05/08/2021
หนึ่งงานวิจัย...ต่อลมหายใจของแมวทั้งโลก
ก่อนจะมาเป็นที่ยอมรับว่าเป็นยาต้านโคโรน่าไวรัสในแมวที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย “GS-441524”ผ่านการทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกลายมาเป็นทางรอดทางเลือกเดียวของแมวที่เป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบจากเชื้อโคโรน่าไวรัส ซึ่งทั้งหมดนี้เริ่มต้นด้วยงานวิจัยชิ้นเล็กๆเมื่อไม่กี่ปีก่อน
งานวิจัยชิ้นแรกโดย Dr. Murphy จากแผนกพยาธิวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้คัดเลือกแมวที่โตเต็มวัยมาทั้งหมด 12 ตัว แล้วทำการฉีดเชื้อ serotype I FIPV-m3c-2 strain เข้าทางช่องท้อง จากนั้นประชากรแมวประมาณ 80% จะเริ่มมีอาการติดเชื้อ FIP คือ มีไข้ เม็ดเลือดขาวต่ำ ไม่อยากอาหาร ดีซ่าน และท้องมานภายในเวลา 2-3 สัปดาห์ ณ จุดนี้ที่แมวแสดงอาการป่วยอย่างชัดเจน (ไม่เกิน 3 วัน) ทางคณะจะเริ่มการทดลองรักษาด้วย GS-441524 ปริมาณ 5 mg./kg. SC SID (กลุ่ม A, n = 5) และ 2 mg./kg. SC SID (กลุ่ม B, n = 5) เป็นเวลานาน 2 สัปดาห์ แมวอีก 2 ตัวที่เหลือไม่แสดงอาการป่วยใด ๆ จึงถูกใช้เป็นตัวแปรควบคุม แมวบางตัวได้รับการรักษาด้วยการให้สารน้ำเสริมฉีดใต้หนัง 50 cc. SID และ meloxicam 0.2 mg./kg. PO SID เพื่อสวัสดิภาพสัตว์ แต่การรักษานี้จะถูกหยุดทันทีเมื่อเริ่มให้ GS-441524
หลังการทดลองรักษา 2 สัปดาห์จบลง หากพบว่ามีการกลับมาเป็นซ้ำของ FIP (ซึ่งมักเกิดในช่วง 4 สัปดาห์หลังเริ่มทดลองรักษา) คณะวิจัยก็จะทำการรักษาซ้ำด้วยวิธีเดิมต่ออีกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นแมวทุกตัวจะถูกติดตามอาการต่อเนื่องเป็นเวลา 8 เดือน เพื่อดูการกลับมาเป็นซ้ำของ FIP ผลลัพธ์ที่ได้คือแมวที่ได้รับการรักษาด้วย GS-441524 ทั้ง 2 กลุ่ม มีอาการที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วและสามารถหลีกเลี่ยงการเสียชีวิตจาก FIP ได้ มีแมว 2 ตัวที่เกิดการเป็นซ้ำ แต่ก็มีอาการที่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษาในแบบเดิม โดยแมวทั้ง 10 ตัวยังคงมีอาการปกติแม้เวลาผ่านไปมากกว่า 8 เดือนหลังได้รับเชื้อ
ในปี ค.ศ. 2019 Dr. Pedersen และคณะได้ทำการศึกษาที่คล้ายคลึงกับทาง Dr. Murphy แต่ต่างกันตรงที่ Dr. Pedersen เลือกกลุ่มประชากรแมวที่จะรักษามาจาก FIP ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติทั้งหมด 31 ตัว โดยยืนยันคำวินิจฉัย FIP จากประวัติ การตรวจร่างกาย ผลเลือดประกอบด้วยความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด โปรตีนในซีรั่ม และการตรวจ RT-PCR ของ FIPV 7b RNA จากน้ำในช่องท้องหรือช่องอก ในกรณีที่เป็น dry form นั้นจะถูกส่งตรวจเพิ่มเติมโดยการตรวจอัลตราซาวด์ ทั้งช่องท้องและช่องอกเพื่อหารอยโรคปฐมภูมิ รวมถึงการส่งตรวจตาและระบบประสาท
ทางคณะได้เริ่มทดลองรักษาโดยใช้ GS-441524 ซึ่งได้มาจากบริษัท Gilead Sciences ในรูปแบบผงนำไปละลายให้ได้ความเข้มข้น 10 - 15 mg./ml. ใน 5% ethanol, 30% propylene glycol, 45% PEG 400, 20% น้ำ (pH1.5 และมี HCl) นำส่วนผสมทั้งหมดใส่ลงในขวดแก้วปลอดเชื้อสำหรับยาฉีดปริมาณ 50 cc. เขย่าขวดจนได้สารละลายแขวนตะกอน จากนั้นนำไปใส่ลงในอ่างน้ำคลื่นความถี่สูงนาน 5 - 20 นาที จนได้สารละลายใสเก็บในตู้เย็นได้ 3 - 4 สัปดาห์ ปริมาณยาที่ใช้ คือ 2 mg./kg. SID SC นาน 12 สัปดาห์ ในแมวบางตัวที่ยังมีค่าซีรั่มโปรตีนผิดปกติจะให้การรักษายืดต่อไปอีก 1 สัปดาห์หรือมากกว่า ในกรณีที่เกิดเกิดอุบัติเป็นซ้ำหรือต้องยืดระยะเวลาการรักษาจะมีการเพิ่มขนาดการให้เป็น 4 mg./kg
