23/05/2022
ฝากท่านผู้ว่าด้วยนะคะ💚
[DOG TALK] 🐶 สังคมจะดีขึ้น สวัสดิภาพสัตว์จะดีขึ้น ... ตามไปดู 3 นโยบายเพื่อสัตว์เลี้ยงและสัตว์จรจัด ของคุณ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ #ผู้ว่าราชการกรุงเทพที่แข่งแกร่งที่สุดในปฐพี
🎉 ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับชาว กทม ทุกคนด้วยนะคะ ที่กำลังจะมีผู้ว่าราชการคนใหม่มาพัฒนาเมืองต่อแล้ว (เหลือแต่รอ กกต. รับรองเท่านั้น) และใน 200 กว่านโยบายของคุณชัชชาติ ก็มี 3 นโยบายที่มีประโยชน์มาก ๆ สำหรับคนรักสัตว์และสังคมค่ะ
📣 นโยบายขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตลอดช่วงชีวิต
รายละเอียด : ในปี 2550 เคยมีนโยบายการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงและฝังไมโครชิปมาแล้ว แต่หลังการออกข้อบัญญัติเรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข ผลปรากฏว่าระยะเวลาผ่านมากว่า 15 ปี กทม.ดำเนินการฝังชิปได้จำนวนน้อยมาก เพราะไม่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการบังคับให้ปฏิบัติอย่างจริงจัง และกทม.มีศูนย์บริการที่เป็นคลินิกสัตวแพทย์จำนวนจำกัด สามารถให้บริการได้ไม่เพียงพอ
ซึ่งจริง ๆ แล้วการฝังชิปมีประโยชน์หลายด้านมาก เช่น ป้องกันสัตว์เลี้ยงสูญหาย ป้องกันการปล่อยปละละเลยให้สัตว์เป็นสัตว์จรที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่น และสามารถช่วยในการยืนยันตัวตน ส่งผลต่อการพัฒนาสายพันธุ์ ป้องกันการซื้อ-ขายผิดตัว และการประกวดในกลุ่มคนรักสัตว์เลี้ยงได้
‼ สิ่งที่ กทม. จะดำเนินการต่อก็คือ
1️⃣ ออกตรวจตรา ขึ้นทะเบียน ดูแลกำกับกิจการที่เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ (ฟาร์มเลี้ยง) และร้านค้าจำหน่ายสัตว์เลี้ยง ที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลขึ้นทะเบียนของ กทม. ผ่านการดูแลกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
2️⃣ ร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการฟาร์มและร้านจำหน่าย คลินิกสัตวแพทย์เอกชน โรงพยาบาลสัตว์ ในการผลักดันการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดความเสี่ยงที่เจ้าของซื้อไปแล้วอาจปล่อยปละสัตว์เลี้ยงให้เป็นสัตว์จร ซึ่งเป็นการกระทำผิดที่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้
3️⃣ สัตว์เลี้ยงทั้งน้องหมาและน้องแมวที่มีเจ้าของดูแลในปัจจุบัน กทม.จะดำเนินการทยอยเปิดขึ้นทะเบียน โดยเริ่มจากการเปิดรอบแสดงความจำนงและขึ้นทะเบียนฝังชิป โดยการขึ้นทะเบียน กทม.จะช่วยสนับสนุนและร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เพื่อเป็นแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการ และดำเนินตามนโยบาย รวมถึงการยื่นเรื่องขึ้นทะเบียนสำหรับสัตว์เลี้ยงเกิดใหม่ในอนาคต
📣 นโยบายจัดระเบียบสัตว์จร แก้ปัญหาผ่านการจัดการอย่างเป็นระบบ
ปัญหาสัตว์จรถือว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมมาก โดยในพื้นที่ กทม. คาดว่ามีน้องหมาจรจำนวนมากถึง 160,000 ตัว ซึ่งจำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอกับศูนย์พักพิงของทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม
‼ สิ่งที่ กทม. จะดำเนินการต่อก็คือ
1️⃣ จัดชุดออกปฏิบัติการทำหมันและฉีดวัคซีนเชิงรุก ทำโดยด้วยการคัดเลือกพื้นที่เร่งด่วนและจัดลำดับความสำคัญ การดำเนินการต่อเนื่องแบบพื้นที่ปิดและพื้นที่ใกล้เคียงตามกลุ่มเขต ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ คลินิกเอกชน และคณะสัตวแพทย์ ในระดับมหาวิทยาลัย เร่งตัดวงจรสัตว์จรให้หมดในช่วงอายุและไม่ขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ และทำฐานข้อมูลทั้งหมาและแมวจรให้เป็นปัจจุบันและลงรายละเอียดระดับพื้นที่
2️⃣ เปลี่ยนหมาจรเป็นสุนัขชุมชน โดยขึ้นทะเบียนและติดสัญลักษณ์หลังจากมีการทำหมันฉีดวัคซีนแล้วในสัตว์จรที่ไม่ดุร้ายและมีประชาชนหรือชุมชนช่วยกันดูแลในละแวกพื้นที่ โดยเป็นไปตามความสมัครใจของชุมชนและการมีส่วนร่วมของพื้นที่
3️⃣ ปรับปรุงศูนย์พักพิงของ กทม. และกำกับดูแลศูนย์ของเอกชนให้มีมาตรฐานตามมาตรฐานสากล ร่วมมือกับสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ภาคประชาสังคม ตลอดจนองค์กรไม่แสวงหากำไรในต่างประเทศในการควบคุมดูแลมาตรฐานศูนย์พักพิงอิสระของภาคประชาสังคม ในเรื่องสวัสดิภาพสัตว์และสภาพแวดล้อมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณข้างเคียง
4️⃣ ส่งสัตว์จรกลับสู่สถานะสัตว์เลี้ยง (Adopt Not Shop) ผ่านการมีบ้านและเจ้าของใหม่ที่มีความพร้อม ด้วยขั้นตอนการสมัคร การสัมภาษณ์ ตลอดจนการดูความพร้อมของเจ้าของ เช่น อาชีพการงาน และลักษณะที่อยู่อาศัยที่มีความเหมาะสมกับสายพันธุ์ รูปแบบการดำเนินงานผ่านการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางของ กทม. รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมต่างๆ (อีเวนต์) ร่วมกับภาคประชาสังคมและภาคเอกชน
📣 นโยบายพิจารณาให้นำสัตว์เลี้ยงไปออกกำลังกาย ในสวน กทม.ได้
นโยบายนี้เกิดจากแนวคิด สวนสาธารณะใน กทม. นอกจากออกแบบสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับผู้ใช้งานแล้ว ต้องคำนึงถึงเพื่อน ๆ ของประชาชนกรุงเทพฯ อย่างสัตว์เลี้ยงจำพวกหมาหรือแมวด้วย ตัวอย่างเช่น บึงหนองบอนเป็นหนึ่งในสวนภายใต้การดูแลของ กทม.ที่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าสวนฯ ได้ แต่ที่ผ่านมาก็มีข้อพิพาทอยู่เป็นระยะๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่สวนฯ ที่ได้จัดทำแผ่นป้ายมาแปะประกาศห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้า โดยไม่สามารถอธิบายถึงสาเหตุการห้ามชั่วคราวนี้แก่ประชาชนได้
ดังนั้น กทม.จะพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าภายในสวนฯ ได้ โดยเน้นการกระจายตัวของพื้นที่ที่อนุญาต และต้องมีมาตรการในการรักษาความสะอาด และความปลอดภัยต่อผู้อื่นในพื้นที่ที่ชัดเจน รวมถึงการประกาศให้ชัดเจนถึงแนวทางอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน
แอดมินและชาว กทม. คนรักสัตว์ทุกคน ขอฝากความหวังไว้กับคุณชัชชาติด้วยนะคะ 💚
Dogilike รู้จริงเรื่องน้องหมา เปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาเม้ามอย พร้อมแชร์เรื่องราวและรูปภาพสุดน่ารักของน้องหมา เพื่อน ๆ สามารถกดติดตามเพจกันได้เลยน้า ^^
#คุยเล่นเรื่องน้องหมา