DoctorPie สุขภาพสัตว์เลี้ยง

  • Home
  • DoctorPie สุขภาพสัตว์เลี้ยง

DoctorPie สุขภาพสัตว์เลี้ยง ดูแลสัตว์เลี้ยงของคุณ ด้วยคำแนะนำจ
(2)

สวัสดีครับ วันนี้จะมาพูดเรื่องสุนัขปัสสาวะลำบากกันนะครับ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยแล้วก็เกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่...
21/11/2021

สวัสดีครับ วันนี้จะมาพูดเรื่องสุนัขปัสสาวะลำบากกันนะครับ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยแล้วก็เกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งที่ปัญหามักจะถูกละเลยในช่วงอาการระยะเริ่มต้นนั้น ก็เพราะว่าในหลายๆบ้านนั้น เจ้าของอาจจะไม่ได้เห็นสุนัขขับถ่ายด้วยตนเอง เช่น ฝากแม่บ้านเลี้ยง เป็นต้น กว่าจะรู้อีกทีก็ปัญหาลุกลามใหญ่โตแล้ว

สิ่งสำคัญที่ควรจะทราบก็คือ การที่สุนัขปัสสาวะลำบากถือว่าเป็นภาวะที่อันตรายมาก บางรายอาจจะลุกลามไปจนเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นที่ควรทราบอาการสังเกตเบื้องต้น เมื่อสงสัยจะได้พาไปตรวจโดยทันที

อาการที่เรามักพบเจอได้ในสุนัขที่ขับถ่ายปัสสาวะลำบากนั้นได้แก่
1. เบ่งถ่ายปัสสาวะมาก
2. มีอาการร้อง หรือแสดงความเจ็บปวดออกมาตอนขับถ่ายปัสสาวะ
3. ไม่ค่อยยอมให้จับถูกตัว และอาจจะมีอาการซึม ไม่ร่าเริง
4. เลียบริเวณอวัยวะเพศบ่อยๆ
5. ปัสสาวะบ่อย กระปริบประปรอย
6. ปัสสาวะไม่เป็นที่เป็นทาง
7. ปัสสาวะมีเลือดปน หรือมีเมือกปน

ซึ่งกรณีที่ร้ายแรงคือ สุนัขเบ่งแล้วแต่ไม่มีปัสสาวะออกมาเลย สุนัขอาจจะตายได้เลยทีเดียว

ส่วนสาเหตุที่ทำให้สุนัขมีปัญหาดังกล่าว ก็มีได้หลายสาเหตุด้วยกันยกตัวอย่างเช่น
1.กระเพาะปัสสาวะหรือท่อทางเดินปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อ
2.มีก้อนนิ่วหรือผลึกอยู่ในกระเพาะปัสสาวะหรือทางเดินปัสสาวะ
3.มีปัญหาต่อมลูกหมากโต โดยเฉพาะในสุนัขตัวผู้ที่ยังไม่ทำหมัน หรือปัญหาของต่อมลูกหมากอื่นๆ
4.มะเร็งและเนื้องอกต่างๆ ที่รบกวนทางเดินปัสสาวะ
5.การบาดเจ็บและเกิดอุบัติเหตุ เช่น กระดูกลึงค์ในสุนัขเพศผู้หัก
6.มีปัญหาทางระบบประสาท ทำให้ระบบสั่งการการขับถ่ายไม่ปรกติ เช่น ไขสันหลังถูกกดทับ เป็นต้น

โดยทั่วไป คุณหมอจะทำการวินิจฉัยแยกแยะ เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดก่อน จึงจะทำการรักษาต่อไป

การตรวจเบื้องต้นโดยทั่วไปนั้นแก่ การตรวจปัสสาวะ การตรวจด้วย X-ray และ/หรือ Ultrasound การล้วงทวารหนักเพื่อตรวจต่อมลูกหมาก การตรวจเลือด และ การตรวจอื่นๆ
ต้องย้ำอีกครั้งว่า ภาวะปัสสาวะลำบาก หรือ ปัสสาวะไม่ออก โดยทั่วไปมักเป็นปัญหาร้ายแรง เพราะฉะนั้น เมื่อเจ้าของสังเกตถึงอาการที่เข้าข่าย ควรจะรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างเร่งด่วนครับ

สำหรับเนื้อหาสาระน่าสนใจอื่นๆ ผมจะค่อยๆทยอยอัปเดตโพสต์นะครับ
สามารถกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามเพจได้ครับผม


#หมอพาย
#สุนัข
#แมว
#ปัสสาวะขัด
#ปัสสาวะบ่อย
#ปัสสาวะเล็ด
#ปัสสาวะไม่ออก
#ปัสสาวะลำบาก
#นิ่ว
#ปัสสาวะอักเสบ
#ปัสสาวะเลือดปน

สัตว์เลี้ยงอายุมากตาดูขุ่น อันตรายหรือเปล่า?สวัสดีครับ วันนี้หมอจะมาพูดเรื่องน้องสุนัขน้องแมวข้างในลูกตาขุ่นนะครับ ซึ่งเ...
13/11/2021

สัตว์เลี้ยงอายุมากตาดูขุ่น อันตรายหรือเปล่า?
สวัสดีครับ วันนี้หมอจะมาพูดเรื่องน้องสุนัขน้องแมวข้างในลูกตาขุ่นนะครับ ซึ่งเป็นอะไรที่เจอได้เยอะมากๆในสัตว์เลี้ยงที่อายุเริ่มเยอะครับ ซึ่งถ้าถามว่าเป็นอันตรายมั้ย? ซึ่งก็จะต้องตอบว่ามีทั้งแบบที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายครับ วันนี้ก็จะบอกกล่าววิธีดูกันนะครับว่า แบบไหนถึงเรียกว่าอันตรายนะครับ

อันที่จริงโรคตามีเยอะนะครับ แต่ที่จะกล่าวถึงวันนี้คือส่วนที่เห็นได้ตรงรูม่านตา ก็คือเลนส์แก้วตา (Lens) นะครับ เพราะเป็นจุดที่เจอว่าขุ่นมัวในสัตว์อายุมากเยอะที่สุด

ทั้งนี้โรคที่ทำให้ดวงตาขุ่นในตำแหน่งอื่นๆ เช่น กระจกตา ก็มีนะครับ แต่วันนี้ขอไม่กล่าวถึง

เลนส์แก้วตานั้น เป็นส่วนสำคัญที่อยู่หลังม่านตา ทำหน้าตาปรับโฟกัสหักเหแสง

ซึ่งเมื่อสุนัขหรือแมวอายุยังไม่มากและมีสุขภาพดี เลนส์ตาตรงนี้ก็จะใส แต่เมื่อมีอายุที่มากขึ้นหรือมีโรคบางอย่าง เลนส์ตาก็จะเกิดการขุ่นมั่วได้ครับ

โดยทั่วไป ปัญหาเลนส์ตาขุ่นจะมีอยู่ด้วยกันสองแบบ คือ
1. ต้อกระจก (Cataracts)
2. เลนส์ตาขุ่นเพราะเสื่อมตามอายุ (nuclear sclerosis)

ต้อกระจกนั้น ลักษณะที่เด่นชัดคือ ความขุ่นภายในเลนส์ตาจะไม่มีความสม่ำเสมอ ถ้าเป็นมากๆ อาจจะทำให้คล้ายๆเป็นเศษกระจกแตก หรือ เศษน้ำแข็งแตกอยู่ภายในเลนส์ตา ซึ่งการเป็นต้อกระจกนั้นสามารถก่อปัญหาใหญ่ได้ สามารถบ่งบอกโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

หากสัตว์เลี้ยงเป็นต้อกระจก สาเหตุส่วนใหญ่ที่เป็นไปได้ก็คือ

1.พันธุกรรม ซึ่งจะมีสุนัขและแมวบางพันธุ์ ที่มีแนวโน้มเกิดต้อกระจกได้ง่ายกว่าปรกติ ยกตัวอย่างเช่น สุนัขพูเดิ้ล สุนัขเฟรนบลูด๊อก สุนัขไซบีเรียนฮัสกี้ สุนัขลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ แมวเปอร์เซีย เป็นต้น

2.ภายในดวงตาได้รับความเสียหาย เช่น เกิดจากการกระแทก ภายในดวงตาเกิดการอักเสบ ความดันสูง เป็นต้น

3.เบาหวาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยมากๆ ที่ทำให้สัตว์เลี้ยงมีภาวะต้อกระจก

ซึ่งการเป็นต้อกระจกนี้ จะส่งผลทำให้สุนัขมีการมองเห็นที่แย่ลง และอาจจะทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนภายในลูกตามากขึ้นเรื่อยๆ เช่นตาอักเสบ ความดันตาสูงจนเป็นต้อหิน ส่งผลทำให้ตาบอดได้

และหากมีโรคเบาหวานเป็นสาเหตุด้วยแล้ว อย่าปล่อยทิ้งเอาไว้ เพราะโรคเบาหวานสามารถทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอ เป็นโรคไต ติดเชื้อในกระแสเลือดได้

เพราะฉะนั้นในกรณีที่สงสัยว่าสุนัขจะมีต้อกระจก ควรรีบพาไปตรวจพบกับสัตวแพทย์อย่างเร่งด่วน อย่าได้ปล่อยทิ้งเอาไว้ เพราะว่าจะทำให้สุนัขเจ็บป่วยหนักมากขึ้นและเสียชีวิตได้หากมีโรคแทรกซ้อนรุนแรงเป็นสาเหตุ เช่น เบาหวานเป็นพิษ เป็นต้นครับ

ทีนี้มาดูอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เลนส์ตาขุ่น นั้นก็คือ “เลนส์ตาขุ่นเพราะเสื่อมตามอายุ” หรือที่เรียกว่า “nuclear sclerosis”
ซึ่งมักจะเกิดกับสัตว์มีอายุมากขึ้น เพราะเลนส์ตานั้นแข็งและแน่นตัวมากขึ้นตามอายุ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เราจะเห็นเลนส์ตาขุ่นเป็นสีฟ้ามัวๆแบบสม่ำเสมอทั่วทั้งเลนส์ตา แล้วก็มักจะไม่กระทบกับการมองเห็นของสัตว์เลี้ยงมากนัก ซึ่งในกรณีนี้ ไม่ถือว่าอันตรายนะครับ เพราะเป็นเรื่องปรกติที่เกิดได้กับสัตว์ที่อายุมากครับ

แต่หากเจ้าของท่านใด ไม่แน่ใจว่าสุนัขของตัวเองนั้นเป็นต้อกระจก หรือ เลนส์ตาขุ่นตามอายุ ก็ควรรีบพาไปพบสัตว์แพทย์นะครับ หากเป็นต้อกระจก ก็จะได้รีบทำการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามใหญ่โตครับ

โดยเฉพาะสุนัขที่มีอาการมองไม่ค่อยเห็น หรือมีอาการเจ็บตา หรือมีอาการบ่งบอกถึงเบาหวาน เช่น กินน้ำมาก ปัสสาวะมาก กินเยอะแต่ผอมลงเรื่อยๆ เหล่านี้ มีแนวโน้มสูงมากครับว่า จะเป็นต้อกระจกนะครับ

สำหรับเนื้อหาสาระน่าสนใจอื่นๆ ผมจะค่อยๆทยอยอัปเดตโพสต์นะครับ
สามารถกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามเพจได้ครับผม


#หมอพาย
#สุนัข
#แมว
#ต้อกระจก
#ตาขุ่น
#ตามัว
#เบาหวาน

สวัสดีครับ วันนี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่อง “โรคหอบหืดในแมว” นะครับ ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรคที่ค่อนข้างอันตรายในแมวเลย แล้วก็ถือ...
01/09/2021

สวัสดีครับ วันนี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่อง “โรคหอบหืดในแมว” นะครับ ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรคที่ค่อนข้างอันตรายในแมวเลย แล้วก็ถือว่าพบได้มากพอสมควรเลยแหละครับ (อาจจะมีประชากรแมวมากถึง 1-5% ที่เป็นโรคนี้)

ทีนี้โรคหอบหืดในแมวนั้นเกิดจากอะไร ก็จะต้องตอบว่า มันคือการอักเสบในทางเดินหายใจส่วนล่างของแมวครับ ซึ่งมีสาเหตุมาจากภูมิแพ้ และแมวที่เป็นโรคนี้โดยทั่วไปแล้ว มักจะมีอาการแบบเรื้อรัง ซึ่งเมื่อหลอดลมฝอยเกิดการอักเสบแล้ว จะทำให้หลอดลมตีบตันและมีเมือกอักเสบ ซึ่งจะส่งผลให้แมวหายใจลำบาก

มีแนวโน้มพบได้บ่อยในแมวสายพันธุ์ไทย(Siamese Breeds) มากกว่าแมวสายพันธุ์อื่นๆ และดูเหมือนแมวที่ชอบออกไปนอกบ้านจะมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดได้ง่ายกว่าแมวที่เลี้ยงในบ้าน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า แมวที่ออกไปนอกบ้านั้น มีโอกาสเจอสิ่งที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้มากกว่า

สิ่งที่อาจจะกระตุ้นในน้องแมวนั้นให้มีอาหารหอบหืดได้ ก็มีได้หลายอย่างเลยครับ ยกตัวอย่างเช่น ควันธูป ควันบุหรี่ สเปร์ยต่างๆที่ใช้อยู่ในบ้าน น้ำยาทำความสะอาด ไรฝุ่นและฝุ่นต่างๆ ฝุ่นจากทรายแมว เกสรดอกไม้ หรือ แม้แต่การแพ้อาหารก็เป็นไปได้ครับ

โรคหอบหืดในแมวอย่างที่กล่าวไปข้างต้นนะครับ ค่อนข้างอันตรายนะครับ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่เจ้าของแมวควรจะทราบอาการเบื้องต้นบางอย่างของโรคหอบหืดแมวเอาไว้ เพื่อที่จะได้รีบพาไปหาสัตวแพทย์ก่อนที่อาการจะรุนแรงมากขึ้นนะครับ

อาการที่สามารถพบได้นะครับในแมวหอบหืด

1.มีอาการไอ ไอเสียงครอกๆ หรือคล้ายขากเสมหะ และซึ่งในบางครั้งแมวก็อาจจะมีอาการอ้วกด้วยเวลาเป็นโรคหอบหืด ดังนั้นควรจะถ่ายวิดิโอคลิปเอาไว้ให้สัตวแพทย์ดูด้วย เพื่อที่สัตวแพทยืจะได้ทำการวินิจฉัยโรคให้ได้รวดเร้วมากยิ่งขึ้น

2.หายใจลำบาก อ้าปากหายใจ หอบ หายใจด้วยท้อง ยืดคอหายใจ หายใจมีเสียงวี๊ดๆ ซึ่งพวกนี้เป็นสัญญานที่ค่อนข้างอันตรายในแมว ควรจะต้องรีบพาแมวไปตรวจพบกับสัตวแพทย์

3.แมวมีอาการเหนื่อย หมดแรง และอื่นๆ

เมื่อแมวเป็นโรคหอบหืด คุณหมออาจจะตรวจโรคด้วยการ ตรวจเลือด ตรวจหาสารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ การX –ray และอื่นๆ เพื่อการประกอบการวินิจฉัย เพราะอาการของโรคหอบหืดแมวนั้น จะมีลักษณะคล้ายๆโรคอื่นอยู่เหมือนกัน เช่น โรคหัวใจในแมว โรคพยาธิหัวใจในแมว โรคพยาธิในปอดแมว โรคหลอดลมอักเสบจากการติดเชื้อ เป็นต้น

แมวที่เป็นโรคหอบหืดนั้น อาจจะต้องให้ยาลดการอักเสบ เพื่อลดภาวการณ์อักเสบที่เกิดจากภูมิแพ้ และอาจจะต้องให้ยาขยายหลอดลม ซึ่งมีผลข้างเคียงอยู่ประมาณหนึ่ง ดังนั้นแมวที่เป็นโรคหอบหืดจึงควรวินิจฉัยและดูแลรักษาโดยสัตวแพทย์ผู้ชำนาญการ และอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดูบางอย่าง เช่น อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอาหาร อาจจะต้องต้องมีการลดความอ้วนของแมว (ยิ่งแมวอ้วน ยิ่งหายใจลำบาก) อาจจะให้อาหารเสริมเพื่อลดการอักเสบ และการจัดการควบคุมความเครียดของแมว ตลอดจนพยายามคาดเดา หรือหาว่า แมวที่เป็นหอบหืดนั้น มีโอกาสแพ้จากอะไรได้บ้าง เป็นต้น

สำหรับเรื่องการหาว่าสารอะไรเป็นต้นเหตุของหอบหืดนั้น อาจจะยากซักหน่อย แต่เจ้าของอาจจะตั้งข้อสงสัยได้ เป็นต้นว่า แมวอาจจะมีอาการของโรคหอบหืด หลังจากเปลี่ยนอาหารเป็นอาหารใหม่ หรือมีการเปลี่ยนของน้ำยา น้ำหอมภายในบ้าน หรือมีอาการมากขึ้นหลังจุดธูป จุดเทียนภายในบ้าน หรือมีอาการหลังเปลี่ยนประเภทหรือยี่ห้อของทรายแมวที่ใช้ หรือมีอาการหลังจากที่แมวเข้าไปในสวนหลังบ้านที่เราปลูกดอกไม้ไว้ ซึ่งแมวอาจจะแพ้เกสรได้ แบบนี้เป็นต้น ซึ่งการสังเกตแบบนี้อาจจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และอาจจะทำให้เราพอเดาหาสาเหตุได้ และจัดการที่ต้นตอได้ในที่สุด

สำหรับเนื้อหาสาระน่าสนใจอื่นๆ ผมจะค่อยๆทยอยอัปเดตโพสต์นะครับ
สามารถกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามเพจได้ครับผม


#หมอพาย
#หอบหืด
#ไอ
#หายใจลำบาก

#สัตว์เลี้ยง
#สุนัข
#แมว

สวัสดีครับวันนี้เราจะมาพูดถึงโรคหนึ่งที่สามารถพบกันได้บ่อยๆ  นั้นคือภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนะครับ ซึ่งสามารถพบได้...
25/08/2021

สวัสดีครับวันนี้เราจะมาพูดถึงโรคหนึ่งที่สามารถพบกันได้บ่อยๆ นั้นคือภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนะครับ ซึ่งสามารถพบได้ในสุนัขได้ทุกสายพันธุ์ และพบบางในแมว และอาจจะเจอได้บ่อยในสุนัขสายพันธุ์ดังต่อไปนี้ ได้แก่ ดัชชุน บีเกิ้ล คอร์กี้ ปักกิ่ง พุเดิ้ล ชิสุห์ เยอรมัน เชพเพิร์ด และ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ เป็นต้น

