19/10/2016
ปูเจ้าพ่อหลวง ปูน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของไทย
ปูเจ้าพ่อหลวง มีชื่อสามัญว่า Giant Mountain Crab มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Potamon bhumibol แต่ชาวบ้านที่เมืองเลยเรียกว่า ปูหิน
แม้ชาวบ้านในจังหวัดเลย และจังหวัดใกล้เคียงจะรู้จักปูหินมาเป็นเวลานานพอๆ กับที่คนทะเลรู้จักกุ้ง และกินมันเป็นอาหารเช่นกัน แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว พึ่งจะค้นพบปูชนิดนี้ เมื่อ 19 มีนาคม 2519
ศาสตราจารย์ ไพบูลย์ นัยเนตร แห่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ถือว่าเป็นผู้ค้นพบปูชนิดนี้ในทางวิทยาศาสตร์ เป็นปูน้ำจืดตัวใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ขนาดกระดองประมาณ 8.2 เซนติเมตร ดังนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นนามปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก เพื่อเป็นการเฉลิมพระกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ และได้รับพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2543
ลักษณะเด่นของปูเจ้าพ่อหลวงมี 3 สี คือ สีน้ำตาลเข้ม สีม่วง และสีส้ม โดยกระดองจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม ขาเดิน 4 คู่ และขาก้ามทั้งสองข้างเป็นสีน้ำตาลเข้ม ยกเว้นด้านในของก้ามหนีบอันล่างเป็นสีม่วง และปลายก้ามหนีบทั้งสองข้างเป็นสีส้ม เป็นปูน้ำจืดตัวใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ปูเจ้าพ่อหลวง อาศัยอยู่ตามลำธารที่ค่อยข้างสะอาดในป่า ตามใต้ก้อนหิน หรือขุดรูอยู่ตามรากไม้ ลำธารสาขาของแม่น้ำเลยในเขตป่าภูหลวง ถือได้ว่าเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของปูชนิดนี้
ปูเจ้าพ่อหลวง ถือว่าเป็นปูที่มีรสชาติอร่อยที่สุดของชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบป่าภูหลวง โดยในหน้าหนาวที่ปูมีการสะสมไขมัน ชาวบ้านจะนำกระดูกไก่ ไปล่อปูให้ออกมาจากใต้ก้อนหิน หรือจากรู และจับมากินเป็นอาหารชั้นยอด
#ปูเจ้าพ่อหลวง
เครดิต oknation