VPN Magazine นิตยสารรายเดือน และ E-magazine สำหรับสัตวแพทย์
สมัครสมาชิกที่ www.readvpn.com
Line :
(1)

VPN (Veterinary Practitioners NEWS)
นิตยสารรายเดือนสำหรับสัตวแพทย์

ออกทุกวันที่ 15 ของเดือน

สามารถติดต่อสั่งซื้อ/สมัครสมาชิกใหม่/ต่ออายุสมาชิก
ได้ผ่านทาง LINE@
แค่คลิ๊ก https://line.me/R/ti/p/%40vpnmagazine
หรือ Line ID : (มี@ด้วย)

เพราะเราเข้าใจว่าสุขภาพของสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ! Lifemate Care+ Treat ขนมแมวเลียเสริมวิตามิน สูตรพิเศษทั้ง 5 น...
24/01/2025

เพราะเราเข้าใจว่าสุขภาพของสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด !
Lifemate Care+ Treat ขนมแมวเลียเสริมวิตามิน สูตรพิเศษทั้ง 5 นี้จึงถูกออกแบบมาเพื่อเป็นตัวเลือกใหม่ที่เหนือกว่าทั้งในด้านสารอาหารและความน่ากิน
✨ 5 สูตรที่ตอบโจทย์สุขภาพแมวในทุกมิติ
1. สูตรเสริม Folic Acid และ Iron Chelate - เพื่อการบำรุงเม็ดเลือดและการสร้างเซลล์ที่แข็งแรง
2. สูตรเสริม Lysine, Beta Glucan และ L-Tryptophan - ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและผ่อนคลาย
3. สูตรเสริม Milk Thistle - เพื่อการดูแลตับและขับสารพิษอย่างมีประสิทธิภาพ
4. สูตรเสริม Calcium Carbonate และ Fish Oil 800mg - บำรุงอวัยวะภายใน ช่วยลดปริมาณฟอสฟอรัสในกระแสเลือด
5. สูตรเสริม DL-Methionine และ Potassium Citrate พร้อม GAGs - ลดโอกาสเกิดนิ่วและเสริมความแข็งแรงให้กระเพาะปัสสาวะ
💡 แตกต่างด้วยส่วนผสมระดับพรีเมียม: ทุกสูตรเสริม Astaxanthin และ Lycopene ซึ่งมีงานวิจัยรองรับในสัตว์เลี้ยงว่าช่วยเสริมสุขภาพในระดับเซลล์
✨ Lifemate Care+ Treat ทางเลือกใหม่ที่สัตวแพทย์มั่นใจได้ในประโยชน์และความอร่อย : ไม่ใช่แค่ขนม แต่คือโภชนาการที่ช่วยเติมเต็มสุขภาพในทุกคำ

โรคข้อเสื่อมในแมว (feline osteoarthritis) คือโรคร้ายที่เกิดจากการเสื่อมบริเวณข้อต่อ ซึ่งสามารถพบได้ในแมวทุกช่วงอายุและทุ...
23/01/2025

โรคข้อเสื่อมในแมว (feline osteoarthritis) คือโรคร้ายที่เกิดจากการเสื่อมบริเวณข้อต่อ ซึ่งสามารถพบได้ในแมวทุกช่วงอายุและทุกสายพันธุ์ การรับมือกับโรคข้อเสื่อมจำเป็นต้องอาศัยการรักษาแบบผสมผสาน หรือ multimodal management ซึ่งหมายถึงการรักษาแบบการใช้ยา และการรักษาแบบไม่ใช้ยา โดยการรักษาแบบการใช้ยามีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการปวด และลดการอักเสบของข้อต่อ และการรักษาแบบไม่ใช้ยามีจุดประสงค์เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ชะลอความเสื่อม ย่นระยะเวลาการดำเนินไปของโรค รวมถึงเพิ่มคุณภาพชีวิตของแมวให้ดีขึ้นตามลำดับ
ทั้งนี้ตัวเลือกสำหรับการรักษาแบบใช้ยาและสารชีววัตถุในปัจจุบันมีหลากหลาย แต่หนึ่งในนวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจซึ่งมาพร้อมผลการรักษาที่น่าพึงพอใจ ให้ระยะเวลาการออกฤทธิ์นาน รวมถึงมีรายงานการเกิดผลข้างเคียงต่ำ นั่นคือสารชีววัตถุที่มีชื่อว่า frunevetmab
Frunevetmab คือสารชีววัตถุซึ่งผลิตด้วยเทคโนโลยี recombinat DNA ลักษณะสารมีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายกับ antibody ของแมว ได้รับการรับรองเพื่อใช้กับแมวโดยเฉพาะ (species specific drug) มีลักษณะเป็น felinized immunoglobulin G monoclonal antibody ซึ่งจะเข้าไปจับกับ nerve growth factor (NGF) อย่างจำเพาะเจาะจง ทั้งนี้ในภาวะที่แมวป่วยด้วยโรคข้อเสื่อม ปริมาณของ NGF บริเวณข้อต่อจะเพิ่มสูงขึ้น เมื่อ NGF จับเข้ากับตัวรับ คือ tropomyosin receptor kinase A (TrkA) จะส่งผลให้เซลล์ประสาทไวต่อการกระตุ้นมากขึ้น (hyperalgesia) เมื่อสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดจับเข้ากับเซลล์ประสาทจึงทำให้เกิดความเจ็บปวดตามมา
นอกจากนี้ NGF ยังสามารถจับกับ TrkA บนเซลล์อักเสบซึ่งส่งผลให้เกิดการกระตุ้นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดมากขึ้นอีกด้วย (ภาพที่ 1 - ดูภาพได้ที่ช่องคอมเมนต์) ดังนั้นเมื่อ frunevetmab จับเข้ากับ NGF จึงส่งผลให้ความไวต่อการกระตุ้นของเซลล์ประสาทที่เกิดจากการจับกันของ NGF ลดลง รวมถึงการหลั่งสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดจากการจับกันของ NGF กับ TrkA บนเซลล์อักเสบลดลงนั่นเอง
สำหรับการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (pharmacokinetics) พบว่าค่าชีวประสิทธิผล (bioavailability) หรือค่าสัดส่วนของสารที่ถูกดูดซึมเมื่อทำการให้เข้าใต้ผิวหนัง (subcutaneous injection; SC) อยู่ที่ 73.2% ± 14.8% โดยที่ปริมาณของสารสูงสุดในกระแสเลือดอยู่ที่วันที่ 3-7 หลังการให้ โดยปริมาณสารจะคงที่ (steady-state concentrations) ภายหลังการให้ 2 ครั้งติดกันในระยะเวลาห่างกันประมาณ 1 เดือน โดยมีค่าครึ่งชีวิตอยู่ที่ 10-12 วัน
ในปัจจุบันสารชีววัตถุ frunevetmab มีรูปแบบของผลิตภัณฑ์ในรูปสารละลาย (solution for injection) ในความเข้มข้น 7 mg/ml ให้ผ่านทางเข้าใต้ผิวหนัง เดือนละ 1 ครั้ง โดยขนาดที่แนะนำแสดงดังตาราง (ตารางที่ 1 - ดูตารางได้ที่ช่องคอมเมนต์)
ในด้านของประสิทธิภาพและความปลอดภัย มีการศึกษาสนับสนุนว่า frunevetmab มีประสิทธิผล (efficacy) ต่อการบรรเทาอาการปวดจากโรคข้อเสื่อม และมีความปลอดภัยสูง หนึ่งในรายงานผลข้างเคียงที่อาจพบได้คืออาการทางผิวหนังใกล้บริเวณที่ให้ยา เช่น ขนร่วง ผื่นภูมิแพ้ คัน และพบการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้สามารถหายไปได้เอง และตอบสนองต่อการรักษาตามปกติ ในด้านของผลการตรวจเลือด เช่น ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete blood count; CBC) ค่าชีวเคมีในเลือด (biochemistry) รวมถึงการตรวจปัสสาวะ (urinalysis) พบว่า frunevetmab ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อค่าเหล่านี้ อย่างไรก็ตามยังคงไม่มีการศึกษาต่อผลจากการใช้ยาในสัตว์ที่มีอาการปวดอันมีสาเหตุมาจากความผิดปกติด้านระบบภูมิคุ้มกัน (immune-mediated arthropathy) การผ่าตัด รวมถึงมะเร็ง
สำหรับข้อห้ามในการให้ยา frunevetmab ห้ามให้ในแมวที่กำลังอยู่ในช่วงผสมพันธุ์ ตั้งท้อง ให้นม หรือลูกแมวที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี เนื่องจากตัวยาจะเข้าไปยับยั่งการหลั่งของ NGF ซึ่ง NGF เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญของการพัฒนาระบบประสาทส่วนกลางในสัตว์ที่กำลังเจริญเติบโต
จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการใช้สารชีววัตถุ frunevetmab เหมาะสำหรับแมวที่มีอาการปวดจากโรคข้อเสื่อม สัตวแพทย์สามารถพิจารณาเลือกใช้สารชีววัตถุนี้ได้ โดยเฉพาะกับแมวที่เจ้าของมีปัญหากับการให้ยา (ให้ยายาก ไม่สะดวกป้อนยาทุกวัน) หรือแมวที่มีความเสี่ยงจากการได้รับยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ เช่น แมวที่ป่วยด้วยโรคไตเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม สัตวแพทย์ควรตรวจติดตามผลหลังการใช้ยาอยู่เสมอเพื่อเฝ้าระวังการเกิดผลอันไม่พึงประสงค์ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อไม่ว่าจะเลือกใช้ยาที่มีความปลอดภัยมากเพียงใดก็ตาม
Frunevetmab นวัตกรรมสารชีววัตถุชนิดฉีดสำหรับระงับอาการปวดจากโรคข้อเสื่อมในแมว เป็นอีกหนึ่งก้าวของการพัฒนาวงการสัตวแพทย์ที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตามการใช้สารชีววัตถุชนิดนี้เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยรับมือกับอาการปวดจากโรคข้อเสื่อมในแมว การรักษาแบบไม่ใช้ยา เช่น การออกกำลังกาย การกายภาพบำบัด การให้อาหารเสริม รวมถึงการให้ความรู้กับเจ้าของเพื่อสามารถดูแลแมวของตัวเองได้อย่างเหมาะสมยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยในการรับมือกับโรคร้ายนี้ เพื่อช่วยให้แมวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ต่อไป
อ่านบทความฉบับเต็มพร้อมทำข้อสอบรับ CE 1 คะแนนได้ที่ : https://readvpn.com/article/detail/2326

แนวทางการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน Basic Life Support (BLS) ฉบับอัปเดต RECOVER Guideline ปี 2024- เมื่อพบสัตว์ป่วยที่ไม่ตอบสนอง ...
22/01/2025

แนวทางการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน Basic Life Support (BLS) ฉบับอัปเดต RECOVER Guideline ปี 2024
- เมื่อพบสัตว์ป่วยที่ไม่ตอบสนอง ผู้ช่วยชีวิตควรเรียกขอความช่วยเหลือ ในขณะเดียวกันก็พยายามกระตุ้นสัตว์ป่วย และหากไม่มีการตอบสนอง ให้ตรวจสอบว่าสัตว์ป่วยหายใจอยู่หรือไม่ หากไม่หายใจให้เริ่มทำ CPR
- ประเมินทางเดินหายใจของสัตว์ป่วย หากพบสิ่งกีดขวางทางเดินหายใจที่เห็นได้ชัดให้นำออก ก่อนเริ่มการกดหน้าอก (chest compression) โดยกระบวนการดังกล่าวต้องไม่ช้าเกินกว่า 10 – 15 วินาที
- หากมีผู้ที่ทำหน้าที่กู้ชีพเพียงคนเดียว แนะนำอัตราส่วนการกดหน้าอกต่อการหายใจ (C:V) ที่ 30 ครั้ง ต่อ 2 ครั้ง (30:2)
- สัตว์ป่วยควรได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจโดยเร็วที่สุด หากไม่มีท่อช่วยหายใจควรใช้ face mask ที่พอดีกับจมูกของสัตว์ หรืออาจใช้เทคนิค mouth-to-nose (ไม่แนะนำในสัตว์ป่วยที่มีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน)
- หากมีผู้กู้ชีพหลายคน ควรทำการกดหน้าอกที่ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 นาที ต่อรอบ โดยไม่ควรเกิน 2 นาที ติดต่อกันสำหรับผู้กู้ชีพแต่ละคน
- ช่วงเวลาในการเปลี่ยนผู้ที่ทำหน้าที่กดหน้าอกต้องไม่เกิน 10 วินาที โดยใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในการตัดสินใจว่าจะใช้ยาหรือทำการ defibrillation
- การกดหน้าอกจะทำที่อัตราเร็ว 100–120 ครั้งต่อนาที ทั้งในสุนัขและแมว
- ถ้าสัตว์ป่วยนอนในท่า lateral recumbency แนะนำให้ทำการกดหน้าอกให้ถึงความลึกหนึ่งในสามถึงหนึ่งในสองของความกว้างของทรวงอกที่บริเวณที่ทำการกด
- ถ้าสัตว์ป่วยนอนในท่า dorsal recumbency แนะนำให้ทำการกดหน้าอกให้ถึงความลึกหนึ่งในสี่ของความกว้างของทรวงอกที่บริเวณที่ทำการกด
- ในการกดหน้าอกแต่ละครั้งต้องให้หน้าอกยืดกลับเต็มที่เพื่อให้หัวใจสามารถเติมเลือดได้
- การช่วยหายใจควรเริ่มที่อัตรา 10 ครั้งต่อนาที หรือบีบ ambu bag 1 ครั้งทุก 6 วินาที โดยการหายใจเข้าแต่ละครั้ง ควรใช้เวลาประมาณ 1 วินาที โดยเว้นเวลา 5 วินาทีสำหรับระยะการหายใจออก
นี่คือคอลัมน์ Glimpse คอลัมน์ใหม่จากทาง VPN ที่จะพาไปแอบส่องไฮไลท์ของบทความต่างๆ โดยสามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ : https://readvpn.com/article/detail/2321
บทความโดย สพ.ญ. ชิตสุดา อุ่นประเสริฐ

สำหรับบทความนี้จะเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากบทความที่แล้วเรื่อง ภาวะช่องหูส่วนนอกอักเสบในสุนัข สาเหตุการเกิดและการรักษา ...
21/01/2025

สำหรับบทความนี้จะเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากบทความที่แล้วเรื่อง ภาวะช่องหูส่วนนอกอักเสบในสุนัข สาเหตุการเกิดและการรักษา PSPP system คืออะไร (สำหรับคุณหมอท่านไหนที่ยังไม่ได้อ่าน สามารถไปที่ลิ้งค์บทความที่ช่องคอมเมนต์ได้เลย)
โดยบทความฉบับนี้มี reference ดังต่อไปนี้
1. Management Recurrent Otitis Externa in Dogs: What Have We Learned and What Can We Do Better? โดย Dr. Nuttall จากวารสาร JAVMA เดือน มิถุนายน 2023 และภาพประกอบบทความก็นำมาจากบทความนี้ค่ะ
2. Otitis Externa: Troubleshooting Treatment Failure โดย Dr. Paterson จาก WCVD 10 บรรยายวันที่ 28 กรกฎาคม 2024
ความหมายของภาวะช่องหูส่วนนอกอักเสบเรื้อรัง คือการอักเสบของช่องหู ที่เป็น ๆ หาย ๆ (recurrent) มาเป็นเวลา 3 เดือน (จากคำจำกัดความของ Dr. Nuttall)
จากบทความของ Dr. Nuttall ได้แบ่งการอักเสบของช่องหูส่วนนอกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
1. Erythroceruminous otitis (ภาพที่ 1 - ดูภาพได้ที่บทความบนเว็บไซต์) ช่องหูจะบวมแดง (erythema และมีลักษณะขี้หูเป็นไขมัน (ceruminous to seborrheic) การอักเสบของช่องหูเกิดจากการติดเชื้อ Malassezia และ/หรือ เชื้อแบคทีเรียกลุ่ม gram positive เช่น Staphylococcus species
2. Suppurative otitis (ภาพที่ 2 - ดูภาพได้ที่บทความบนเว็บไซต์) ลักษณะการอักเสบมีการบวมแดง (erythema) ช่องหูมีการอักเสบมาก (ulceration) และมีขี้หูที่เป็นหนอง (purulent) สาเหตุของการติดเชื้อเกิดจากแบคทีเรียกลุ่ม Pseudomonas และมีการผลิต biofilm ร่วมด้วย
การรักษา Otitis Externa
Dr. Nuttal ได้แบ่งการรักษาเป็น 2 phase ดังนี้
- Phase 1. Reactive therapy ไม่ว่าจะเป็น acute หรือ chronic otitis ควรจะได้รับการรักษา secondary infection จนได้ clinical remission
- Phase 2. Proactive therapy เป็นการวางแผนการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้การติดเชื้อกลับมา
การรักษาประกอบด้วย
การทำความสะอาดหู
การควบคุม secondary causes ด้วย topical antimicrobial และอาจจะต้องใช้ systemic antibiotic ร่วมด้วย ในกรณีที่เป็น recurrent otitis externa ที่เกิดจาก Pseudomonas และมี otitis media ร่วมด้วย
การควบคุมการอักเสบด้วยยากลุ่ม corticosteroids ทั้งแบบ topical และ systemic
การควบคุม primary causes, ป้องกัน predisposing causes และ reverse perpetuating causes
สาเหตุของการเกิด Recurrent Otitis Externa
1. Primary causes ยังไม่ได้รับการรักษา หรือควบคุม primary causes ที่เป็นสาเหตุหลักคือ allergies (รวมทั้ง food allergy และ environmental allergy) อีกสาเหตุที่พบได้มากคือ endocrine diseases เช่น hypothyroidism และ hyperadrenocorticism ซึ่งหาก primary causes เหล่านี้ยังไม่ถูกควบคุมก็จะโน้มนำให้เกิดการอักเสบของช่องหูแบบเรื้อรัง และในสุนัขอายุมาก หากมีช่องหูอักเสบแบบเรื้อรังข้างเดียวก็อย่าลืมนึกถึง เนื้องอกในช่องหู
2. Perpetuating causes เป็นการเปลี่ยนแปลงของช่องหูที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อกลับมาใหม่ (recurrent infection) เช่น
2.1. การที่ช่องหูตีบแคบ (hyperplastic ear canals) จากการเพิ่มจำนวนของ ceruminous glands (ceruminous hyperplasia) พบมากในสุนัขพันธุ์ Cocker Spaniels โดยเฉพาะ American Cocker Spaniels
2.2. การติดเชื้อแบคทีเรียอย่างเรื้อรัง ก่อให้เกิดการฉีกขาดของ tympanic membrane โน้มนำให้เกิดการติดเชื้อของช่องหูส่วนกลาง (otitis media) ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อย้อนกลับมาที่ช่องหูส่วนนอก การรักษาการติดเชื้อของช่องหูส่วนกลางต้องใช้ systemic antibiotic เป็นระยะเวลา 4-6 สัปดาห์ และอาจจะต้องมีการวางยาสลบและทำ myringotomy เพื่อเก็บ secretion ในช่องหูส่วนกลาง นำไปทำการเพาะเชื้อ (culture and sensitivity) ต่อไป
2.3. ช่องหูที่มีการอักเสบเรื้อรังจะลด self-cleaning system ที่เรียกว่า epithelial migration ดังนั้นถึงแม้การติดเชื้อของช่องหูส่วนนอกจะหมดไป เจ้าของก็ควรทำความสะอาดหูด้วยน้ำยาล้างหูที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ เช่น tris EDTA/chlorhexidine/ketoconazole และนวดกกหู (deep digital palpation) สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อเป็นการกระตุ้น epithelial migration ของช่องหูส่วนนอกและเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อของหูส่วนนอกกลับมา
3. การติดเชื้อ Pseudomonas ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย gram negative เป็นแบคทีเรียที่พบในสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ บริเวณชื้นแฉะ และไม่ใช่ normal flora ในช่องหูของสุนัข การที่ช่องหูมีการอักเสบเรื้อรังจะเป็นการโน้มนำให้เกิดการติดเชื้อ Pseudomonas และเชื้อแบคทีเรียตัวนี้จะก่อให้เกิดการอักเสบของช่องหูอย่างมาก และผลิต biofilm ที่จะป้องกันการ pe*******on ของ topical antibiotics ที่ใช้รักษาการติดเชื้อ (secondary causes)
การวินิจฉัย Pseudomonas otitis externa จากประวัติว่า มีการอักเสบของช่องหูอย่างเรื้อรัง มี ขี้หูที่เป็นหนอง และช่องหูอักเสบมาก (ภาพที่ 3 - ดูภาพได้ที่บทความบนเว็บไซต์)
การทำ ear cytology จะพบ rod shape bacteria อยู่ใน cell อักเสบ กลุ่ม neutrophil (intracellular bacteria) (ภาพที่ 4 - ดูภาพได้ที่บทความบนเว็บไซต์) แต่ถ้าจะให้แน่ใจต้อง swab ขี้หูเพื่อไปทำ culture และ sensitivity test
4. Biofilm: ดังที่ได้กล่าวไว้ในฉบับที่แล้ว biofilm คือ เมือกเหนียว ๆ (extracellular matrix : slime) สร้างจากแบคทีเรีย กลุ่ม Pseudomonas, Staphylococcus และ Malassezia โดย biofilm จะลดการทำงานของ topical และ systemic antibiotic เนื่องจากไปเพิ่ม MIC ของยา จึงก่อให้เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะได้ง่าย การวินิจฉัยจะพบ biofilm จากลักษณะของขี้หูที่เป็นเมือกเหนียว ๆ (ภาพที่ 5 - ดูภาพได้ที่บทความบนเว็บไซต์) และการทำ ear cytology จะพบลักษณะเป็นเส้นบาง ๆ ปกคลุมเม็ดเลือดขาวและแบคทีเรีย (ภาพที่ 6 - ดูภาพได้ที่บทความบนเว็บไซต์)
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทความเท่านั้น อ่านบทความฉบับเต็มพร้อมหัวข้อเรื่อง การรักษาช่องหูอักเสบที่เกิดจาก Pseudomonas otitis externa ภาพประกอบ และตารางต่างๆ ได้ที่ : https://readvpn.com/article/detail/2317
บทความโดย : สพ.ญ. เลอเพ็ญ ดวงแก้ว
สำหรับคุณหมอสัตวแพทย์ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก
ตอนนี้ทาง VPN มีโปรโมชั่นน่าสนใจอยู่นะ
💙 อ่านออนไลน์ จ่ายถูกกว่า -
สำหรับสัตวแพทย์ท่านที่สมัครสมาชิกแบบอ่านออนไลน์ (ไม่รับหนังสือ) จ่ายเพียง 1,500 บาท/ปี เท่านั้น และยังสามารถทำ CE online ในเว็ปไซต์ได้ตามปกติ
💙 อ่านจากเล่ม เน้นสะสม -
สำหรับท่านที่สมัคร/ต่ออายุสมาชิกแบบรับหนังสือ (สามารถใช้งานเว็ปไซต์และทำ CE online ได้ด้วย)
📍 ได้ทำ CE online มากกว่า 40 คะแนน/ปี
📍 ดาวโหลด E-book ไปอ่านได้
📍 ใช้งานเว็ปไซต์ได้เต็มรูปแบบ
📍 E-learning online course
ดูรายละเอียดแพคเกจ
และสมัครออนไลน์ด้วยตัวเองได้ที่ https://www.readvpn.com/register
หรือสอบถามเพิ่มเติม
add Line :

เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2568 เวลา 8.00 น. ที่ผ่านมา ณ อาคาร 60 ปี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรร...
21/01/2025

เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2568 เวลา 8.00 น. ที่ผ่านมา ณ อาคาร 60 ปี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ศูนย์กายอุทิศ ฝ่ายกิจการนิสิต ฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ สโมสรนิสิต และสมาคมนิสิตเก่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดงาน “งานทำบุญอุทิศส่วนกุศลอาจารย์ใหญ่ทางสัตวแพทย์ ประจำปี 2567”
โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เจ้าของอาจารย์ใหญ่ทางสัตวแพทย์ทุกท่านตระหนักถึงความสำคัญ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาวิชาชีพสัตวแพทย์ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้นิสิตเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของอาจารย์ใหญ่ที่นำมาศึกษา ตลอดจนร่วมกันทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่อาจารย์ใหญ่ที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวงการสัตวแพทย์ให้นิสิตสัตวแพทย์ได้รับการศึกษาจากร่างกายสัตว์จริง เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ และเพิ่มโอกาสในการช่วยเหลือสัตว์ป่วยให้ได้รับการรักษาที่ดี มีคุณภาพในอนาคตต่อไป
ในการนี้ ศ. สพ.ญ. ดร.สันนิภา สุรทัตต์ คณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน รวมถึงเป็นตัวแทนของผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต และบุคลากรภายในคณะกล่าวคำขอบคุณถึงเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่านสำหรับการเล็งเห็นความสำคัญ ร่วมบริจาคร่างสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รัก และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของว่าที่สัตวแพทย์ไทยให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ร่างที่นำมาประกอบพิธีในครั้งนี้มีจำนวนทั้งหมด 915 ร่าง และแบ่งการประกอบพิธีออกเป็นช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยในช่วงเช้าจัดขึ้น ณ โถงอาคาร 60 ปี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งออกเป็นพิธีธรรมเทศนา พิธีสวดมาติกาบังสุกุล การแสดงนาฏศิลป์ และขับบทประพันธ์โดยคณะนิสิต ตลอดจนพิธีวางดอกไม้เพื่อแสดงความรำลึกถึงสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รัก สำหรับกิจกรรมช่วงบ่ายเป็นพิธีฌาปนกิจร่างอาจารย์ใหญ่ทางสัตวแพทย์ จัดขึ้น ณ วัดธาตุทอง พระอารามหลวง แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา จังหวัดกรุงเทพมหานครฯ และพิธีลอยอังคารร่างอาจารย์ใหญ่ทางสัตวแพทย์ในวันอาทิตย์ ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2568 ณ ท่าเรือบริเวณศาลากลาง ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
นับเป็นการร่วมรำลึกและส่งดวงวิญญาณครั้งสุดท้ายของอาจารย์ใหญ่ทางสัตวแพทย์ ผู้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการสัตวแพทย์อันจะเป็นประโยชน์แก่สัตว์เลี้ยงรายอื่นที่เข้ามารับการดูแลและรักษาต่อไปในอนาคตอย่างแท้จริง
อ่านบทความบนเว็บไซต์ได้ที่ : https://readvpn.com/new/detail/96

วิตามิน (vitamins) และแร่ธาตุ (minerals) เป็นหนึ่งในกลุ่มยาที่สัตวแพทย์มีการใช้ในสุนัขและแมวอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังเป็นกลุ...
20/01/2025