ทีนี้ถามว่าหมอนรองกระดูกนั้นคืออะไร ก็ต้องอธิบายว่า ตรงข้อต่อของกระดูกสันหลังแต่ละข้อจะมีหมอนรองกระดูกทำหน้าที่ลดแรงกระแทกอยู่ ซึ่งในกรณีที่เกิดภาวะหมอนรองกระดูกกดทับนั้น ตัวหมอนรองกระดูกอาจจะมีการยื่นหรือแตกออก ทำให้ส่วนที่ยื่นหรือแตก เข้าไปกดทับเส้นประสาทได้ ซึ่งหมอนรองกระดูกที่ยื่นหรือแตกออกนั้นอาจจะเกิดจากการเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือมีการกระแทกทำให้เกิดแบบเฉียบพลันก็ได้

สัตว์ที่มีภาวะนี้จะมีอาการที่สามารถสังเกตได้ ข้อใดข้อหนึ่ง หรือร่วมกันหลายข้อ ดังต่อไปนี้

1. รู้สึกเจ็บ หรือเสียวสันหลังบริเวณที่มีการกดทับของหมอนรองกระดูก (เป็นได้ตั้งแต่ที่บริเวณกระดูกคอยาวไปจนถึงกระดูกสันหลังส่วนเอว )

2.มีการเคลื่อนไหว ลุกเดินที่ผิดปรกติ เช่น ลุกเดินลำบาก เดินเซ เดินเกร็ง ยืนก้มหัว เดินตัวโก่งๆ ท้องแข็งๆ เดินลากขา เดินขาไขว่กัน การลงน้ำหนักของเท้าไม่เต็มที่ และท่าทางการเคลื่อนไหวที่ผิดปรกติอื่นๆ เป็นต้น

3.อาจจะมีภาวะขับถ่ายที่ผิดปรกติ เช่น ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ เพราะระบบประสาทที่ควบคุมอยู่ไม่สามารถทำงานได้ตามปรกติ หรือ ไม่ค่อยอยากขับถ่ายเพราะมีการอาการเจ็บสันหลังเวลาทำท่าเตรียมขับถ่าย เป็นต้น

ในบางครั้งอาการอาจจะไม่ชัดเจน หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย หากสงสัย เจ้าของควรพาสัตว์เลี้ยงของตนเองไปพบคุณหมอครับ

คุณหมออาจจะทำการตรวจวินิจฉัยแบบครอบคลุม อาจจะมีทั้งหารตรวจเลือด การตรวจระบบประสาท การX-ray CT Scan หรือ MRI หรือ การฉีดสี เพื่อหาตำแหน่งของการถูกกดทับ และต้องตรวจเพื่อแยกแยะจากภาวะโรคอื่นๆที่มีอาการทางระบบประสาทคล้ายกัน ยกตัวอย่างเช่น โรคกระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกอักเสบ กระดูกสันหลังได้รับการกระทบกระแทก หรือ มีเนื้องอกกดทับ เป็นต้น

การแก้ไขโรคนี้สามารถทำได้ด้วยการให้ยาลดปวด ลดอักเสบ และ/หรือ การผ่าตัดเพื่อลดแรงกดที่บริเวณไขสันหลัง ทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเส้นประสาทนั้นน้อยลง ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องทำการผ่าตัดมากกว่าหนึ่งตำแหน่งเพราะจุดกดทับสามารถเกิดขึ้นได้หลายจุด แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า การผ่าตัดนั้นอาจจะต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน และบางครั้งสัตว์ก็อาจจะไม่ได้กลับมาปรกติเหมือนเดิมหากเส้นประสาทถูกทำลายไปมากจนถึงระดับหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตามการผ่าตัดอาจจะป้องกันไม่ให้สถานการณ์นั้นเลวร้ายไปกว่าเดิมได้ และนอกจากนี้อาจจะต้องมีการให้ยาลดปวดลดอักเสบ การดูแลเรื่องการขับถ่าย และการทำกายภาพบำบัดประกอบด้วย จึงจะให้ผลการรักษาที่ดีที่สุดครับ

ทีนี้เจ้าของสามารถที่จะช่วยป้องกันสัตว์เลี้ยงของตัวเองไม่ให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกกดทับได้อย่างไร?

1.อย่าให้สัตว์เลี้ยงอ้วน มีน้ำหนักที่มากเกิน เพื่อลดน้ำหนักที่กระทำต่อกระดูกคอและกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะในสุนัขที่เป็นสายพันธุ์เสี่ยงที่จะเกิดอาการนี้

2.ใช้สายรัดอกแทนการจูงเชือกผูกปลอกคอ เพื่อลดการแรงกระทำบนกระดูกคอ เพราะภาวะหมอนรองกระดูกกดทับ สามารถเกิดได้ที่ตำแหน่งกระดูกคอได้เช่นกัน

3.ควรจำกัดการกระโดดขึ้น กระโดดลงแบบแรงๆ หาบันไดหรือทางลาดให้สุนัขขึ้นลง แทนการกระโดด

4.สุนัขสายพันธุ์เสี่ยงๆอย่าง ดัชชุน ที่หลังยาวๆ เวลาอุ้มควรมีการรองรับน้ำหนักให้ดี อย่าอุ้มเฉพาะส่วนหน้าของลำตัว แล้วปล่อยให้เอวห้อย เพราะจะไม่ดีกับการลงน้ำหนักกระดูกสันหลังส่วนหลัง

5.บางกรณีการใช้เข็มขัดพยุงหลัง (Back Brace) สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้

สำหรับเนื้อหาสาระน่าสนใจอื่นๆ ผมจะค่อยๆทยอยอัปเดตโพสต์นะครับ
สามารถกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามเพจได้ครับผม


#หมอพาย
#หมอนรองกระดูกกดทับ
#สัตว์เลี้ยง
#สุนัข
#แมว

หลังพาน้องแมวไปฉีดวัคซีน ควรจะต้องสังเกตอะไรบ้าง?สวัสดีครับ เชื่อว่าเจ้าของน้องแมวหลายๆท่าน ก็คงพาน้องแมวไปฉีดวัคซีนกันอ...
21/08/2021

หลังพาน้องแมวไปฉีดวัคซีน ควรจะต้องสังเกตอะไรบ้าง?
สวัสดีครับ เชื่อว่าเจ้าของน้องแมวหลายๆท่าน ก็คงพาน้องแมวไปฉีดวัคซีนกันอยู่แล้ว เพื่อเป็นการป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรค หากเกิดการติดเชื้อจริง แต่การฉีดวัคซีนนั้นก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า อาจจะเกิดผลข้างเคียงได้ ซึ่งอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังฉีดวัคซีนก็เป็นไปได้ และผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนในแมวนั้น ก็มีส่วนต่างกับสุนัขอยู่ เหมือนกัน จึงอยากให้เจ้าของน้องแมวมีความรู้เอาไว้สังเกตน้องแมวหลังฉีดวัคซีนมานะครับ ถ้าสังเกตได้ว่ามีปัญหาจะได้รีบแก้ไขกันก่อนได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนในแมว ผมจะแบ่งออกเป็น 2 แบบนะครับ

1. ผลข้างเคียงที่สามารถพบได้ภายหลังการเกิดวัคซีน

2. การเกิดมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนตรงจุดที่ทำวัคซีน ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นผลข้างเคียงพิเศษที่สามารถเกิดได้ในแมวนะครับ

มาดูในข้อแรกก่อน นั้นก็คือ ผลข้างเคียงที่สามารถพบได้ภายหลังการเกิดวัคซีน ซึ่งผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนนี้ ไม่จำเป็นต้องเกิดทันทีหลังฉีดวัคซีนนะครับ โดยอาจจะเกิดได้ใน 30 วันหลังฉีดวัคซีนก็ได้ อาการที่เกิดมีได้หลากหลาย ตั้งแต่ซึม เป็นไข้อยู่ 2-3 วัน หรือ อักเสบตรงจุดที่วัคซีน ซึ่งอาการเหล่านี้ ส่วนมากก็อาจจะไม่ได้ร้ายแรงอะไร

แต่ถ้าเป็นอาการที่เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันไวกว่าปรกติ หรือเรียกแบบเข้าใจง่ายๆว่า แพ้วัคซีนแบบรุนแรง อาจจะมีอาการอาเจียน ท้องเสีย หายใจติดขัด คันตามตัว ใบหน้าบวม ไปจนถึงรุนแรงขนาดหมดสติ ซึ่งอันนี้ถือว่า รุนแรงและฉุกเฉิน เจ้าของควรรีบพาน้องแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาเร่งด่วน และเจ้าของควรจดข้อมูลวัคซีนที่ฉีดเข้าไปแล้วมีอาการดังกล่าวด้วย เพื่อที่การฉีดวัคซีนครั้งต่อไปจะได้มีข้อมูล และระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

