27/11/2020
🌳♥️🐿
ต้นไม้เยอะ ก็เพราะ "กระรอก" ขี้ลืม
รู้หรือไม่ สัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่าง “กระรอก” คือนักปลูกต้นไม้มือทองที่ช่วย “ปลูกต้นไม้” ให้ธรรมชาติไม่น้อยหน้าสัตว์ชนิดไหน
เพียงแต่วิธีการของกระรอกนั้น ออกจะต่างไปจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ อยู่สักหน่อย...
โดยทั่วไป เราพบว่าสัตว์ต่าง ๆ ช่วยขยายพันธุ์พืชผ่านก้อนอึ เช่น นก หรือสัตว์กีบ หรือการช่วยผสมเกสรดอกไม้ตามวิถีของแมลง
แต่กรณีของกระรอก - พวกมันปลูกต้นไม้ด้วยการ “ปลูก” จริง ๆ ทั้งขุดดิน หย่อนเมล็ดหรือลูกไม้ แล้วกลบหลุมอย่างเรียบร้อย
พฤติกรรมที่กล่าวมานี้ จริง ๆ แล้ว เป็นการกักตุนอาหารตามนิสัยของกระรอก เพื่อเก็บอาหารไว้กินทีหลัง
แต่ความที่กระรอกฝังอาหารไว้เยอะมาก ทำให้บางครั้ง พวกมัน “จำไม่ได้” ว่าฝังอาหารไว้ที่ไหน
นอกจากนี้ กระรอกดังได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีความพิถีพิถันในการซ่อนอาหารมาก...
ปกติ กระรอกจะฝังลูกไม้ลึกประมาณ 1 นิ้วใต้พื้นดิน ใกล้ ๆ รัง แต่พวกมันก็มักปรับเปลี่ยนที่ซ่อนอยู่เสมอ หรือไม่ก็อาจแกล้งขุดหลุมเปล่า หลอกล่อสัตว์หรือกระรอกตัวอื่น ให้เข้าใจผิด...
แต่สุดท้ายกลายเป็นว่า "เจ้าตัวก็กลับเข้าใจผิด และลืมเองเอาดื้อ ๆ ว่า ฉันฝังอาหารไว้ตรงไหนกันนะ???"
กระรอกส่วนใหญ่จะหาอาหารที่ซ่อนไว้เจอเกือบ 90% แต่อีก 10% พวกมันจะหาไม่เจอ
เอวัง...เมล็ดพืชที่กระรอกลืมไว้ เลยมีโอกาสเติบใหญ่ขึ้นเป็นต้นไม้ และกระรอกได้ใช้ประโยชน์ รวมถึงสัตว์ชนิดอื่น ๆ ก็ได้เข้ามาใช้ประโยชน์เพราะกระรอกไปด้วย
ทั่วโลกมีกระรอกอยู่มากมายหลายชนิด ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากแต่ละชนิดมีความคล้ายคลึงกันมาก
** พฤติกรรมขี้ลืมนี้ พบในกระรอกเขตหนาว เพราะอาหารไม่อุดมสมบูรณ์จึงต้องพยายามสะสมอาหารไว้ ส่วนกระรอกในเขตร้อน เรียกได้ว่า...กินทิ้งกินขว้างเลยทีเดียว**
สำหรับกลุ่มกระรอกที่พบในประเทศไทย จำแนกชนิดของกระรอกทั้งหมดได้ 30 ชนิด และบางชนิดถูกขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อป้องกันการสูญพันธุ์
สามารถตรวจสอบรายชื่อกระรอกที่ขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองได้ที่ https://bit.ly/3fX0eCS
PHOTO: วรรณชนก สุวรรณกร
MODEL: กระรอกดินแก้มแดง
#สัตว์ป่าน่ารู้ #รู้หรือไม่ #ร่วมรักษาให้สัตว์ป่าคงอยู่
#สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า