วิตามิน (vitamins) และแร่ธาตุ (minerals) เป็นหนึ่งในกลุ่มยาที่สัตวแพทย์มีการใช้ในสุนัขและแมวอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มยาที่เจ้าของนิยมซื้อหามาให้สัตว์เลี้ยงแสนรักกินเสริม เพื่อหวังว่าจะช่วยบำรุงสุขภาพร่างกายของสัตว์ให้แข็งแรงสมบูรณ์ โดยคิดว่าไม่น่าจะมีอันตรายอะไรเพราะเป็นเพียง “วิตามิน” ซึ่งในความเป็นจริงนั้นวิตามินและแร่ธาตุก็จัดอยู่ในกลุ่ม “ยา” เช่นกัน
อีกประการหนึ่งคือ เจ้าของสัตว์เลี้ยงในยุคปัจจุบันนิยมค้นหาข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ ที่มีการเชิญชวนให้ซื้อหาผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์ โดยหลาย ๆ กรณีพบว่า มีการใช้ในขนาดยาที่สูงเกินกว่าขนาดแนะนำ จนก่อให้เกิดความเป็นพิษได้จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นหากมีการใช้อย่างไม่สมเหตุผลก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ได้
โดยทั่วไปการเกิดพิษจากวิตามินและแร่ธาตุไม่ขึ้นอยู่กับพันธุ์ เพศ และอายุของสัตว์ อย่างไรก็ตามพบว่า อุบัติการณ์ความเป็นพิษมักพบในสัตว์อายุน้อยซึ่งส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมตื่นตัว ซุกซน หรือชอบค้นหาสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ จนอาจกินเข้าไปและเกิดความเป็นพิษขึ้นได้ นอกจากนี้ในวิตามินและแร่ธาตุที่เป็นสารออกฤทธิ์ (active ingredients) แล้วก็ยังมีส่วนประกอบอื่นนอกเหนือไปจากสารออกฤทธิ์ที่เรียกว่า สารปรุงยาหรือสารช่วยทางเภสัชกรรม (excipients) ที่อาจทำให้เกิดความเป็นพิษ มีข้อแนะนำว่า ควรระมัดระวังการใช้วิตามินและแร่ธาตุที่มีส่วนผสมของสารที่อาจทำให้เกิดความเป็นพิษต่อสัตว์ สารดังกล่าวได้แก่ 5-HTP (5-hydroxytryptophan), caffeine, green tea, citrus aurantium (synephrine), fluoride, thioctic acid (alpha-lipoic acid) และ xylitol
ตัวอย่างของวิตามินและแร่ธาตุที่อาจก่อให้เกิดความเป็นพิษรุนแรงในสุนัขและแมว
Vitamin A: มักเกิดพิษเมื่อได้รับในขนาดสูง 10 – 1000 เท่าของขนาดยาที่ร่างกายต้องการต่อวัน ทำให้เกิดความเป็นพิษเฉียบพลันซึ่งจะมีอาการทางคลินิกในหลายอวัยวะ
Vitamin C (ascorbic acid): หากได้รับเกิน 1000 มก./กก. จะทำให้เกิดผลึก calcium oxalate ในปัสสาวะซึ่งก่อให้เกิดนิ่วได้
Vitamin D (D3; cholecalciferol): หากได้รับไม่เกิน 0.1 มก./กก. จะทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหารเล็กน้อย แต่ถ้าได้รับขนาดที่สูงกว่านี้ จะเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (hypercalcemia) และไตวายเฉียบพลัน (acute kidney injury; AKI)
Iron (ธาตุเหล็ก): หากได้รับในขนาด 20 – 60 มก./กก. จะทำให้มีอาการทางคลินิกเล็กน้อย แต่หากได้รับในขนาด 100 – 200 มก./กก. จะทำให้มีอาการทางคลินิกที่รุนแรงจนถึงตายได้
อาการความเป็นพิษตามระบบของร่างกายจากวิตามินและแร่ธาตุ
1. ระบบทางเดินอาหาร
• วิตามินและแร่ธาตุทุกชนิดอาจทำให้สัตว์เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย
• ธาตุเหล็กทำให้มีเลือดออกในทางเดินอาหาร
• Vitamin B3 (niacin) ทำให้มีอุจจาระปนเลือด
2. ระบบประสาท
• แมกนีเซียม ทำให้เกิดอัมพาตแบบกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก (flaccid paralysis)
• Vitamin A และ B3 ทำให้ชัก
• Vitamin A ทำให้เกิดอัมพาต
• Vitamin B6 (pyridoxine) ทำให้เดินเซ เสียการทรงตัว
3. ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
• แคลเซียมและ vitamin D3 ทำให้ขาอ่อนแรง (lameness)
• ฟอสฟอรัสและวิตามิน D3 ทำให้เกิดการสะสมแคลเซียมในเนื้อเยื่ออ่อน
• Vitamin A ทำให้เกิดการหักของกระดูกชิ้นยาว และเกิดกระดูกคอเสื่อม (cervical spondylosis)
4. ระบบปัสสาวะ
• Vitamin D3 ทำให้เกิด AKI
• Vitamin C, แคลเซียม, ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม ก่อให้เกิดนิ่ว
5. ระบบต่อมไร้ท่อ
• แคลเซียมและ vitamin D3 ทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง
• ฟอสฟอรัส ทำให้เกิดภาวะ secondary hyperparathyroidism (เป็นภาวะที่ต่อมพาราไทรอยด์หลั่ง parathyroid hormone มากเกินไป)
6. ระบบเลือด
• Vitamin A และ vitamin E ทำให้เกิดภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (coagulopathy)
• Vitamin A ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง
7. ระบบตับและน้ำดี
• Vitamin A และทองแดง (copper) ทำให้ตับอักเสบ และค่าการทำงานของตับสูง
8. ระบบหัวใจและหลอดเลือด
• Vitamin B1 (thiamine) ทำให้หัวใจเต้นช้าและความดันโลหิตลดลง
9. ระบบผิวหนัง
• ไอโอดีน ทำให้ผิวหนังแห้ง ขนหยาบ ขนร่วง
การวินิจฉัยความเป็นพิษจากวิตามินและแร่ธาตุ
สัตวแพทย์ควรตรวจเลือดและค่าชีวเคมีพื้นฐานในเลือด นอกจากนี้มีสิ่งที่ควรตรวจวัดหากสงสัยการเกิดพิษจากวิตามินและแร่ธาตุที่อาจระบุชนิดได้ดังนี้
• Vitamin D3 และ แคลเซียม : ตรวจค่า total calcium, ionized calcium, creatinine, blood urea nitrogen (BUN)
• Vitamin A และ ทองแดง : ตรวจค่า liver enzymes, liver function, BUN, glucose, albumin, cholesterol
• Vitamin A : ตรวจค่าการแข็งตัวของเลือด (coagulation panel) ได้แก่ PT, PTT, platelets และ D-dimers
• Multivitamin : ตรวจ aspartate aminotransferase (AST, บ่งชี้ถึงความเสียหายของตับ), creatine kinase (CK, บ่งชี้ถึงความเสียหายของกล้ามเนื้อ) และระดับแลคเตทในเลือด (blood lactate)
• Vitamin C : ตรวจค่าชีวเคมีพื้นฐานของเลือด และวิเคราะห์ปัสสาวะ (urinalysis)
• ธาตุเหล็ก : ตรวจ serum iron และ total iron-binding capacity
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทความเท่านั้น อ่านบทความฉบับเต็มพร้อมหัวข้อเรื่องแนวทางการแก้ไขความเป็นพิษจากวิตามินและแร่ธาตุต่อได้ที่ : https://readvpn.com/article/detail/2318
บทความโดย : รศ. สพ.ญ. ดร. ปิยะรัตน์ จันทร์ศิริพรชัย
สำหรับคุณหมอสัตวแพทย์ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก
ตอนนี้ทาง VPN มีโปรโมชั่นน่าสนใจอยู่นะ
💙 อ่านออนไลน์ จ่ายถูกกว่า -
สำหรับสัตวแพทย์ท่านที่สมัครสมาชิกแบบอ่านออนไลน์ (ไม่รับหนังสือ) จ่ายเพียง 1,500 บาท/ปี เท่านั้น และยังสามารถทำ CE online ในเว็ปไซต์ได้ตามปกติ
💙 อ่านจากเล่ม เน้นสะสม -
สำหรับท่านที่สมัคร/ต่ออายุสมาชิกแบบรับหนังสือ (สามารถใช้งานเว็ปไซต์และทำ CE online ได้ด้วย)
📍 ได้ทำ CE online มากกว่า 40 คะแนน/ปี
📍 ดาวโหลด E-book ไปอ่านได้
📍 ใช้งานเว็ปไซต์ได้เต็มรูปแบบ
📍 E-learning online course
ดูรายละเอียดแพคเกจ
และสมัครออนไลน์ด้วยตัวเองได้ที่ https://www.readvpn.com/register
หรือสอบถามเพิ่มเติม
add Line :

เนื่องจากได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรหลักและร่วมฟังสัมมนาวิชาการนานาชาติ ภายในงานแสดงสินค้าด้านสัตว์เลี้ยง Global Pet Sourcin...
18/01/2025

เนื่องจากได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรหลักและร่วมฟังสัมมนาวิชาการนานาชาติ ภายในงานแสดงสินค้าด้านสัตว์เลี้ยง Global Pet Sourcing Conference 2024 ในฐานะนายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างวันที่ 5 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 ณ เมืองกวางโจว จังหวัดกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศจีน ทำให้ได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ ต่ออุตสาหกรรมอาหารและขนมสัตว์เลี้ยง ก็เลยอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง
งานนี้มีวิทยากรจากหลากหลายชาติ หลายทวีป มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เช่น วิทยากรแคนาดามาเล่าเรื่องตลาดสัตว์เลี้ยงในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่าต่อปีสูงที่สุดในโลกและถือเป็นตลาดที่โตเต็มที่แล้ว จึงเติบโตต่อปีไม่มากนัก ที่สำคัญจะมีการเลิกใช้ธัญพืชเป็นส่วนผสมในอาหารสุนัขและแมวเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว วิทยากรจากเยอรมันมาเล่าเรื่องตลาดในทวีปยุโรป โดยมีเยอรมันเป็นเจ้าตลาด ซึ่งเป็นตลาดมูลค่าสูงอันดับสองของโลกและเติบโตช้าเช่นกัน อีกทั้งในอนาคตจะมีการแบนสินค้าจากประเทศที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ถางป่าปลูกข้าวโพด โค่นต้นไม้ในป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน วิทยากรจากอิตาลีมาเล่าเรื่องตลาดในทวีปแอฟริกาที่กำลังเติบโตอย่างมากและมีมูลค่าประมาณ 1 พันล้านยูโรต่อปี แต่มีความเสี่ยงสูงด้านความปลอดภัย และเสถียรภาพทางการเมือง
จากนั้นได้มีวิทยากรคนจีนมาเล่าเรื่อง E-Commerce ในจีน ที่เติบโตอย่างมากจนหาซื้อแทบทุกอย่างบน online platform ได้ มีบริการเพื่อปรนเปรอสัตว์เลี้ยงแสนรักในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งทำให้มูลค่าตลาดเอเชียสูงเป็นอันดับสามของโลก แถมยังโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง มีผู้ประกอบการจีนรุ่นใหม่ อายุไม่เกิน 30 ปี ออกไปหาประสบการณ์เพื่อทำการค้าในอเมริกา ยุโรป เอเชีย จากนั้นก็กลับมาเล่าแบ่งปันเรื่องทั้งดี – ร้ายเพื่อให้ผู้ประกอบการรุ่นต่อไปได้เตรียมตัว รวมไปถึงได้ส่งต่อความทะเยอะทะยานในการทำงานหาเงินเพื่อความร่ำรวยในรุ่นของตนเอง
มีการช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ มานำเสนอเป็นจำนวนมากเพื่อตลาดต่างประเทศเป็นการเฉพาะ มีการแนะนำข้อตกลงทางการค้า Free Trade Agreement (FTA) ในประเทศต่าง ๆ เพื่อให้คนจีนไปตั้งโรงงานเพื่อส่งออกที่นั่น เช่น บังคลาเทศ กัมพูชา เวียดนาม และไทย เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ทางด้านภาษีจากสินค้าที่ผลิตในประเทศนั้น ๆ ต่อการส่งออกไปทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตรเลีย และวิทยากรคนไทยก็มาเล่าเรื่องตลาดสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย
เป็นที่ยอมรับกันว่า “ทวีปเอเชีย” เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ทั้งของคนและสัตว์ ทำให้อุตสาหกรรมอาหารและขนมสัตว์เลี้ยงเติบโตเป็นอย่างมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ และมาเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา มีโรงงานอาหารสัตว์ ขนมสัตว์เปิดตัวกันเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในประเทศตนเองและในต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักของอุตสาหกรรมนี้ เพราะเรามีจุดแข็งหลายเรื่อง เช่น โรงฆ่าสัตว์ที่มีมาตรฐาน โรงงานทำปลาทูน่ากระป๋องเพื่อส่งออก มีการแปรรูปซากสัตว์ที่เหลือจากโรงฆ่าสัตว์ไปเป็นขนมสัตว์เลี้ยงได้หลากหลายรูปแบบ คนไทยสื่อสารภาษาต่างประเทศได้คล่อง เป็นประเทศเมืองพุทธที่ต้อนรับทุกวัฒนธรรม หลายประเทศเชื่อถือสินค้าที่ผลิตจากไทยมากกว่าประเทศจีน หรืออินเดีย ฯลฯ
ส่วนจุดอ่อน ได้แก่ รัฐบาลไทยไม่ค่อยได้ให้ความสนับสนุนผู้ประกอบการให้เตรียมตัวมาตั้งแต่อายุน้อยเพื่อออกไปสู้ในสงครามการค้ากับตลาดโลก ผู้ออกแบบและพัฒนาสินค้ายังมีจำกัด งานวิจัยทางด้านอาหารและขนมสัตว์เลี้ยงยังมีน้อย เราไม่สามารถผลิตในปริมาณมากเพื่อการส่งออก เพราะทรัพยากรต้นทุนมีน้อยตามขนาดของประเทศ สุดท้ายประเทศจีนซึ่งถือเป็นผู้ผลิตอาหารและขนมสัตว์เลี้ยงรายใหญ่มากของโลกจะผลิตสินค้าราคาถูกออกมาท่วมตลาดของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแน่นอน
แต่โอกาสของประเทศไทยก็ยังมีและเปิดกว้างอยู่เสมอ ถ้าเราเริ่มพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ให้เขามีที่ยืน มีที่ทำกิน เข้าถึงแหล่งทุน มีคนช่วยออกแบบสินค้าให้ทันสมัย และมีโอกาสได้ออกไปนำเสนอสินค้าในเวทีต่างประเทศด้วยการสนับสนุนของภาครัฐ เพราะจะทำให้ธุรกิจคนไทยเติบโตต่อไปได้ มิเช่นนั้นเราก็ต้องเข้าร่วมกับทุนจีนที่มาเปิดโรงงานในประเทศไทย และผลิตสินค้า Made in Thailand จากเจ้าของคนจีน จากวัตถุดิบจากจีน เพื่อส่งออกไปในตลาดโลกแทน
จุดเสี่ยงของธุรกิจนี้มีมากขึ้นตามสังคมโลกที่เปลี่ยนไปควบคู่กับ emerging and re-emerging diseases ทั้งคนและสัตว์ที่ผลัดกันผุดขึ้นมาใหม่โดยไม่ให้เราได้ว่างเว้น จึงทำให้แนวคิด One Health มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเกี่ยวข้องทั้งคนและสัตว์อย่างแยกกันไม่ออก ฉะนั้นบทบาทของสัตวแพทย์ต่ออุตสาหกรรมอาหารและขนมสัตว์เลี้ยงจึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะหลายโรคในสัตว์ถูกใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้าแล้ว เช่น
- ประเทศที่มีการระบาดของ Highly Pathogenic Avian Influenza (AI) ก็จะไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่มีส่วนผสมของสัตว์ปีกออกไปขายต่างประเทศได้
- ประเทศที่มีการระบาดของ Foot and mouth disease (FMD) หรือ Lumpy skin disease (L*D) จะไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่มีส่วนผสมของโค กระบือ แพะ และแกะ ออกไปขายต่างประเทศได้
- ประเทศที่มีการระบาดของ African swine fever (ASF) จะไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่มีส่วนผสมของหมูออกไปขายต่างประเทศได้
หันมองกลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งเรากำลังมีการระบาดหรือเคยมีการระบาดของโรคไวรัสที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการผลิตอาหารและขนมสำหรับสัตว์เลี้ยงเพื่อการส่งออกเป็นอย่างมาก แต่กระนั้นก็ต้องหาวิธีแก้ไข เช่น นำเข้าเนื้อสัตว์ ชิ้นส่วนสัตว์เข้ามาผลิตในประเทศไทยจากประเทศซึ่งไม่มีการระบาดของโรคนี้ และผู้ซื้อสามารถสืบค้นย้อนกลับถึงต้นกำเนิดได้ ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมแต่ไม่ยั่งยืนเพราะควบคุมต้นทุนในระยะยาวได้ยาก อีกทั้งการตกลงกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก็มีต้นทุนสูง หรือแนวทางการใช้ปลาเป็ด ซึ่งมาจากเรืออวนลากในทะเล ปลาน้ำจืด กุ้งเลี้ยง จากโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เป็นแหล่งโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ใหญ่ก็สามารถทำได้และยั่งยืนด้วย แต่ก็ต้องแย่งกับอุตสาหกรรมผลิตคอลลาเจนและสินค้าความงามในคน ที่ใช้ทรัพยากรในส่วนนี้เป็นหลักด้วยเช่นกัน
แหล่งโปรตีนในอนาคตที่กำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง คือ “โปรตีนจากแมลง” ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัสใด ๆ เลี้ยงก็ง่าย ใช้เวลาน้อย ควบคุมการผลิตก็สะดวก ใช้พื้นที่ไม่มาก แถมยังไม่ต้องแย่งกับใคร จึงทำให้หลายประเทศเริ่มนำ “โปรตีนจากแมลง” มาเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์หลายประเภท และแต่งกลิ่น สี รสชาติเข้าไปให้คล้ายกับเนื้อสัตว์จริง ๆ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คงทำให้สัตวแพทย์ไทย เห็นภาพว่า “อาชีพของเราสำคัญมาก” ต่ออุตสาหกรรมอาหารและขนมสัตว์เลี้ยงทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งผู้ประกอบการเบื้องหน้าและสัตวแพทย์ประจำฟาร์มสัตว์ สัตวแพทย์ตามส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเปรียบเหมือนผู้ทำงานอยู่เบื้องหลัง เพราะจำนวนสัตว์เลี้ยงตามบ้านเรือน มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับอัตราการเกิดใหม่ของมนุษย์ และแนวโน้มจะเป็นเช่นนี้ไปอีกอย่างน้อย 20 ปี ทำให้สัตวแพทย์ไทยต้องปรับตัวให้ทันสมัยอยู่เสมอ
อ่านบทความฉบับเต็มพร้อมภาพประกอบได้ที่ : https://readvpn.com/article/detail/2307
บทความโดย : เรื่องและภาพ น.สพ.เกษตร สุเตชะ - คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สำหรับคุณหมอสัตวแพทย์ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก
ตอนนี้ทาง VPN มีโปรโมชั่นน่าสนใจอยู่นะ
💙 อ่านออนไลน์ จ่ายถูกกว่า -
สำหรับสัตวแพทย์ท่านที่สมัครสมาชิกแบบอ่านออนไลน์ (ไม่รับหนังสือ) จ่ายเพียง 1,500 บาท/ปี เท่านั้น และยังสามารถทำ CE online ในเว็ปไซต์ได้ตามปกติ
💙 อ่านจากเล่ม เน้นสะสม -
สำหรับท่านที่สมัคร/ต่ออายุสมาชิกแบบรับหนังสือ (สามารถใช้งานเว็ปไซต์และทำ CE online ได้ด้วย)
📍 ได้ทำ CE online มากกว่า 40 คะแนน/ปี
📍 ดาวโหลด E-book ไปอ่านได้
📍 ใช้งานเว็ปไซต์ได้เต็มรูปแบบ
📍 E-learning online course
ดูรายละเอียดแพคเกจ
และสมัครออนไลน์ด้วยตัวเองได้ที่ https://www.readvpn.com/register
หรือสอบถามเพิ่มเติม
add Line :

โรคข้อเสื่อมในแมว (feline osteoarthritis หรือ degenerative joint disease; DJD) คือโรคที่เกิดจากการเสื่อมบริเวณข้อต่อ โดย...
17/01/2025