ส่วนในข้อที่สอง ที่ว่าการฉีดวัคซีนจะทำให้เกิดมะเร็งตรงจุดที่ฉีดได้นั้น จริงๆมีโอกาสเกิดได้น้อย แต่เพื่อลดความเสี่ยงตรงนี้ สัตวแพทย์หลายๆท่านจึงเริ่มที่จะเปลี่ยนจุดฉีดวัคซีนในแมว มาฉีดที่ปลายขา หรือ ที่หางแทน เพราะหากเกิดมะเร็งขึ้นมา ก็จะทำการตัดออกรักษาได้ง่าย ซึ่งถ้าเจ้าของอ่านตรงนี้แล้วตกใจกลัวว่า แมวจะเป็นมะเร็งเพราะไปฉีดวัคซีน ผมไม่อยากให้เจ้าของแมวคิดอย่างนั้น เพราะประโยชน์ที่ได้จากการฉีดวัคซีนมันคุ้มกว่ามาก เมื่อเทียบกันกับการไม่พาน้องแมวไปฉีดวัคซีนเพราะกลัวว่าแมวจะเป็นมะเร็ง และอย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว โอกาสก็เกิดมะเร็งไม่เยอะหรอกนะครับ

ทีนี้บางท่านก็อาจจะไม่สบายใจอยู่ดี กังวลว่าน้องแมวจะเป็นอะไรหรือเปล่า ผมก็จะให้จุดสังเกตสามข้อให้เจ้าของน้องแมวได้สังเกตดู ซึ่งหากพบความผิดปรกติดังกล่าว ก็จะได้รีบพาน้องแมวไปตรวจรักษากับคุณหมอได้ครับ

1.มีการบวมของจุดที่ฉีดวัคซีนนานเกิน สามเดือน

2.จุดบวมที่เกิดขึ้นหลัง ฉีดวัคซีนนั้น มีเส้นผ่านศูนย์กลางการบวมขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร

3.จุดที่ฉีดวัคซีนมีขนาดใหญ่ขึ้นในช่วง 1 เดือนหลังจากวันที่ฉีดวัคซีน
ซึ่งหากเจ้าของน้องแมว เจอข้อใด ข้อหนึ่ง ตามนี้ ให้พาน้องแมวไปหาหมอ คุณหมออาจจะพิจารณาเจาะก้อนเนื้อไปตรวจดูว่า ก้อนบวมนั้นคืออะไรกันแน่ ซึ่งการสังเกตของเจ้าของน้องแมวตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยได้อย่างมากเลยครับ

สำหรับเนื้อหาสาระน่าสนใจอื่นๆ ผมจะค่อยๆทยอยอัปเดตโพสต์นะครับ
สามารถกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามเพจได้ครับผม


#หมอพาย
#วัคซีน
#วัคซีนแมว
#ฉีดวัคซีนแมว
#สัตว์เลี้ยง
#สุนัข
#แมว

สวัสดีครับ วันนี้ผมจะมาพูดถึงเรื่องหนึ่งที่หลายๆคนอาจจะสงสัยนั้นก็คือ เวลาสุนัขคลอด เราจะสังเกตได้อย่างไรว่า สุนัขกำลังป...
17/08/2021

สวัสดีครับ วันนี้ผมจะมาพูดถึงเรื่องหนึ่งที่หลายๆคนอาจจะสงสัยนั้นก็คือ เวลาสุนัขคลอด เราจะสังเกตได้อย่างไรว่า สุนัขกำลังประสบปัญหาการคลอดยากอยู่ เพราะก็มีบ้านที่เลี้ยงสุนัขหลายๆบ้าน ก็ให้น้องสุนัขคลอดเองที่บ้าน หรือ เจ้าของทำคลอดให้ ไม่ได้พาไปฝากคลอดที่โรงพยาบาล

แต่พอเกิดปัญหาคลอดยากขึ้นมา เจ้าของเองก็อาจจะไม่ทราบว่าเกิดภาวะคลอดยาก เลยพาน้องไปโรงพยาบาลช้า ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้เกิดอันตรายต่อแม่สุนัขและลูกสุนัขได้

ด้วยเหตุนี้ผมเลยอยากจะเขียนบอกซักหน่อยว่า อาการอะไรบ้างที่พอจะบ่งบอกได้ว่าสุนัขมีอาการคลอดยาก และควรจะได้รับการดูแลจากสัตวแพทย์ทันทีกันนะครับ

ก่อนอื่นเลยต้องเข้าใจก่อนว่าสาเหตุของการคลอดยากนั้นมีได้หลายสาเหตุครับ เช่น อาจจะมดลูกเฉื่อยจากการป่วย อายุ หรือ พันธุกรรม เชิงกรานตีบแคบ ลูกสุนัขมีขนาดใหญ่กว่าปรกติ ท่าของลูกสุนัขที่ออกตอนคลอดไม่ปรกติ และอื่นๆ เป็นต้น

ทีนี้ผมจะให้ข้อสังเกตทั้งหมด 9 ข้อ ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าสุนัขมีอาการคลอดยากนะครับ

1.ตั้งท้องมาแล้วกว่า 72 วันหลังการผสม แต่ไม่มีท่าทีว่าจะคลอด

2.มีสัญญาณของถุงน้ำคร่ำแตก(มีของเหลวใส หรือ เหลืองใสไม่มีกลิ่นออกมา)ให้เห็น แต่กว่าลูกตัวแรกจะออกมานั้น นานเกิน 4 ชั่วโมง

3.มีการเบ่งคลอดอย่างรุนแรงต่อเนื่องเกิน 30 นาที แต่ไม่มีลูกสุนัขออกมา

4.ระยะห่างของการคลอดลูกแต่ละตัว ใช้เวลานานเกิน 2 ชั่วโมง

5.มีของเหลวสีเขียวหรือดำไหลออกมาจากช่องคลอด (แสดงว่ารกหลุดแล้ว) ก่อนที่จะมีการคลอดลูกตัวแรก แต่แม่สุนัขไม่มีอาการเบ่งคลอด หรือคลอดลูกออกมา

6.ระหว่างคลอด มีเลือดไหลออกมามาก

7.แม่สุนัขแสดงอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงระหว่างคลอด หรือมีอาการช๊อค (เช่น หมดแรง หมดสติ เหงือกซีด เป็นต้น)

8.ลูกที่คลอดออกมาแล้วนั้นไม่มีชีวิตแล้ว

9.ลูกสุนัขค้างอยู่ที่ช่องคลอดนานเกิน 15 นาที

ถ้าเจ้าของพบสัญญาณข้อใดข้อหนึ่ง ใน เก้าข้อนี้ ก็ควรรีบพาน้องสุนัขไปตรวจที่โรงพยาบาลเลยครับ พร้อมทั้งเตรียมประวัติต่างๆ ที่อาจจะจำเป็นสำหรับคุณหมอในการตัดสินใจว่าจะแก้ไขภาวะคลอดอย่างไร

โดยทั่วไปคลอดยาก จะมีการแก้ไขอยู่ 2 วิธี นั้นก็คือ การใช้ยา หรือ การผ่าตัด ซึ่งคุณหมอจะพิจารณาตามสถานการณ์การคลอดยาก ว่าเป็นอย่างไร มีสาเหตุจากอะไรบ้าง แล้วถึงจะตัดสินใจว่าจะรักษาด้วยวิธีไหน

ข้อมูลที่ควรจะมีให้คุณหมอ ก็คือ โรคประจำตัวของสุนัข ประวัติการใช้ยา โดย เฉพาะการใช้ยาคุมซึ่งจะทำให้คลอดยาก และยาอื่นๆ และถ้ามีประวัติการบาดเจ็บที่เชิงกรานมาก่อน หรือเคยมีประวัติผ่าคลอดมาก่อน ก็ควรจะแจ้งให้คุณหมอทราบ ตลอดจนผลฟิล์ม X-ray ถ้ามีถ่ายไว้ก่อนหน้านี้ ก็ควรเอาให้คุณหมอดู ถึงแม้คุณหมออาจจะขอตรวจใหม่ก็ตาม เพราะประวัติเก่า อาจจะช่วยประกอบการตัดสินใจให้กับคุณหมอได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับเนื้อหาสาระน่าสนใจอื่นๆ ผมจะค่อยๆทยอยอัปเดตโพสต์นะครับ
สามารถกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามเพจได้ครับผม

#หมอพาย
#สุนัขคลอด
#คลอดยาก
#สุนัขคลอดยาก
#สัตว์เลี้ยง
#สุนัข
#แมว

สวัสดีครับ วันนี้จะมาพูดถึงเรื่องสุขภาพน้องแมวกัน บ้าง นั้นก็คือเรื่องของน้องแมวอาเจียนครับ ซึ่งเจ้าของหลายๆท่านก็คงเจอเ...
13/08/2021

สวัสดีครับ วันนี้จะมาพูดถึงเรื่องสุขภาพน้องแมวกัน บ้าง นั้นก็คือเรื่องของน้องแมวอาเจียนครับ ซึ่งเจ้าของหลายๆท่านก็คงเจอเคยแมวของตัวเองนั้นอาเจียน แล้วก็กังวลว่า เกิดเพราะอะไร แล้วต้องพาไปหาหมอมั้ย? อันตรายมากแค่ไหน? วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยอันนี้กันนะครับ

คือต้องบอกก่อนว่า การอาเจียนของแมวนั้นมีสาเหตุเยอะมากๆ แต่จะให้จัดกลุ่มง่ายๆ ก็แบ่งออกเป็นสามอย่างด้วยกันครับ ได้แก่

1.อาเจียนเพราะมีปัญหาในระบบทางเดินอาหาร เช่น การจะมีการอุดตันของทางเดินอาหาร เพราะสิ่งแปลกปลอม มีเนื้องอก หรือติดเชื้อในทางเดินอาหาร เป็นต้น

2.อาเจียนเพราะโรคของอวัยวะในช่องท้อง อื่นที่ไม่ใช่ทางเดินอาหาร เช่นโรคไต โรคตับอ่อนอักเสบ โรคตับและทางเดินน้ำดี เป็นต้น

3.สาเหตุอื่นที่ไม่ใช่สองอันแรก ได้แก่ การกินยาหรือสารพิษ การติดเชื้อ หรือมีเนื้องอก มีโรคในช่องอกและทางเดินหายใจ และโรคอื่นๆ เป็นต้น
ทีนี้การอาเจียนของแมวนั้น มันมีสาเหตุเยอะแยะมากมายเหลือเกิน และกว่าจะทราบว่าเป็นอะไรแน่ชัด ก็ต้องผ่านการตรวจอย่างละเอียด จึงอาจจะทำให้เจ้าของกังวลใจว่า แบบไหนถึงเรียกว่ารุนแรง หรือ แบบไหนถึงเรียกว่าไม่ฉุกเฉิน เป็นต้น

เอาแบบฉุกเฉินที่ต้องไปพบคุณหมอโดยเร่งด่วนก่อนนะครับ

1.แมวเด็ก ถ้าแมวเด็กมีอาการอาเจียน อาจจะมีพยาธิ หรือ มีการติดเชื้อในลำไส้ ซึ่งอาจจะมีอาการท้องเสียปนมาด้วย โดยเฉพาะลูกแมวที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน อันนี้ไม่ควรรอ เพราะแมวเด็กนั้นขาดน้ำและอาหารนานๆ ไม่ได้ ถ้ามีการอาเจียนแล้วไม่แก้ไขจะเป็นอันตราย

2.มีอาการบ่งบอกว่ามีแนวโน้มจะช็อค เช่น สีเหงือกซีด หมดแรง เดินเซ หายใจเร็ว หอบ หายใจลำบาก กระวนกระวายมาก ตัวเย็น หรือมีไข้สูง หรือมีอาการท้องเสียรุนแรง อันนี้ถือว่าฉุกเฉิน ไม่ควรรอ เพราะหากปล่อยไว้อาจจะเสี่ยงต่อชีวิตได้

3.มีอาการแบบเฉียบพลัน คืออยู่ๆก็เป็น และอาเจียนถี่ๆ ดูรุนแรง อันนี้ระวังมีการกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ทำให้อุดตันลำไส้ โดยเฉพาะอะไรที่ยาวๆ เช่น เส้นด้าย ที่แมวอาจจะเผลอกินเข้าไป หรืออาจจะได้รับสารพิษบางอย่าง หรือมีอาเจียนออกมามีเลือดสดปน อันนี้ถือว่าฉุกเฉินไม่ควรรอ

4.มีอาการเกร็งเจ็บท้อง ท้องบวม หรือ ถ่ายปัสสาวะไม่ออก อันนี้ถือว่าฉุกเฉิน ต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์

ในสี่ข้อนี่ ถ้าเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่ง ให้รีบพาแมวไปโรพยาบาลได้เลย เพราะถือว่าอันตราย การอาเจียนนั้นอาจจะมีสาเหตุรนแรงถึงแก่ชีวิตได้

สำหรับแบบไม่ฉุกเฉิน หรือ กึ่งฉุกเฉิน แต่ก็ควรรีบพาไปตรวจ โดยมากแล้วจะเป็นลักษณะที่แมวมีอาการอาเจียนเรื้อรัง คือมีอาการมาซักระยะหนึ่งแล้ว เช่น อาเจียน 2-3 ครั้งใน 1 อาทิตย์ หรือว่าเป็นแมวที่อาเจียนเป็นครั้งเป็นคราว แต่ก็ยังดูตื่นตัว น้ำหนักอาจจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ หรือก็ค่อยๆซึมลง อันนี้ อาจจะเป็นปัญหาระบบภายในได้หลายอย่าง ตั้งแต่โรคติดเชื้อ เนื้องอก ไปจนถึงโรคตับ โรคไต และอื่นๆ ซึ่งก็ควรได้รับการตรวจที่รวดเร็ว เพื่อรีบแก้ไขปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ

ส่วนในข้อที่อาจจะไม่ค่อยฉุกเฉิน หรือ ปัญหาอาจจะแก้ได้เองที่บ้านนั้น โดยมากจะมีเพียงแค่สองกรณีเท่านั้น นั้นก็คือ ปัญหาก้อนขน และ ปัญหาอาเจียนจากการกินหญ้า ซึ่งในข้อก้อนขนนั้น โดยเฉพาะในแมวพันธุ์ขนยาว ให้สังเกตว่าอาเจียนออกมาเป็นสายๆคล้ายท่อหรือไม่ มีขนปนออกมามั้ย ถ้าใช่ ให้ลองเปลี่ยนอาหารเป็นสูตรสลายก้อนขนดู แต่อย่างไรก็ตามถ้าอาการเป็นรุนแรงมาก หรือ แก้ด้วยอาหารไม่หาย อาจจะเป็นไปได้ว่า มีก้อนขนอุดตันมาก อันนี้ควรจะต้องไปพบสัตวแพทย์

ส่วนในเรื่องแมวกินหญ้าภายในบ้าน ก็อาจจะมีการระคายเคืองในระบบย่อยอาหารนิดหน่อย หายได้เอง แต่สำหรับบ้านไหนที่มีปลูกต้นไม้ตกแต่งบ้าน หรือมีการจัดวางแจกันดอกไม้สด อันนี้จะต้องระมัดระวัง เพราะต้นไม้ประดับบ้านและดอกไม้บางชนิดเป็นพิษกับแมว หากสงสัยว่าแมวอาเจียนเพราะได้รับพิษเข้าไป จะต้องพาไปตรวจรักษาทันทีครับ

ในกรณีที่เจ้าของไม่แน่ใจว่าสถานการณ์นั้นรุนแรงแค่ไหน ฉุกเฉินมากแค่ไหน การโทรปรึกษากับสัตวแพทย์สามารถทำได้ เพื่อให้คุณหมอประเมินเบื้องต้นก่อนได้ และส่วนตัวผมแนะนำว่า ให้ถ่ายวิดิโอคลิป ตอนกำลังอาเจียน ว่ามีท่าทางอาการอย่างไร และถ่ายของที่อาเจียนออกมาว่ามีหน้าตาอย่างไร จะสามารถช่วยทำให้คุณหมอประเมินสถานการณ์ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เป็นต้นว่า บางกรณีแมวไม่ได้อาเจียน แต่เป็นการขากหรือสำรอก การถ่ายคลิปไว้ให้คุณหมอดูจะช่วยแยกแยะได้ง่ายขึ้น

ทั้งหมดนี่ก็คือ การประเมินแบบคร่าวๆ ที่เจ้าของน้องแมว สามารถที่จะเอาไปประเมินสถานการณ์เบื้องต้นอย่างรวดเร็วได้ อย่างไรก็ตาม เจ้าของแมวไม่ควรที่จะวินิจฉัยโรค หรือ พยายามรักษาอาการของน้องแมวเอง เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อสุขภาพน้องแมวมากขึ้น ทุกๆอย่างนั้นควรจะต้องผ่านการดูแลและวินิจฉัยจากสัตวแพทย์ จึงจะถูกต้องมากที่สุดครับ


#หมอพาย
#อาเจียน
#อ้วก
#สัตว์เลี้ยง
#แมว

สวัสดีครับ วันนี้เรามาพูดกันถึงเรื่อง  “ โรคข้อเสื่อมในสุนัข” กันนะครับ ซึ่งเวลาที่เป็นโรคข้อเสื่อม จะหมายถึงมีการอักเสบ...
10/08/2021

สวัสดีครับ วันนี้เรามาพูดกันถึงเรื่อง “ โรคข้อเสื่อมในสุนัข” กันนะครับ ซึ่งเวลาที่เป็นโรคข้อเสื่อม จะหมายถึงมีการอักเสบของข้อต่อ ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนในข้อต่อ ส่งผลให้การเคลื่อนไหวและการรับน้ำหนักเป็นไปไม่ปรกติ ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดได้ และที่สำคัญ โรคนี้พบได้บ่อยมากด้วย โดยเฉพาะในสุนัขพันธุ์ใหญ่ๆ อย่าง โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ หรือ เยอรมันเชฟเฟิร์ด เป็นต้น

จริงๆแล้วข้อเสื่อมนี้เกิดได้กับทุกข้อต่อในร่างกายนะครับ แต่ว่าที่เจอว่าเป็นปัญหากันบ่อยๆ ก็คือ โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia) ข้อศอกเสื่อม (Elbow dysplasia) กระดูกสันหลังเสื่อม และอื่นๆ

ถ้าถามว่าสาเหตุโน้มนำของโรคข้อเสื่อมเกิดจากอะไรโน้มนำได้บ้าง ก็จะมีดังนี้ครับ

1.พันธุกรรม ดังนั้นการเลือกซื้อสุนัขมาเลี้ยง ควรจะดูประวัติทางสายเลือกให้แน่ชัด

2.โรคอ้วน ซึ่งเป็นปัญหาหลักๆที่เจอกันบ่อยมาก

3.การบาดเจ็บ เช่น อาจจะได้รับอุบัติเหตุ หรือ มีการออกกำลังแรงๆ กระโดดสูงๆ ซ้ำไปซ้ำมา

4.การติดเชื้อบางอย่าง หรือ โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน ก็เป็นสาเหตุได้

5.โภชนาการที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจจะเจอได้ในสุนัขพันธุ์ใหญ่ ที่ตอนเป็นลูกสุนัขอาจจะมีความพยามเร่งให้ร่างกายเจริญเติบโตเร็วไป แล้วมีการเสริมแคลเซียม(ที่เกินความจำเป็น) ทำให้โครงสร้างของร่างกายเจริญเติบโตขึ้นมาอย่างไม่สมดุล

6.มีระบบโครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อที่ไม่ดีตั้งแต่แรก

โรคข้อเสื่อมนี้ ตอนเริ่มเป็นอาจจะสังเกตได้ค่อนข้างยาก เพราะสุนัขหลายตัวเก็บซ่อนอาการเก่ง ถึงแม้ว่าเจ็บปวดก็ยังดูเหมือนร่าเริงได้ จนกระทั่งเมื่ออาการมีมากขึ้นจนทนไม่ได้ ถึงจะเริ่มเห็นว่า ลุกลำบาก เจ็บขา ไม่อยากเดิน ซึม กล้ามเนื้อลีบเพราะไม่ได้ใช้งาน และอาการมักจะค่อยเป็นค่อยไป จนเจ้าของหลายท่านอาจจะไม่ทันสังเกตว่ามันเป็นปัญหา นึกว่าสุนัขเบื่อ หรืออายุมากแล้วเฉยๆ ทำให้ไม่ได้รับการตรวจรักษาดีเท่าที่ควร

แต่จุดสังเกตที่เจ้าของสามารถนำไปลองดูเองได้ หากสงสัยว่าว่าสุนัขของตนเองมีอาการของโรคข้อเสื่อมหรือเปล่าได้แก่

1.ไม่อยากขยับตัวมาก การเคลื่อนไหว การออกกำลังกายลดลง

2.การลุกเดินไม่ปรกติ เช่น เดินแข็งๆ เดินกระเผลกๆ ลุกลำบาก

3.มีการเลียบริเวณข้อเท้าหรือข้อต่อที่เป็นปัญหาอยู่ จนเป็นรอยเปื้อนสีน้ำลาย

4.กล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นปัญหาอาจจะลีบฝ่อ เพราะใช้งานน้อยลง

5.สุนัขอาจจะหงุดหงิดมากขึ้น หรือมีบริเวณที่ไม่อยากให้จับเพราะเจ็บปวดข้อต่อ

6.เมื่ออากาศเย็นลง อาการอาจจะเป็นหนักมากกว่าเดิม

7.มีปัจจัยโน้มนำที่เห็นได้ชัดร่วมอยู่ เช่น มีปัญหาทางพันธุกรรม โครงสร้างของขาและกระดูกผิดรูป อ้วน หรือมีประวัติบาดเจ็บ

และอาจจะมีอาการร่วมอื่นๆอีกที่สามารถสังเกตเห็นได้ แต่เบื้องต้น ให้สังเกต 7 ข้อนี้เอาไว้ก่อน หากสงสัยว่าเป็นโรคไขข้ออักเสบ ควรพาไปตรวจพบกับสัตวแพทย์ที่มีความชำนาญเรื่อง กล้ามเนื้อกระดูกและไขข้อ
ทีนี้ถ้าถามว่า เป็นแล้วรักษาได้มั้ย? โดยมากจะเป็นการรักษาเพื่อชะลออาการของโรคไม่ให้เป็นมากกว่าเดิม หรือ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมากกว่า

การจัดการส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของ การปรับอาหาร การให้อาหารเสริมบำรุงไขข้อ การออกกำลังกาย การทำกายภาพบำบัดเช่น การเดินลู่วิ่งในน้ำ และเน้นการให้ยาลดการอักเสบ หรือลดความเจ็บปวด และโดยมากต้องทำวิธีหลายๆอย่างพร้อมกัน จึงจะเห็นผลได้ชัดเจน แต่ถ้าจะคาดหวังให้หายขาดอาจจะยาก เพราะความเสียหายที่เกิดกับโครงสร้างบางอย่าง เมื่อเกิดแล้วอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ ถึงแม้ในบางกรณีก็สามารถจัดการได้ด้วยการผ่าตัดและตอนนี้อาจจะมีการรักษาแบบพิเศษๆ มากขึ้นเช่น การใช้ Stem cell การฉีดยาเข้าข้อต่อ หรือ การนวดและการฝังเข็ม การกระตุ้นไฟฟ้า และการใช้เลเซอร์เย็นเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด เป็นต้น

ซึ่งการรักษาที่กล่าวมานั้น ส่วนใหญ่นอกจากจะต้องทำหลายอย่างร่วมกันแล้ว ยังต้องใช้ระยะเวลาอีกด้วย และถ้าหากเริ่มรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของสัตว์มากกว่า เพราะถ้าปล่อยไว้นานๆแล้วมาจัดการทีหลัง มันก็อาจจะแก้ไขได้ยากแล้วครับ

ก็ถ้าสงสัยหรือไม่สบายใจว่า สุนัขของเราจะมีอาการข้อเสื่อมหรือไม่ ก็ควรพาไปตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงพยาบาลดูนะครับ ขอย้ำอีกครั้งว่า สัตว์เลี้ยงของเรานั้นมักเก็บอาการเจ็บปวดได้ดีกว่าที่เจ้าของส่วนใหญ่คิด อย่าได้รอจนอาการของน้องสัตว์เลี้ยงเป็นมากแล้ว ถึงจะพาไปตรวจที่โรงพยาบาลนะครับ

และที่สำคัญอย่าได้พยายามรักษาสุนัขด้วยตนเองนะครับ เพราะการรักษาไม่ถูกวิธีจะทำให้เป็นหนักขึ้น โดยเฉพาะการให้ยาและการออกกำลังกายที่ผิดๆ ถูกๆ นะครับ ทุกอย่างควรอยู่ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์เสมอครับ

สำหรับเนื้อหาสาระน่าสนใจอื่นๆ ผมจะค่อยๆทยอยอัปเดตโพสต์นะครับ
สามารถกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามเพจได้ครับผม


#หมอพาย

#โรคข้อเสื่อม
#สัตว์เลี้ยง
#สุนัข
#แมว

สวัสดีครับ วันนี้ผมจะมาพูดถึงอาการที่สำคัญและพบได้มากในสุนัขที่อายุเยอะ นั้นคือ กลุ่มอาการสมองเสื่อมในสุนัข หรือโรคอัลไซ...
14/05/2021

สวัสดีครับ วันนี้ผมจะมาพูดถึงอาการที่สำคัญและพบได้มากในสุนัขที่อายุเยอะ นั้นคือ กลุ่มอาการสมองเสื่อมในสุนัข หรือโรคอัลไซเมอร์ ที่เราได้ยินกันคุ้นหูนั้นเอง

ถามว่ากลุ่มอาการโรคนี้ทำไมถึงสำคัญ ก็เพราะว่า เจ้าของส่วนมากมักคิดว่าเป็นอาการตามประสาสุนัขแก่เท่านั้น

ซึ่งไม่ทันคิดว่า หากไม่จัดการดูแลให้เหมาะสม จะมีผลต่อคุณภาพชีวิตของสุนัขที่แย่ลงอย่างแน่นอน ซึ่งหมายถึงความสุขของน้องสุนัขที่ลดลง

ก่อนอื่นต้องเล่าที่มาของกลุ่มอาการนี้ก่อน จริงๆแล้วกลุ่มอาการนี้มีชื่อเต็มๆว่า Cognitive Dysfuction Syndrome หรือ CDS นะครับ หรือ Canine Dementia แต่เพื่อง่ายต่อความเข้าใจของเจ้าของสัตว์เลี้ยง ผมจะใช้คำว่า “โรคสมองเสื่อม” ใน ณ ที่นี้แล้วกันครับ

(ซึ่ง ต้องต้องอธิบายก่อนว่า อาการสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ในบทความนี้ ผมจะหมายถึงเฉพาะ กลุ่มอาการ CDS ที่มักพบในสุนัขแก่ เท่านั้นนะครับ)

ที่นี้ถ้าถามว่ามีสุนัขและแมวเป็นอาการนี้เยอะแค่ไหน ก็ต้องตอบว่าเยอะมากครับ

จากการศึกษาในต่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่าสุนัขที่อายุ 11-12 ปี มีโอกาสเป็นอาการนี้สูงถึง 28%

และหากอายุ 15-16 ปี มีโอกาสเป็นอาการนี้สูงถึง 68 %

ถ้าเป็นในแมว แมวที่อายุ 11-14 ปี มีโอกาสเจอ 28% และแมวที่อายุมากกว่า 15 ปี จะเจอเกินกว่าครึ่งเลยทีเดียว

ซึ่งสาเหตุของอาการนี้เกิดจากการสะสมของเศษคราบสาร เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ในสมอง ทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานของสมองลดลง ซึ่งกระบวนการนี้เหมือนกับการเกิด โรคอัลไซเมอร์ ในมนุษย์

อาการที่สังเกตเห็นได้มีหลายอย่าง แต่เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ จะกำหนดเป็นตัวอักษรย่อ 5 ตัวว่า “DISHA”