ก่อนเริ่มรักษาด้วย GS-441524 แมวจะถูกถอนยาอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นออกทั้งหมด เช่น ยาปฏิชีวนะ, corticosteroid, interferons, pentoxifylline, NSAIDs, และยาแก้ปวด แมวจะถูกเฝ้าดูอาการอยู่ที่ UC Davis ซึ่งเป็นสถานที่ทำการวิจัย และจะได้รับการตรวจอุณหภูมิ ความอยากอาหาร กิจกรรมต่าง ๆ ปัสสาวะ และอุจจาระทุก ๆ 12 ชั่วโมง ได้รับการตรวจเลือดโดยตรวจ Hct, ซีรั่มโปรตีน, บิลิรูบิน, เม็ดเลือดขาว ทุก ๆ 1 - 3 วัน ในส่วนน้ำในช่องท้องจะทำการตรวจหาปริมาณ FIPV 7b RNA transcripts ด้วยวิธี (q)RT-PCR ณ วันแรกรับ และตรวจทุกวัน (หรือมากกว่า) นานเท่าที่จะทำได้ เมื่อแมวมีอาการดีขึ้น (โดยมากจะดีขึ้นใน 3 - 5 วัน) แมวจะถูกส่งกลับบ้านให้เจ้าของดูแลฉีดยา GS-441524 ต่อเนื่อง และบันทึกข้อมูลอุณหภูมิ กิจกรรมต่าง ๆ ความอยากอาหาร ปัสสาวะ อุจจาระ และน้ำหนักตัวเป็นประจำสม่ำเสมอ ทำการตรวจเลือดซ้ำเดือนละครั้ง
ผลลัพธ์ที่ได้พบว่าแมว 26 ตัวที่ได้รับการรักษาอย่างน้อย 12 สัปดาห์มีอาการดีขึ้นอย่างมาก ไข้หายไปภายใน 12 - 36 ชั่วโมงหลังการรักษา ความอยากอาหาร กิจกรรมต่าง ๆ และน้ำหนักตัวดีขึ้นในทุก ๆ วัน ภาวะท้องมานจะหายไปใน 1 - 2 สัปดาห์ น้ำช่องอกจะถูกระบายออกตั้งแต่วันแรกของการรักษา แต่ไม่พบว่ากลับมาเป็นซ้ำอีกหลัง 7 วัน ภาวะดีซ่านค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 2 - 4 สัปดาห์ ความผิดปกติภายในลูกตาเริ่มดีขึ้นภายใน 24 - 48 ชั่วโมง และดูเป็นปกติภายใน 7 - 14 วัน
แมวทั้ง 26 ตัวดูมีอาการปกติจากการประเมินของเจ้าของหลังเริ่มการรักษาได้ 2 สัปดาห์ จากแมวทั้งหมด 26 ตัว มีอยู่ 8 ตัวที่กลับมามีอุบัติการณ์ซ้ำของโรคภายใน 3 - 4 วัน ในกลุ่มนี้มีอยู่ 3 ตัวที่เจ้าของไม่ได้ให้ยาอย่างต่อเนื่องตามกระบวนการ คณะศึกษาจึงได้ทำการเพิ่มปริมาณยา GS-441524 จาก 2 mg./kg. เป็น 4 mg./kg. ผลที่ได้พบว่าแมว 25 ตัว ที่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน 12 สัปดาห์ขึ้นไปนั้นไม่มีอาการของโรค FIP นานสุดคือ 1 ปี 6 เดือน (นับตั้งแต่จบการศึกษาวิจัยจนถึงวันที่ได้ตีพิมพ์) สั้นที่สุดคือ 9 เดือน ผลข้างเคียงของยาฉีด (ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดจากสื่อผสมหรือตัวยาเอง) ที่พบคืออาการเจ็บปวดหลังฉีดยาและปฏิกิริยาการอักเสบ ณ บริเวณที่ฉีด (focal injection site reaction) โดยไม่พบว่ายาทำให้เกิดปัญหาต่อค่าเคมีในเลือดใด
“GS-441524” เป็นยาต้านไวรัสที่ได้รับความสนใจในการนำมาใช้รักษาโรค FIP ช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบันดูจะเป็นความหวังในการรักษา FIP ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ปริมาณยาที่ใช้จากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาคือ 2 - 5 mg./kg. SID SC นาน 14 วัน แต่จากการศึกษาล่าสุดของ Dr.Pedersen ได้ให้ความเห็นว่า 4 mg./kg. SID SC อาจเป็นปริมาณที่มีประสิทธิภาพมากกว่าและควรใช้เป็นปริมาณยาพื้นฐานสำหรับการศึกษาในอนาคตต่อไป ซึ่งมีงานวิจัยออกมารองรับประสิทธิภาพการรักษามากมาย จนวัคซีนตัวนี้กลายมาเป็นความหวังใหม่ในการรักษา FIP อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน