนสุนัขปอมโต ที่มีลักษณะเป็นขนสองชั้น ก็จะเริ่มโตมาแทนที่ ซึ่งอาจจะกินระยะหลายเดือนกว่าการกระบวนการพลัดขนเก่าออก และมีการมีขนใหม่งอกขึ้นมาแทนที่จะเสร็จสมบูรณ์ ช่วงระหว่างที่มีการพลัดขนนี้ น้องปอมบางตัวอาจจะดูตลก ขนตามตัวอาจจะดูไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือดูบางบ้างหนาบ้างเป็นหย่อมๆขึ้นอยู่กับขนที่บริเวณส่วนไหนมีการพลัดออกก่อน บางตัวอาจจะเห็นว่ามีขนบางชัดเจนที่บริเวณขา ซึ่งในสุนัขปอมบางตัว ช่วงพลัดขนอาจจะยาวไปจนถึงสุนัขอายุ 10 เดือน

นอกจากนี้ในช่งระยะเวลาที่มีการพลัดขนเด็กออก รูปร่างสัดส่วนของสุนัขปอมก็อาจจะเริ่มที่จะเปลี่ยนไปเป็นสุนัขโตมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นจากเดิมที่ตัวดูกลมๆตอนเด็ก ก็จะเริ่มขายาวขึ้น ตัวเริ่มผอมและมีสัดส่วนเป็นสุนัขที่โตแล้วมากขึ้น
นอกจากนี้ ลักษณะหน้าลิงก็สามารถเกิดได้กับลูกสุนัขพันธุ์อื่นๆ เช่นเดียวกัน เช่น ลูกสุนัขซามอยด์ เป็นต้น

ในช่วงที่น้องสุนัขพลัดขนนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการแปรงขนเก่าออกอยู่บ่อยๆ เพื่อป้องกันขนพันกันและเปิดโอกาสให้ขนใหม่งอกมาแทนที่ได้รวดเร็วขึ้น และการแปรงขนที่ดี ก็จะสามารถช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตที่ผิวหนังได้ ทำให้ขนและผิวหนังของน้องปอมมีสุขภาพที่ดี การอาบน้ำสุนัขควรทำไม่ต่ำกว่า 3 อาทิตย์ ครั้ง เพื่อป้องกันการสะสมของสิ่งสกปรกและคราบมัน ป้องกันการเกิดโรคผิวหนังได้ อาจจะมีการใช้คอนดิชั่นเนอร์บำรุงขน เพื่อให้แปรงขนได้ง่ายขึ้นและทำให้ขนนั้นเงางามมีความแข็งแรง

น้องปอมในภาพ ชื่อน้องโอคาเนะ ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า เงิน น้องมาอาบน้ำแปรงขนที่ร้านตั้งแต่ตัวยังน้อยๆ ตอนนี้เริ่มหน้าลิงน้อยลงแล้ว เพราะเริ่มโตขึ้นมาหน่อยแล้วครับ

ใครที่เลี้ยงน้องๆไว้ตอนเด็กๆ แล้วน้องเป็นหน้าลิง เอารูปมาแชร์ลงได้นะครับ จะได้เห็นความน่ารักของน้องๆกันในสมัยที่ยังเป็นเด็กๆนะครับ

#ร้านอาบน้ำตัดขนสุนัข #ปอมเมอเรเนียน #ปอมปอม #อาบน้ำตัดขนสุนัข #ตัดขนปอม #ตัดขนสุนัข #อาบน้ำตัดขน #สุนัขปอม #สุนัขตัวโปรด

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุนัขพันธุ์บีเวอร์ เทอร์เรียBiewer Terrier มีต้นกำเนิดจากสุนัขพันธุ์ยอร์คเชียเทอร์เรีย(Yorkshire Te...
12/01/2025