D ย่อมาจาก DISORIENTATION คือ บางทีก็เดินหลงๆ วนๆ แม้ว่าจะเป็นบริเวณที่คุ้นเคย

I ย่อมาจาก INTERRACTION CHANGES คือ การตอบสนองเปลี่ยนไป เรียกก็ไม่มา ไม่ค่อยเล่นด้วย กลับมาบ้านก็ไม่วิ่งเข้ามาดีใจเหมือนแต่ก่อน แต่ก็พบว่าสัตว์เลี้ยงบางตัวอาจจะติดเจ้าของมากขึ้น

S ย่อมาจาก SLEEP/WAKE CYCLE คือ นอนกลางวันเยอะ และตื่นกลางคืนแทน

H ย่อมาจาก HOUSESOILING คือ เริ่มขับถ่ายในบ้าน ขับถ่ายไม่เป็นตามเวลา ไม่เป็นที่เป็นทาง ควบคุมการขับถ่ายได้ไม่ดี

A ย่อมาจาก ACTIVITY LEVEL CHANGES คือ ความตื่นตัวเปลี่ยนไป บางตัวอาจจะเริ่มเฉื่อย เริ่มซึม กินน้อยลง ตื่นตัวน้อยลง เดินสำรวจน้อยลง ในขณะที่บางตัว อาจจะร้องหรือเห่าไม่มีสาเหตุ มีอาการวิตกกังวลสูง อยู่ตัวคนเดียวไม่ได้ เป็นต้น

ซึ่งหากมีอาการข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อรวมกัน ก็มีสิทธิเป็นอาการสมองเสื่อมได้ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า มีอีกหลายๆโรคที่สัตว์เลี้ยงอาจจะแสดงอาการคล้ายกันนะครับ

เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าสงสัยก็ควรที่จะพาสัตว์เลี้ยงไปให้สัตวแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทหรือพฤติกรรมตรวจดู อย่าได้วินิจฉัยเองเพราะจะผิดพลาดได้

สำหรับเรื่องการรักษา ต้องบอกก่อนว่า ไม่มีวิธีรักษานะครับ แต่สามารถควบคุมชะลออาการไม่ให้พัฒนารวดเร็วและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงได้

การควบคุมชะลออาการนั้นสามารถทำร่วมกันได้หลายอย่างเช่น

1.การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น อยู่กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น มีเวลาเล่นกับเขามากขึ้น หาของเล่นให้ มีกิจกรรมออกกำลัง ท้าทายสมอง ฝึกสอนอะไรใหม่ๆ เพื่อลับคมในสมอง

2.มีการปรับเปลี่ยนอาหาร เช่น จะมีอาหารบางยี่ห้อที่ออกแบบมาเฉพาะกับสุนัขอายุมาก เสริมวิตามิน และ สารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งการได้รับสารอาหารที่ดีจะช่วยได้อย่างมาก

3.อาหารเสริม เช่น พวกสารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินทั้งหลาย ที่แนะนำโดยสัตวแพทย์

4.ใช้ยาที่ออกฤทธิ์ทางประสาท ซึ่งการใช้ยานี้ต้องอยู่ในการควบคุมของสัตวแพทย์และอาจจะกระทบกับยาที่ใช้ตัวอื่นๆ เช่น ยาป้องกันเห็บหมัด เป็นต้น

ซึ่งเพื่อที่จะชะลออาการให้ได้ผล อาจจะต้องทำหลายๆวิธีร่วมกัน และทั้งหมดนี้ควรจะอยู่ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์เฉพาะทาง

เพราะอย่างที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น มันอาจจะมีหลายๆโรคที่อาการคล้ายคลึงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล้วไม่ควรวินิจฉัยเอง หรือ รักษาอาการด้วยตนเอง

ก็อยากจะฝากไว้กับเจ้าของทุกๆท่านนะครับ เพราะซักวันสัตว์เลี้ยงของเราก็จะแก่ตัวลง และพบกับความเสี่ยงของอาการสมองเสื่อม จึงอยากให้ทุกๆท่านตระหนักถึงความสำคัญของกลุ่มอาการสมองเสื่อมเอาไว้

และถ้าจะให้ดี ฝากไลค์ กดแชร์โพสต์ เพื่อท่านจะได้ช่วยสัตว์เลี้ยงได้อีกหลายๆบ้านนะครับ เขาจะได้มีความรู้ และจะได้สังเกตอาการ พาไปหาสัตวแพทย์ได้ทันถ่วงที

สามารถกดติดตามเพจได้ ผมจะมีลงเนื้อหาสาระสุขภาพสัตว์เลี้ยงไว้เป็นระยะครับผม

วันนี้ขอลาแค่นี้ไปก่อนครับ สวัสดีครับ

หมอพาย


#โรคสมองเสื่อม
#สุนัข
#แมว
#สัตว์เลี้ยง

สวัสดีครับ วันนี้ผม นายสัตวแพทย์ ภัทรพงศ์ หรือ หมอพายนะครับ จะมาพูดเรื่องที่สำคัญมากๆ การอ่านตรงนี้ หรือแชร์บทความอันนี้...
03/05/2021

สวัสดีครับ วันนี้ผม นายสัตวแพทย์ ภัทรพงศ์ หรือ หมอพายนะครับ จะมาพูดเรื่องที่สำคัญมากๆ การอ่านตรงนี้ หรือแชร์บทความอันนี้ออกไปจะสามารถช่วยชีวิตสัตว์ได้อีกหลายชีวิตมากๆเลยครับ

เรื่องที่จะพูดวันนี้ก็คือ “โรคเหงือกและฟัน กับอันตรายที่ไม่นึกถึง” ถ้าถามว่าอันตรายแบบไหน ก็ต้องตอบว่ามีโอกาสถึงแก่ชีวิตได้นะครับ แต่อาการจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เจ้าของส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงความเชื่อมโยงมากกว่า

ก็มาเริ่มกันเลยดีกว่านะครับ อันที่จริงผมเขียนว่าโรคเหงือกและฟันใน ณ ที่นี้ เพื่อที่จะได้เข้าใจง่าย แต่จริงๆชื่อทางวิชาการที่ถูกต้องคือ โรคปริทันต์ (periodontal disease) คำว่า ปริ แปลว่า โดยรอบ ส่วนคำว่า ทันต์ แปลว่ากำหนด ก็คือโรคที่เกิดรอบฟันนั้นเอง ซึ่งก็หมายถึง เหงือกอักเสบ เหงือกร่น และโรคที่เกิดกับเอ็นยึดฟันและกระดูกเบ้าฟัน เป็นต้น ซึ่งสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงทั่วไปๆ ที่เห็นชัดที่สุดก็คือ หินปูน นั้นแหละครับ

ความจริงแล้วจุดเริ่มต้นมันมาจาก แผ่นคราบก่อนที่เกาะตามฟัน แผ่นคราบสกปรกพวกนี้ก็จะเป็นที่สะสมของเชื้อโรคครับ แล้วมันก็จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาการสะสมของธาตุแคลเซียมที่อยู่ในน้ำลาย ก่อให้เกิดหินปูนขึ้นมาครับ

ทีนี้ยิ่งนานวันเข้า หินปูนพวกนี้ก็จะหนาขึ้นเรื่อยๆ เชื้อโรคที่สะสมก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบบริเวณขอบเหงือกและร่องเหงือก หนักขึ้นก็จะมีผลต่อกระดูกเบ้าฟัน และมีเลือดออก

สิ่งสำคัญคือ ไม่จำเป็นที่สัตว์เลี้ยงของเราต้องอายุมากนะครับถึงจะมีปัญหานี้
พบว่าสุนัขหรือแมวที่อายุแค่ 3 ปี ก็มีโอกาสเจอหลายตัวแล้ว

และนี้คือ จุดเริ่มต้นของฝันร้ายแบบที่เจ้าส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว

1.สัตว์เลี้ยงของเราจะเจ็บปาก และทานยากมากขึ้น ซึ่งมีผลโดยตรงกับสุขภาพสัตว์

สัตว์จะเลือกทานมากขึ้น หรือหลีกเลี่ยงการทานอาหารเม็ดที่ต้องเคี้ยว เพราะว่าจะเจ็บเวลาเคี้ยว นานวันเข้าสุขภาพก็จะทรุดโทรม เพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ทำให้ไม่แข็งแรง เจ็บป่วยได้ง่าย และอายุไม่ยืน

ซึ่งผมสังเกตเห็นเจ้าของหลายๆคนบอกว่าสุนัขตัวเองไม่ป่วยแต่เลือกทาน ซึ่งความจริงแล้วสัตว์เลี้ยงอาจจะเจ็บปากเจ็บฟัน เจ็บเหงือก แต่พูดไม่ได้ ทำให้เจ้าของไม่ทราบ คิดว่าสุนัขเลือกทาน หรือทานยากโดยนิสัย