โรคข้อเสื่อมในแมว (feline osteoarthritis หรือ degenerative joint disease; DJD) คือโรคที่เกิดจากการเสื่อมบริเวณข้อต่อ โดยสามารถพบได้ทั้งในแมวที่มีอายุน้อย และแมวสูงอายุ นับเป็นหนึ่งในโรคที่มักถูกมองข้าม เนื่องจากสามารถสังเกตเห็นอาการได้ยาก ความน่ากลัวของโรคข้อเสื่อมในแมวไม่เพียงส่งผลต่อพฤติกรรมหรือคุณภาพชีวิตของแมวเท่านั้น แต่ยังอาจเป็นสาเหตุโน้มนำทำให้เกิดโรคทางระบบอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคในระบบทางเดินปัสสาวะ อันเป็นผลมาจากการที่แมวไม่สามารถเข้าออกกระบะทรายได้ตามปกติ การรู้เท่าทันโรค การตรวจพบเจอโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ การดูแลรักษาอย่างเหมาะสม รวมถึงการให้ความรู้ในการดูแลที่ถูกต้องกับเจ้าของจึงเป็นหนึ่งในหน้าที่ที่สัตวแพทย์ควรให้ความสำคัญ
โรคข้อเสื่อมในแมว
โรคข้อเสื่อมในแมว คือโรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ (articular cartilage) ซึ่งเป็นจุดที่รองรับแรงกระแทกของกระดูกที่มาเชื่อมต่อกันเมื่อกระดูกทั้งสองท่อนนั้นเกิดการเคลื่อนไหว ความเสื่อมที่เกิดขึ้นนี้จะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และเกิดขึ้นอย่างถาวร ไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ส่งให้แมวมีอาการปวดเรื้อรัง (chronic pain) โดยแมวจะแสดงออกผ่านทางพฤติกรรมเป็นหลัก เช่น เคลื่อนไหวร่างกายลดลง ท่าทางกระโดดหรือเดินผิดปกติ ไม่กระโดด และซึม เป็นต้น ทั้งนี้อุบัติการณ์การเกิดโรคข้อเสื่อมในแมวยังไม่เป็นที่แน่ชัด เนื่องจากโรคข้อเสื่อมในแมวนับเป็นหนึ่งในโรคที่มักถูกมองข้ามและถูกวินิจฉัยน้อยกว่าความเป็นจริง หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจคือข้อมูลการศึกษาของ Slingerland LI, Hazewinkel HAW, Meij BP, Picavet P และ Voorhout G ในปี 2011 ที่พบว่า 82% ของแมวที่มีอายุมากกว่า 14 ปี จะตรวจพบความผิดปกติบริเวณข้อต่อเมื่อทำการตรวจวินิจฉัยผ่านการฉายรังสี และ 61% ของแมวที่อายุมากกว่า 6 ปี จะตรวจพบการอักเสบของข้อต่ออย่างน้อย 1 ข้อต่อ โดย 48% ของแมวในจำนวนนี้อาจพบการอักเสบของข้อต่อมากกว่า 1 ข้ออีกด้วย นอกจากนี้ ข้อมูลการศึกษาของ Hardie EM, Roe SC และ Martin FR ในปี 1994-1997 ยังพบว่า 90% ของแมวที่อายุมากกว่า 12 ปี จะตรวจพบความผิดปกติบริเวณข้อต่อเมื่อทำการตรวจวินิจฉัยผ่านการฉายรังสี ซึ่งทั้งสองการศึกษานี้พบว่าบริเวณที่มักพบความผิดปกติมากที่สุด คือ บริเวณหัวไหล่ ข้อศอก กระดูกสันหลัง ข้อสะโพก และข้อต่อบริเวณข้อเท้า บ่งบอกได้ว่า ยิ่งแมวมีอายุมากขึ้น โอกาสในการพบโรคข้อเสื่อมยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม โรคข้อเสื่อมในแมว ยังสามารถพบได้ในแมวที่มีอายุน้อยเช่นกัน โดยจากการศึกษาของ Godfrey DR ในปี 2005 พบว่าแมวที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปจำนวน 22% สามารถพบอาการของโรคข้อเสื่อมได้
สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคข้อเสื่อมในแมว
โรคข้อเสื่อมในแมวสามารถพบได้แม้แมวจะไม่เคยประสบอุบัติเหตุ มีอาการบาดเจ็บ หรือป่วยด้วยโรคทางระบบที่อาจส่งผลต่อการเกิดโรค อีกทั้งยังสามารถพบได้แม้แมวจะมีอายุน้อยก็ตาม สามารถแบ่งสาเหตุของการเกิดโรคข้อเสื่อมในแมวออกเป็น 2 สาเหตุหลัก ดังนี้
1. สาเหตุปฐมภูมิ (primary cause) หรือสาเหตุที่เกิดขึ้นจากตัวของแมวเอง เช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวมาก รวมถึงปัจจัยจากพันธุกรรม เป็นต้น โดยพบว่าแมวส่วนใหญ่มักป่วยด้วยโรคข้อเสื่อมจากสาเหตุนี้ เนื่องจากแมวในปัจจุบันมีอายุที่เพิ่มมากขึ้นจากในอดีตอย่างเห็นได้ชัด อายุที่เพิ่มมากขึ้นนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แมวป่วยด้วยโรคข้อเสื่อมในปัจจุบัน
2. สาเหตุทุติยภูมิ (secondary cause) หรือสาเหตุที่เกิดขึ้นจากภายนอก และกระตุ้นให้เกิดภาวะโรค เช่น การประสบอุบัติเหตุ แรงกระแทก หรือพื้นที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสมอันส่งผลให้เกิดแรงกระทำต่อข้อต่อไม่เหมาะสม เป็นต้น เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถพบได้เช่นกัน แต่มักพบในแมวน้อยกว่าในสุนัข
อาการของโรคข้อเสื่อมในแมว
ดังที่กล่าวไปข้างต้น แมวที่่ป่วยด้วยโรคข้อเสื่อมมักแสดงออกผ่านทางพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นหลัก เนื่องจากธรรมชาติของแมวมักเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยแสดงออกถึงความเจ็บปวด อาการแสดงออกจึงไม่ชัดเจนเหมือนในสุนัข โดยพฤติกรรมที่เจ้าของมักสังเกตเห็นว่าเปลี่ยนแปลงไปในแมวที่ป่วยด้วยโรคข้อเสื่อม ได้แก่ การเคลื่อนไหวผิดปกติไป (โดยเฉพาะเมื่อกระโดด ขึ้นลงบันไดหรือที่สูง และเคลื่อนไหวน้อยลงกว่าปกติ) พักผ่อนนานขึ้น เลียขนน้อยลง พฤติกรรมการเข้าสังคมผิดปกติ ส่งเสียงร้องบ่อยขึ้น ไม่ยอมให้จับหรืออุ้ม พฤติกรรมการเล่นหรือล่าเหยื่อลดลง และท่าทางการเดินหรือยืนผิดปกติไป
การตรวจวินิจฉัยโรคข้อเสื่อมในแมว
การประเมินการก้าวเดินของแมว (gait assessment)
เป็นการประเมินลำดับแรกสุดก่อนการจับบังคับแมว คือการปล่อยให้แมวเดินในห้องตรวจเพื่อดูลักษณะการก้าวขาว่าผิดปกติหรือไม่ การกระโดดขึ้นหรือลงเป็นไปได้ตามปกติหรือไม่ โดยสัตวแพทย์อาจใช้เทคนิคการนำแมวไปวางไว้กลางห้องและปล่อยให้แมวเดินหรือเคลื่อนที่หลบเข้าไปอยู่ตามมุมหรือจุดที่แมวคิดว่าปลอดภัยด้วยตัวเอง จะช่วยเพิ่มโอกาสการสังเกตแมวเดินได้มากขึ้น นอกจากนี้ การขอความร่วมมือของเจ้าของในการอัด VDO การเคลื่อนที่ของแมวจากที่บ้านจะช่วยให้การสังเกตแมวมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงจากตัวแมวเอง โดยไม่มีปัจจัยด้านความเครียดและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยให้การประเมินความผิดปกติชัดเจนมากยิ่งขึ้น
การประเมินความเจ็บปวด (pain assessment)
การประเมินความเจ็บปวดถือเป็นขั้นตอนแรกและขั้นตอนสำคัญก่อนการตรวจสภาพร่างกายสัตว์เพื่อช่วยในการวางแผนการตรวจประเมินและวางแผนการเลือกยาบรรเทาอาการปวด ตลอดจนวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม ในปัจจุบันมีแบบสอบถามจากหลากหลายหน่วยงานเพื่อช่วยในการประเมินภาวะความเจ็บปวดในแมว เช่น
1. Feline musculoskeletal pain index (FMPI) คือแบบประเมินในรูปแบบแบบสอบถามที่ใช้สำหรับการประเมินอาการปวดเรื้อรัง โดยเฉพาะความเจ็บปวดอันมีสาเหตุมาจากระบบโครงร่าง (กระดูกและกล้ามเนื้อ) ซึ่งอาศัยข้อมูลจากกิจกรรมและพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของสัตว์ป่วย