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุนัขพันธุ์บีเวอร์ เทอร์เรีย
Biewer Terrier มีต้นกำเนิดจากสุนัขพันธุ์ยอร์คเชียเทอร์เรีย(Yorkshire Terriers) ที่มียีนพันธุกรรมแบบด่างขาว โดยมีจุดกำเนิดเริ่มจากในปี ค.ศ. 1984 ประเทศเยอรมนี ที่ Werner และ Gertrude Biewer ผู้เพาะพันธุ์สุนัข ได้พบว่ามีลูกสุนัขยอร์คเชียที่มีสามสีสองตัวเกิดขึ้นในครอก เพื่อนสัตวแพทย์ของพวกเขาเลยแนะนำว่า น่าจะเรียกสุนัขยอร์คเชีย ที่มีสามสีนี้ว่า บีเวอร์ ยอร์คเชีย เทอร์เรีย หลังจากนั้น คนในตระกูลบีเวอร์(Biewer) ก็ได้ทำการเพาะและคัดเลือกสายพันธุ์สุนัขยอร์คเชียที่มีสามสีให้มีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น จนกลายมาเป็นสุนัข บีเวอร์ เทอร์เรีย จนถึงทุกวันนี้ นับว่าเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่ค่อนข้างใหม่มากเลยทีเดียว ซึ่งสุนัขบีเวอร์เทอร์เรียนั้น มีความแตกต่างจากสุนัขยอร์คเชีย เทอร์เรีย ด้านพันธุกรรมที่ค่อนข้างชัดเจน ทำให้การตั้งเป็นสายพันธุ์ใหม่นั้น ดูมีความสมเหตุสมผล

สุนัขพันธุ์บีเวอร์ เทอร์เรียนั้น เป็นสุนัขที่มีขนยาวสามสี ดูมีเสน่ห์ ขี้เล่น ค่อนข้างเอาแต่ใจ ชอบออกไปเที่ยว และส่วนมากมักจะชอบพกของเล่นไปตามที่ต่างๆ การพาออกไปเดินเล่น หรือมีกิจกรรมออกกำลังกายต่างๆให้ทำจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสุนัขพันธุ์นี้ สุนัขบีเวอร์ เทอร์เรียนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการแปรงขนทุกวัน เพื่อไม่ให้ขนนั้นพันกัน เจ้าของบางคนก็จะตัดขนให้สั้นเพื่อที่จะได้ดูแลง่ายขึ้น และควรที่จะต้องตัดเล็บเป็นการประจำ เพื่อป้องกันเล็บยาวจนการลงน้ำหนักที่เท้าไม่ปรกติ และเล็บจะจะยาวจนม้วนทิ่มเข้าเนื้อได้ ควรจะมีการตรวจดูหูเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันการสะสมของขี้หู และควรที่จะต้องมีการแปรงฟันอยู่เป็นประจำเพื่อป้องกันโรคเหงือกและหินปูน

จริงๆแล้วสุนัขบีเวอร์ เทอร์เรีย เป็นสุนัขตัวเล็กที่ค่อนข้างฉลาดมาก จึงทำให้ฝึกสอนได้ง่าย แต่ตอนที่เป็นลูกสุนัข การฝึกให้ขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง อาจจะต้องใช้ระยะเวลาและความอดทนมากซักนิดหน่อย

บีเวอร์ เทอร์เรีย ส่วนใหญ่จะมีอายุขัยยาวนานโดยเฉลี่ย 12-15 ปี ส่วนใหญ่แล้วสุนัขบีเวอร์ เทอร์เรียจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แต่จะต้องระวังบางโรคเอาไปบ้าง โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวทางเดินทางอาหาร เพราะจะมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ ส่วนโรคอื่นๆที่พบเจอได้ จะเป็นโรคหลอดลมตีบ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โรคกระดูกสะบ้าหัวเข่าเคลื่อน โรคน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคเลือดไปเลี้ยงหัวกระดูกต้นขาไม่เพียงพอ เป็นต้น

ในรูปเป็นสุนัขพันธุ์บีเวอร์เทอร์เรีย ชื่อน้องแม็กกี้ น้องมาอาบน้ำเล็มขนหน้าที่ร้าน เมื่อวันก่อนครับ

#บีเวอร์เทอร์เรีย #ยอร์คเชียร์ #บีเวอร์ยอร์คเชียร์ #ยอร์คเชียร์สามสี #อาบน้ำสุนัข #อาบน้ำตัดขนสุนัข #ตัดขนสุนัข #ร้านอาบน้ำตัดขน #อาบน้ำตัดขน #สุขุมวิท #พระราม4 #คลองเตย #พระขโนง

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุนัขพันธุ์ชิสุห์สุนัขชิสุห์เป็นสุนัขสายพันธุ์เก่าแก่ ย้อนประวัติกลับไปได้เป็นพันปี มีถิ่นกำเนิดที่...
11/01/2025