2.เกิดฝีที่ใบหน้า โดยเฉพาะใต้ตา

เพราะมีการลุกลามติดเชื้อเข้าไปที่รากฟัน ทำให้รากฟันอักเสบและเป็นโพรงหนองติดเชื้อที่บริเวณใบหน้า ซึ่งจะทำให้สัตว์เลี้ยงเจ็บปวด บางทีรากฟันก็อักเสบลึกไปถึงโพรงจมูก ทำให้มีน้ำมูก หรือปัญหาทางเดินหายใจได้ และอาจจะเป็นหนักถึงกระดูกกรามแตกและหักได้ แต่เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง ค่อยเป็นค่อยไป บางทีเราอาจะไม่ทันสังเกตว่าสุนัขของเราเจ็บป่วยอยู่ คิดว่ามันแก่ ก็เลยซึมเฉยๆ ก็มี ซึ่งต้องบอกว่ามีเจ้าของหลายๆคนไม่ได้สังเกตจุดนี้ แล้วไม่ได้คิดว่าทำไมสุนัขของตัวเองถึงมีน้ำมูก จามตลอด หรือเหมือนหน้าตรงขอบตาบวมๆ แบบนี้เป็นต้น

3.ติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอันนี้แหละครับที่อันตรายมากถึงมากที่สุด เชื้อโรคที่หมักหมมในช่องปากสามารถหลุดรอดเข้าสู่กระแสเลือดได้ครับ และเชื้อโรคเหล่านี้จะไหลไปตามกระแสโลหิตเข้าไปยึดติดกับอวัยวะสำคัญๆของ ร่างกาย เช่น หัวใจ ตับ และ ไต นำมาซึ่งโรคเรื้อรัง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของสัตว์ และเสี่ยงต่อชีวิตด้วยในระยะยาว ซึ่งเจ้าของจำนวนมาก ไม่ทราบว่า สุนัขที่เป็นโรคในช่องปาก จะเสี่ยงกับ โรคตับ โรคไต และโรคหัวใจได้

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่า การติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างเรื้อรังนั้น จะโน้มนำทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคปอด หรือแม้กระทั่งโรคระบบประสาทได้ ถึงแม้จะไม่มีการรายงานอย่างชัดเจนก็ตาม

คราบหินปูนในช่องปากของสัตว์เลี้ยงของท่านนั้นจึงเป็นเรื่องที่ซีเรียสมากๆนะครับ

เพราะฉะนั้นแล้ว อยากให้ทุกท่านตรวจสัตว์เลี้ยงของท่านเองตอนนี้เลย ด้วยการเอานิ้วดันริมฝีปากไปข้างหลัง เพื่อให้เห็นฟันกรามที่อยู่ด้านใน ไม่ต้องอ้าปากนะครับ เพราะสัตว์เลี้ยงคงไม่ยอม และก็คงไม่เห็นชัดเจนเท่าไหร่

ส่วนสิ่งอื่นๆ ที่อาจจะสังเกตเห็นได้นอกจากคราบหินปูนก็คือ

1.กลิ่นปากที่รุนแรง

2.ชอบเอาเท้ามาก่ายหรือเขี่ยที่ปากเหมือนมีอะไรติดฟัน

3.น้ำลายไหลเยอะ

4.เลือกทานอาหารมากขึ้น เพราะเจ็บปาก ไม่อยากเคี้ยว

5.เหงือกบวมร่นและอักเสบ

6.มีเลือดออกตามไรฟันและปนกับน้ำลาย
7.ฟันโยกหรือหลุดออก

8.สุนัขเจ็บปาก ไม่ค่อยให้จับ

9.หน้าบวม โดยเฉพาะตรงบริเวณใต้ตาอันเนื่องจากฝีรากฟัน

ซึ่งพบมั่นใจว่าเจ้าของหลายๆคนจะเห็นคราบที่ฟันกรามและหินปูนที่ตัวเองไม่เคยได้สังเกตมาก่อนอย่างแน่นอน

ทีนี้เห็นแล้วทำยังไงต่อล่ะครับ?

ขั้นตอนแรกสุดคือ พาไปปรึกษากับสัตวแพทย์เลยครับ เพราะต้องให้คนที่มีความรู้ความเข้าใจมาตรวจถึงจะบอกว่าปัญหารุนแรงแค่ไหน แล้วต้องแก้ไขอย่างไร บางทีก็แค่ขูดหินปูน หรืออาจจะต้องถอนฟัน วางยาผ่าตัดเลยก็มี แต่ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือยิ่งปล่อยไว้นานก็จะยิ่งแย่ เพราะฉะนั้นเมื่อเจอปัญหาแล้ว ก็ควรพาไปพบ ไปปรึกษากับสัตวแพทย์โดยเร็ว เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น โรคเหงือกและหินปูนสามารถสร้างปัญหารุนแรงให้กับชีวิตสัตว์ได้มากกว่าที่คิด

ทีนี้ถ้าถามว่าจะป้องกันอย่างไรไม่ให้สัตว์เลี้ยงมีหินปูนตั้งแต่ต้น?
คำตอบก็คือดูแลช่องปากด้วยการแปรงฟันให้แก่สัตว์เลี้ยงเป็นประจำทุกวันนั้นแหละครับ ถ้าไม่สะดวก ก็ควรที่จะ 3 ครั้งในหนึ่งอาทิตย์เป้นอย่างต่ำ ซึ่งก็ต้องใช้ยาสีฟันสำหรับสัตว์เลี้ยงเท่านั้นนะครับ ห้ามใช้ยาสีฟันของคนเพราะอาจจะเป็นพิษได้

การเริ่มแปรงฟันนั้น ก็เริ่มได้เมื่อสัตว์มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป เพราะจะเริ่มโตหน่อย สัตว์มีความนิ่งมากขึ้นกว่าตอนเด็กๆ และฟันแท้ก็เริ่มขึ้นมาแล้ว (ถ้าแปรงตอนอายุเด็กกว่านี้ อาจจะไม่ยอมเพราะซน หรือเจ็บฟันน้ำนมแทน)

ส่วนถ้าสัตว์เริ่มอายุมากแล้ว จะให้เริ่มแปรงฟันเลยอาจจะตกใจและไม่ยอม อาจจะต้องค่อยๆฝึก ค่อยๆทำ อาจจะใช้ปลอกนิ้วแปรงฟันแทนการใช้แปรงสีฟันก่อนในระยะแรก เพื่อให้สัตว์เคยชิน

และในปัจจุบันมีอะไรอื่นๆอีกนอกจากยาสีฟันที่สามารถช่วยได้ ยกตัวอย่างเช่น เจลาทาฟันละลายหินปูน แผ่นเช็ดฟัน น้ำยาป้องกันคราบหินปูนที่ใส่ในน้ำดื่มของสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์แบบอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งก็จะต้องมีความสม่ำเสมอในการใช้ผลิตภัณฑ์นะครับ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการลดและป้องกันการเกิดคราบหินปูนให้มากที่สุด

ส่วนอาหารหรือขนมขัดฟันที่ออกแบบมาเป็นพิเศษนั้น ก็สามารถที่จะช่วยเรื่องนี้ได้เหมือนกัน แต่ส่วนตัวหมอเห็นว่า การใช้แค่ขนมขัดฟันนั้น ไม่เพียงพอ ต้องร่วมกับการป้องกันอื่นด้วยถึงจะดีที่สุดครับ

และที่สำคัญมากๆ คือ การพาไปให้สัตวแพทย์ตรวจสุขภาพทุก 6-12 เดือน เพื่อดูว่าจะต้องทำอะไรกับช่องปากมั้ย เช่น การขูดหินปูนเป็นต้น

สุดท้ายนี้หมออยากจะฝากย้ำอีกครั้งว่า การดูแลสุขภาพช่องปากของสัตว์เลี้ยงเรานั้นทั้งสุนัขและแมวนั้น เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพียงแต่อาการมันอาจจะค่อยเป็นค่อยไป เจ้าของจึงมักไม่ทันที่จะสังเกตเห็นหรือตระหนักถึงภัยร้ายดังกล่าว

เพราะฉะนั้นหมอจึงอยากให้ กดแชร์โพสต์นี้ออกไปให้เยอะๆนะครับ เพราะอาจจะช่วยได้อีกหลายชีวิตเลยแหละครับ
วันนี้ผม นายสัตวแพทย์ภัทรพงศ์ หรือ หมอพาย ขอลาไปก่อน แล้วจะกลับมาเขียนสาระสำคัญๆ ต่อในช่วงถัดไปนะครับผม

#หมอพาย

#หินปูน
#คราบหินปูน
#โรคเหงือกและฟัน
#สัตว์เลี้ยง
#สุนัข
#แมว

Address


Alerts

Be the first to know and let us send you an email when DoctorPie สุขภาพสัตว์เลี้ยง posts news and promotions. Your email address will not be used for any other purpose, and you can unsubscribe at any time.

Videos

Shortcuts

  • Address
  • Alerts
  • Videos
  • Claim ownership or report listing
  • Want your business to be the top-listed Pet Store/pet Service?

Share

I Am Doctor Pie

สวัสดีครับ, ผม ด็อกเตอร์ พาย นายสัตว์แพทย์ ภัทรพงศ์ ลิ้มอุดมพร ในฐานะสัตว์แพทย์ นอกจากจะทำการรักษาสัตว์ และเป็นเจ้าของร้านตัดขนหมาที่ขายอาหาร,ขนมน้องหมา เปิดทำการมา 4 ปี ผมได้ให้คำปรึกษาแก่เจ้าของน้องหมาน้องแมว ที่แวะเวียนมาใช้บริการมามากกว่า 500 ตัวทำให้ผมพบเจอปัญหาประจำวันของน้องหมา แมว มากมาย ผมอยากแชร์ประสบการณ์และ ปัญหาประจำวันที่เจอ มันจะทำให้คุณและน้องหมา อยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขแน่นอนครับ