2. Clinical reported outcome measures หรือ clinical metrology instruments (CMIs) คือแบบประเมินในรูปแบบแบบสอบถามที่ใช้สำหรับการประเมินอาการปวดเรื้อรัง โดยการให้เจ้าของกรอกแบบสอบถามซึ่งอาศัยการสังเกตพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของสัตว์ป่วยขณะอยู่บ้าน
3. Client-specific outcome measure (CSOM) คือแบบประเมินในรูปแบบแบบสอบถามที่ช่วยระบุลักษณะความผิดปกติในแมวแต่ละตัว อีกทั้งยังช่วยให้สามารถติดตามการตอบสนองต่อการรักษาได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีแบบประเมินอื่น ๆ คุณหมอสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินความเจ็บปวดเพิ่มเติมได้ที่ 2022 WSAVA guidelines for the recognition, assessment and treatment of pain ผ่านทาง https://wsava.org/global-guidelines/pain-guidelines หรือฉบับแปลภาษาไทยโดยสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย (VPAT) ผ่านทาง https://www.vpatthailand.org
การตรวจร่างกายและการตรวจการทำงานของกระดูกและข้อ (physical examination and orthopedic examination)
การตรวจร่างกาย (physical examination) รวมถึงการตรวจการทำงานของกระดูกและข้อ (orthopedic examination) ในแมวนับเป็นหนึ่งในความท้าทายของสัตวแพทย์ เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมเฉพาะตัว ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งอาจทำให้สับสนในระหว่างการตรวจวินิจฉัย เช่น เมื่อตรวจโดยการดึงขาแมว แมวมักมีพฤติกรรมการดึงขากลับซึ่งเป็นการตอบสนองโดยธรรมชาติ ไม่ใช่การตอบสนองต่อความเจ็บปวด หรือพฤติกรรมการคลานต่ำในห้องตรวจของแมวที่เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติที่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่การตอบสนองต่อความเจ็บปวด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องจะช่วยระบุตำแหน่งความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพื่อวางแผนการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
ก่อนอื่น สิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนการลงมือทำการตรวจแมว คือการลดความเครียดของแมว เนื่องจากความเครียดส่งผลต่อพฤติกรรมและการแสดงออกของแมวอย่างชัดเจน ในห้องตรวจควรจัดห้องโดยยึดหลัก “cat friendly clinic” หรือจัดห้องให้เหมาะสมกับแมว เมื่อนำแมวเข้าสู่ห้องตรวจควรมีการปล่อยให้แมวได้พักผ่อน สำรวจห้องตรวจ เพื่อสร้างความคุ้นชิน ก่อนจะลงมือลูบไล้ จับแมวช้า ๆ อย่างเบามือ รวมถึงจับบังคับให้น้อยที่สุด พยายามไม่ให้แมวรู้สึกว่าถูกบังคับ หรือคุกคาม ในบางรายที่แมวดุมาก หรือไม่ยอมให้จับตรวจอาจพิจารณาใช้ยาซึมเพื่อลดความเครียดลงได้
การประเมินการเคลื่อนไหวของข้อต่อ (joint assessment)
เป็นการประเมินความผิดปกติของข้อต่อจากขาทั้ง 4 ข้าง โดยเริ่มต้นจากการคลำกระดูกและข้อต่อในขาแต่ละข้าง โดยการจับ ลูบคลำ ยืด หด ให้เต็มขอบเขตหรือพิสัยตามปกติของขาและข้อต่อบริเวณนั้น ๆ (full range of motion) ทั้งนี้ควรเริ่มจากขาข้างที่ปกติ และไล่ไปขาข้างที่เจ็บเป็นข้างท้าย ๆ จะช่วยให้สัตวแพทย์สามารถสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน รวมถึงแมวให้ความร่วมมือได้ดี นอกจากการสังเกตการหดเกร็งของกล้ามเนื้อแล้ว ควรสังเกตลักษณะการฝ่อลีบ หรือบวมของกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ๆ การมีน้ำในข้อต่อ การส่งเสียงเมื่อเคลื่อนไหวข้อต่อ รวมถึงการไม่สมมาตรของการเคลื่อนไหวข้อต่อ เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการวินิจฉัยต่อไปด้วย
การวางยาซึมเพื่อทำการตรวจวินิจฉัย (sedation)
ดังที่กล่าวมาข้างต้น หากจำเป็นต้องวางยาซึมเพื่อช่วยในการตรวจวินิจฉัยแมว สัตวแพทย์สามารถพิจารณาให้ยา dexmedetomidine/ketamine/butorphanol ได้ โดยให้ dexmedetomidine ในปริมาณยา 0.1 ml, ketamine ในปริมาณยา 0.1 ml และ butorphanol ในปริมาณยา 0.1 ml ต่อน้ำหนักตัวแมว 4.5 kg. ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประวัติการแพ้ยา ขนาด และอายุของแมว ทั้งนี้เมื่อให้ยาแล้ว การประเมินผลจากการตรวจวินิจฉัยอาจทำได้ยากขึ้น สัตวแพทย์ควรเพิ่มการสังเกตเพื่อการประเมินผลที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น
การถ่ายภาพรังสี
การถ่ายภาพรังสีนับว่ามีประโยชน์มากในการตรวจวินิจฉัยโรคข้อเสื่อมในแมว เนื่องจากช่วยให้เห็นความผิดปกติของข้อต่อได้อย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจการทำงานของกระดูกและข้อแล้ว จะช่วยให้การตรวจประเมินภาวะโรคแม่นยำมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ลักษณะของภาพถ่ายรังสีที่มักพบเมื่อแมวป่วยด้วยโรคข้อเสื่อม ได้แก่
1. การมีน้ำในข้อ (joint effusion)
2. การมีกระดูกใหม่งอกขึ้นบริเวณรอบข้อต่อ (periarticular new bone formation)
3. เนื้อเยื่ออ่อนหนาตัวขึ้น (soft tissue thickening)
4. พื้นที่ระหว่างข้อต่อแคบลง (narrowed joint space)
5. กระดูกที่อยู่ใต้กระดูกอ่อนหนาตัวขึ้น (subchondral bone sclerosis)
6. เกิดการสะสมของแร่ธาตุบริเวณแคปซูลหรือบริเวณนอกข้อต่อ (capsular or extra-articular mineralization)
การรักษาและการจัดการโรคข้อเสื่อมในแมว
ปัจจุบัน แนวคิดที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในการรักษาและจัดการโรคข้อเสื่อมในแมว คือ แนวคิดการรักษาแบบผสมผสาน หรือ multimodal management approach ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างการรักษาแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา เนื่องจากโรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างถาวร และเรื้อรัง ลำพังการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว หรือการรักษาโดยการกายภาพบำบัดเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการรับมือกับโรคได้ จุดประสงค์หลักของการรักษาแบบผสมผสานนี้ คือการบรรเทาอาการปวดให้ลดลง พร้อมทั้งย่นระยะเวลาการดำเนินไปของโรคให้ช้าลง ช่วยเสริมความแข็งแรงของข้อต่อ และกล้ามเนื้อให้มากขึ้น เพื่อช่วยชะลอความเสื่อม รวมถึงเพิ่มคุณภาพชีวิตของแมวให้ดีขึ้นตามลำดับ
การรักษาโดยการใช้ยา