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุนัขพันธุ์ชิสุห์
สุนัขชิสุห์เป็นสุนัขสายพันธุ์เก่าแก่ ย้อนประวัติกลับไปได้เป็นพันปี มีถิ่นกำเนิดที่ทิเบต คำว่าชิสุห์ ในภาษาแมนดาริน แปลว่า “สิงโตน้อย” มีอยู่ในช่วงหนึ่งสมัยปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีน สุนัขชิสุห์เกือบสูญหายไปหมด และเชื่อกันว่าสุนัขชิสุห์ถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก เพราะมีความเกี่ยวข้องกับผู้มั่งมีและชนชั้นสูงในเวลานั้น เชื่อกันว่าช่วงต้น ศตวรรษที่ 20 เหลือสุนัขชิสุห์รอดมาได้เพียง 7 คู่เท่านั้น ก็คือ มีสุนัขชิสุห์ตัวผู้ 7 ตัว และตัวเมีย 7 ตัว รวมเป็นทั้งหมด 14 ตัว หลังจากนั้น จำนวนประชากรของสุนัขชิสุห์ก็ได้เพิ่มจำนวนอีกครั้งจากสุนัข 7 คู่นี้ และได้กระจายจำนวนมากมายไปยังทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้

สุนัขชิสุห์มีขนได้หลากสีมาก และขนของลูกสุนัขชิสุห์บางตัวสามารถเปลี่ยนสีได้ เมื่ออายุโตขึ้นได้ 10-12 เดือน ความจริงแล้วชิสุห์เป็นสุนัขที่ค่อนข้างฉลาด และมีความสามารถที่จะโลดโผนได้สูงพอสมควร แต่มีความรักอิสระสูง จึงทำให้ฝึกสอนได้ค่อนข้างยาก เพราะจะไม่ค่อยเชื่อฟังอะไรง่ายนัก

ชิสุห์เป็นสุนัขที่มีขนยาว และชิสุห์ก็เป็นสุนัขที่มีขนสองชั้น แต่ชิสุห์บางตัวขนชั้นในจะบางมากจนแทบไม่สังเกตเห็น
ถ้าใครเลี้ยงชิสุห์แล้วปล่อยขนยาว ก็จะต้องหมั่นหวีแปรงขนอยู่บ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ขนนั้นพันกัน แต่สำหรับหลายๆคน การแปรงขนสุนัขเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้นเจ้าของบางท่าน ก็จะเลือกวิธีตัดขนสั้น หรือ ไถขนให้สั้น เพื่อการดูแลที่ง่ายกว่า

สุนัขชิสุห์โดยทั่วไปจะมีอายุอยู่ที่ 10-16 ปี แต่ก็มีหลายๆตัวที่อายุยืนกว่านั้นมาก บางตัวมีอายุมากกว่า 20ปีเลยทีเดียว
โรคที่จะต้องระวังในสุนัขพันธุ์ชิสุห์ได้แก่ โรคในกลุ่มสุนัขหน้าสั้น เช่นรูจมูกตีบ หลอดลมตีบ โรคอ้วน โรคกระดูกสะบ้าหัวเข่าเคลื่อน โรคเหงือกและหินปูน โรคที่เกี่ยวข้องกับตา โรคผิวหนังและโรคช่องหู โรคหลอดเลือดในตับ และโรคไตอักเสบ เป็นต้น

สุนัขชิสุห์ตัวในภาพคือน้องเพนกวิน น้องมาอาบน้ำตัดขนที่ร้านเป็นประจำครับ

#อาบน้ำสุนัข #อาบน้ำตัดขนสุนัข #ตัดขนสุนัข #พระราม4 #สุขุมวิท #พระขโนง #พระราม3 #ชิสุห์ #ชิสุห์แท้ #สุนัขชิสุห์

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุนัขทอยพูเดิ้ลสุนัขทอยพูเดิ้ลเป็นสุนัขที่ฉลาดมากๆ และมีพลังงานสูง และหลายๆตัวก็ชอบที่จะว่ายน้ำเอาม...
10/01/2025