มีจุดประสงค์หลักเพื่อบรรเทาอาการปวด ให้แมวกลับมาเคลื่อนไหว และใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ประเภทของยาที่ใช้ในทางสัตวแทพย์ ได้แก่
ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs หรือ NSAIDs)
เป็นยาบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบที่นิยมในทางสัตวแพทย์ ออกฤทธิ์ยังยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase ส่งผลให้เกิดการลดการหลั่งสารสื่อประสาทที่มีผลต่อความเจ็บปวด มีผลในการลดความเจ็บปวด และลดการอักเสบภายในข้อต่อ ยาในกลุ่ม NSAIDs ที่สามารถใช้ในแมวได้ ได้แก่
1. Robenacoxib คือยาที่ได้รับการรับรองจากทวีปยุโรปว่าสามารถใช้ในการรักษาภาวะปวดเรื้อรังในแมว โดยให้ในขนาดยา 1-2.4 mg/kg q24h โดยแนะนำให้ร่วมกับการให้ omega-3 fatty acid เพื่อประสิทธิภาพของยาที่ดี
2. Meloxicam คือยาในกลุ่ม NSAIDs ที่แนะนำสำหรับโรคข้อเสื่อมในแมว ออกฤทธิ์ในการลดการอักเสบและลดปวด ขนาดยาที่ใช้ 0.1 mg/kg ในวันแรก หลังจากนั้นตามด้วยขนาดยา 0.05 mg/kg q24h
ทั้งนี้เมื่อมีการให้ NSAIDs ในระยะยาว ควรเฝ้าระวังการเกิดผลข้างเคียง โดยเฉพาะการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และการเกิดพิษต่อไต
ยาบรรเทาอาการปวดในกลุ่มโอปิออยด์ (opioids drugs)
Opioids จัดเป็นยาบรรเทาอาการปวดอีกชนิดที่นิยมใช้ในทางสัตวแพทย์ โดยตัวยาจะไปจับกับ opioid receptors ที่อยู่ใกล้กับระบบประสาท peripheral และ central nervous system ลดการส่งสารกระตุ้นระบบประสาท เกิดการอัมพาตที่จุดส่งกระแสประสาท และยับยั้งการเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้น สำหรับตัวยาในกลุ่มโอปิออยด์ที่ใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อมในแมวที่ได้รับความนิยมมี 2 ชนิด ได้แก่
1. Tramadol คือตัวยาบรรเทาอาการปวดที่นิยมในทางสัตวแพทย์ จากผลการศึกษาพบว่าสามารถออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้ในแมวที่ป่วยด้วยโรคข้อเสื่อม เมื่อให้ด้วยขนาดยา 2-5 mg/kg BID (PO) และ 2 mg/kg BID (SC, IM) อย่างไรก็ตามพบว่าด้วยลักษณะของยาที่มีรสขมจึงอาจทำให้ป้อนยาได้ยาก
2. Gabapentin คือตัวยาในกลุ่ม calcium channel blocker มีผลในการลดการกระตุ้นของเซลล์ประสาท ให้ผลดีในการรักษาความเจ็บปวดซึ่งเกิดขึ้นจากระบบประสาทในแมว ขนาดยาที่แนะนำคือ 5-10 mg/kg q12h และควรลดปริมาณยาลงก่อนหยุดยา อย่างไรก็ตามพบว่าด้วยลักษณะของยาที่มีรสขมจึงอาจทำให้ป้อนยาได้ยาก
ยาบรรเทาอาการอักเสบชนิดคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids drugs)
เป็นยาบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบอีกหนึ่งชนิดที่นิยมในทางสัตวแพทย์ ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ phospholipase A2 ซึ่งเป็นต้นทางของวิถี PGHS- prostanoid axis ฤทธิ์ในการยับยั้งการอักเสบจึงดีกว่ายากลุ่ม NSAIDs สามารถนำมาใช้รักษาได้หลายโรค ตั้งแต่ลดการอักเสบทั่วไป รักษาโรคทางต่อมไร้ท่อ จนไปถึงกดภูมิคุ้มกันและรักษาโรคมะเร็งบางชนิด รวมถึงสามารถใช้ลดปวดในแมวที่มีปัญหาโรคข้อเสื่อมได้ อย่างไรก็ตามการใช้ยาในระยะยาวอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อของแมวฝ่อลีบและเกิดการหย่อนของเอ็นได้ จึงควรเฝ้าระวังและหยุดยาเมื่อมีอาการความผิดปกติ ขนาดยาที่แนะนำ คือ 0.5-1 mg/kg PO q24h
โมโนโคลนอลแอนติบอดี้ (monoclonal antibodies; mAbs)
สารชีววัตถุซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เริ่มมีการนำมาใช้ในทางสัตวแพทย์ โดยโมโนโคลนอลแอนติบอดี้จัดเป็นแอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งมีความจำเพาะต่อเซลล์หรือสารสื่อประสาท ทั้งนี้โมโนโคลนอลแอนติบอดี้ที่ได้รับการรับรองสำหรับการรักษาโรคข้อเสื่อมในแมว มีชื่อตัวยาว่า frunevetmab ซึ่งจะเข้าไปจับกับ nerve growth factor (NGF) ที่เป็นสารตัวกลางในกระบวนการเกิดความเจ็บปวด (pain pathway) อย่างจำเพาะเจาะจง ซึ่ง NGF นี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อมีความเสียหายหรือมีสิ่งกระตุ้นซึ่งก่อให้เกิดความเจ็บปวด เมื่อ NGF ที่ล่องลอยอิสระอยู่บริเวณข้อต่อลดลง จึงส่งผลให้การส่งสัญญาณความเจ็บปวดและการอักเสบลดลงตามไปด้วย
รูปแบบยาที่มีจำหน่ายในท้องตลอดปัจจุบันของ frunevetmab อยู่ในรูปสารละลายสำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนังแมว ในความแรง 7 mg/ml โดยขนาดยาที่แนะนำคือ 1-2.8 mg. ต่อน้ำหนักตัวแมว 1 kg. ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (SC) เดือนละ 1 ครั้ง โดยจากการศึกษาพบว่าระดับยาสูงสุดในพลาสมาจะพบเมื่อฉีดยาต่อเนื่องเป็นเข็มที่ 2 โดยมีค่าครึ่งชีวิตประมาณ 9 วัน และขบวนการเปลี่ยนแปลงยาจะเกิดในรูปแบบของการสลายตัว (degradation) ไปเป็นเปปไทด์และกรดอะมิโน คล้ายกับการสลาย IgG ตามหลักการจึงสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยแม้ในรายที่มีปัญหาโรคตับ หรือโรคไต (อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานการศึกษาถึงความปลอดภัยในแมวที่ป่วยด้วยโรคไตเรื้อรัง IRIS stage 3 และ 4 การใช้ยาจึงยังคงแนะนำให้ติดตามผลอย่างใกล้ชิด)
การรักษาโดยการไม่ใช้ยา
มีจุดประสงค์หลักเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการเสื่อมของข้อต่อ สามารถทำร่วมกัน หรือทำหลังจากลดการปวดในแมว เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ลดภาระการทำงานของข้อต่อ เพื่อช่วยให้แมวมีสุขภาพดีในระยะยาวได้ ประเภทของการรักษาแบบไม่ใช้ยาที่นิยมในการรักษาโรคข้อเสื่อมในแมวในทางสัตวแพทย์ ได้แก่
การควบคุมอาหารและลดน้ำหนัก
น้ำหนักที่มากเกินไป ส่งผลให้ข้อต่อรับภาระน้ำหนักของร่างกายสูง ในระยะยาวอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้การพัฒนาไปของโรคเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ adipokines ในไขมันยังเป็นหนึ่งในสารสื่อประสาทที่ส่งผลต่อการเกิดการอักเสบโดยเฉพาะบริเวณข้อต่อในแมวที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวอีกด้วย การลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารหรือปรับสูตรอาหารเพื่อลดน้ำหนักจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้แมวมีสุขภาพร่างกายที่ดี และเคลื่อนไหวดีขึ้นได้
อาหารเสริม
ในปัจจุบันยังมีการคิดค้นสูตรอาหารเสริมเพื่อช่วยในการบรรเทาอาการปวดจากโรคข้อเสื่อมในแมว เช่น joint supplements ที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันจำเป็น ได้แก่ docosahexaenoic acid (DHA) และ eicosapentaenoic acid (EPA) ซึ่งอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 (omega-3 fatty acids) ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดความเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อ รวมถึงลดการอักเสบบริเวณข้อได้
การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมช่วยให้กล้ามเนื้อซึ่งยึดติดกับกระดูกมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรง การพยุงน้ำหนักตัวจะสามารถทำได้ดีตามไปด้วย ส่งผลให้ข้อต่อรับภาระของน้ำหนักตัวลดลง แมวทรงตัวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อการเคลื่อนไหว รวมถึงช่วยให้พิสัยการขยับของข้อต่อดีขึ้นได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามการออกกำลังกายในแมวที่ป่วยด้วยโรคข้อเสื่อมควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์ สัตวแพทย์ควรประเมินจากสภาพร่างกายของแมว ระยะของโรค รวมถึงน้ำหนักตัวของแมว ควรให้แมวเคลื่อนไหวอย่างไม่หักโหม (low-intensity) และหมั่นคอยสังเกตไม่ให้แมวออกกำลังกายหนักจนเกิดอาการเจ็บ หรือเหนื่อยจนเกินไป เพื่อลดโอกาสการสึกหรอของกระดูกซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสม อันอาจส่งผลให้การดำเนินไปของโรคแย่ลงได้
การปรับสภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อมถือเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญต่อการดำเนินไปของโรคข้อเสื่อม สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับภาวะโรคของแมว เช่น การย้ายชามน้ำ ชามอาหารของแมวมาอยู่ในบริเวณที่แมวเข้าถึงได้ง่าย โดยไม่ต้องกระโดด หรือออกแรงในการเข้าถึงยาก รวมถึงจัดวางกระบะทรายให้แมวเข้าถึงได้จากหลากหลายทิศทาง โดยอาจปรับให้ขอบของกระบะทรายต่ำลง ให้แมวเข้าถึงได้โดยไม่จำเป็นต้องกระโดด เพื่อเพิ่มโอกาสให้แมวเข้าถึงกระบะทรายได้ง่ายถึง ลดโอกาสการอั้นปัสสาวะ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในแมวได้
การผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นตัวเลือกที่แนะนำเมื่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล เนื่องจากมีความเสี่ยงตั้งแต่ในขั้นตอนของการวางยาไปจนถึงการผ่าตัด สัตวแพทย์ควรแจ้งความเสี่ยงให้เจ้าของรับทราบก่อนเริ่มต้นการผ่าตัด ทั้งนี้ประเภทของการผ่าตัดขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่พบในแมว เช่น การตัดกระดูก (ostectomies) อาทิ femoral head and neck ostectomy, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่อ (joint replacement), การผ่าตัดเชื่อมข้อต่อ (arthrodesis) หรือการตัดขา (amputation) ในรายที่จำเป็น โดยการพยากรณ์โรคขึ้นอยู่กับเทคนิคที่เลือกใช้ และสภาพร่างกายสัตว์เป็นสำคัญ
การให้ความรู้กับเจ้าของ
โรคข้อเสื่อมในแมว จัดเป็นโรคที่ต้องอาศัยความร่วมมือของเจ้าของในการดูแลสัตว์ป่วยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อใช้เทคนิคการรักษาแบบผสมผสาน มากกว่า 50% ของความสำเร็จขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเจ้าของ สัตวแพทย์ควรให้ความรู้กับเจ้าของถึงภาวะโรค โดยเน้นที่ปัจจัยที่ทำให้โรคดำเนินไปเพื่อป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลให้โรคแย่ลง นอกจากนี้ ถึงแม้แมวจะมีอาการดีขึ้นแล้วภายหลังการได้รับยาบรรเทาอาการปวด สิ่งสำคัญคือการเน้นย้ำให้เจ้าของตระหนักว่าภาวะของโรคยังคงมีอยู่ และดำเนินต่อไปอยู่เรื่อย ๆ การพาแมวมาตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง การให้ยาตรงเวลาและตามคำแนะนำ รวมถึงการปรับสภาพแวดล้อม และออกกำลังกายตามคำแนะนำสัตวแพทย์จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แมวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
โรคข้อเสื่อมในแมว เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ในแมวทุกสายพันธุ์ และทุกช่วงอายุ หัวใจสำคัญที่จะช่วยให้เจ้าของสามารถป้องกันโรคนี้ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ คือการหมั่นคอยสังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติไปของแมว เช่น การเคลื่อนไหว การยืน หรือการเดิน รวมถึงการพาแมวมาตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและการตรวจการทำงานของกระดูกและข้อจากสัตวแพทย์ การให้ความรู้กับเจ้าของ รวมถึงการสร้างความตระหนักถึงโรคข้อเสื่อมในแมวจึงเป็นหน้าที่ที่สัตวแพทย์ทุกคนพึงระลึก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแมวและเจ้าของสัตว์ต่อไป
อ่านบทความบนเว็บไซต์พร้อมรับ CE 3 คะแนนได้ที่ : https://readvpn.com/article/detail/2314

ที่อยู่

68/932 Moo 8 Soi 28
Bangkok
11000

เวลาทำการ

จันทร์ 09:00 - 17:00
อังคาร 09:00 - 17:00
พุธ 09:00 - 17:00
พฤหัสบดี 09:00 - 17:00
ศุกร์ 09:00 - 17:00

เบอร์โทรศัพท์

+6629655020

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ VPN Magazineผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

ติดต่อ ธุรกิจของเรา

ส่งข้อความของคุณถึง VPN Magazine:

วิดีโอทั้งหมด

แชร์

ประเภท

Our Story

VPN (Veterinary Practitioners NEWS) นิตยสารรายเดือนสำหรับสัตวแพทย์ สามารถสมัครสมาชิกใหม่ได้ผ่านทาง https://www.readvpn.com/VPN/Subscription