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุนัขทอยพูเดิ้ล
สุนัขทอยพูเดิ้ลเป็นสุนัขที่ฉลาดมากๆ และมีพลังงานสูง และหลายๆตัวก็ชอบที่จะว่ายน้ำเอามากๆอีกด้วย เพราะต้นกำเนิดสายพันธุ์ของสุนัขทอยพูเดิ้ล ก็คือ สุนัขสแตนดาร์ดพูเดิ้ล ซึ่งเป็นสุนัขในตระกูลสุนัขน้ำ ที่เลี้ยงไว้ว่ายน้ำเพื่อคาบเหยื่อที่ตกลงในน้ำ และด้วยความฉลาดอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกันสุนัขสายพันธุ์อื่นๆ ทำให้ทอยพูเดิ้ลเป็นสุนัขที่ฝึกง่าย เรียนรู้ไว

อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นสุนัขที่หัวไวและพลังงานเยอะ จึงควรที่จะต้องให้น้องสุนัขทอยพูเดิ้ล ทำกิจกรรมต่างๆตลอดเวลา เพราะน้องจะเบื่อง่าย และเมื่อน้องเบื่อมากๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อจิตใจของน้องและทำให้สุนัขแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีออกมาได้ เช่น การรื้อทำลายข้าวของในบ้าน เป็นต้น นอกจากนี้ การออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอก็อาจจะทำให้น้องอ้วนได้ง่ายอีกด้วย

สุนัขทอยพูเดิ้ลนั้นมีขนที่หนาฟู ซึ่งต้องแปรงขนตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ขนพันกัน และควรที่จะต้องมีการตัดแต่งขนทุกๆ 6-10 สัปดาห์ต่อครั้ง เพื่อไม่ให้ขนยาวจนเกินไป หากปล่อยขนให้ยาวขึ้น ขนก็จะยาวออกไปเรื่อยๆ และพันกันหรือจับกันเป็นก้อน ซึ่งจะไม่ดีต่อสุขภาพของน้องสุนัข ทั้งด้านจิตใจและทางร่างกาย โดยเฉพาะทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบจากความสกปรกที่สะสมอยู่ในก้อนขน

โรคทางพันธุกรรมที่ควรจะต้องระวังในสุนัขพันธุ์นี้ได้แก่ โรคจอตาเสื่อม ซึ่งทำให้สุนัขสูญเสียการมองเห็นไปเรื่อยๆ โรคต้อกระจก โรคเลือดไปเลี้ยงหัวกระดูกสะโพกไม่เพียงพอ โรคกระดูกสะบ้าหัวเข่าเคลื่อน โรคฮอร์โมนในร่างกายผิดปรกติ โรคภูมิแพ้เป็นต้น

ส่วนสุนัขทอยพูเดิ้ลในรูป ชื่อน้องโคโค่ น้องมาอาบน้ำตัดขนที่ร้านเป็นประจำครับ

#อาบน้ำตัดขนสุนัข #ตัดขนสุนัข #อาบน้ำสุนัข #พระราม4 #สุขุมวิท #พระราม3 #พูเดิ้ล #สุนัขพูเดิ้ล

Address


Opening Hours

Monday 10:00 - 20:00
Tuesday 10:00 - 20:00
Thursday 10:00 - 20:00
Friday 10:00 - 20:00
Saturday 10:00 - 20:00
Sunday 10:00 - 20:00

Alerts

Be the first to know and let us send you an email when Pawfessionals อาบน้ำ ตัดขนสุนัข ตัดขนแมว อาหารบาร์ฟ ขายยาสัตว์ posts news and promotions. Your email address will not be used for any other purpose, and you can unsubscribe at any time.

Contact The Business

Send a message to Pawfessionals อาบน้ำ ตัดขนสุนัข ตัดขนแมว อาหารบาร์ฟ ขายยาสัตว์:

Videos

Shortcuts

  • Address
  • Opening Hours
  • Alerts
  • Contact The Business
  • Videos
  • Claim ownership or report listing
  • Want your business to be the top-listed Pet Store/pet Service?

Share

Our Story

PAWFESSIONALS provides trusted products & professional grooming service for cats and dogs. With the best experience offering you and your pets because everything is ESPECIALLY FUR YOU.

TEL: 089-846-6564

ร้านอาบน้ำตัดขนสุนัขและแมว โดยช่างทีมีประสบการณ์สูง

โทรจองคิว:089-846-6564