10/12/2023
ผศ.ศิราม - เขียนไว้ชัดเจนมาก
นิตยสาร VPN ในศักราชใหม่นี้ ขอต้อนรับคอลัมนิสต์รับเชิญคนใหม่ล่าสุด - ผศ.น.สพ.ศิราม สุวรรณวิภัช - ผู้จะมาบอกเล่าเรื่องราวแง่คิด มุมมอง และความรู้ดีๆ จากประสบการณ์ตรง ที่ใครเคยเป็นแฟนเพจ Vet Sikkha คงจะคุ้นเคยกันดี...
ถ้าพร้อมแล้ว...ขอเชิญติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ
“ขอบ่นหน่อยเถอะ...ทำไมเดี๋ยวนี้พาสัตว์ไปหาหมอถึงได้แพงนัก” (EP.1):
ผมได้ยินคำพูดตัดพ้อลักษณะแบบนี้ค่อนข้างบ่อย ซึ่งเป็นที่เข้าใจครับ เพราะเสียเงินนี่เนอะ ใครจะชอบ...เงินไหลออกกระเป๋าก็ออกอาการหงุดหงิดบ้างอะไรบ้าง แต่พอมาได้ยินจากสัตวแพทย์ด้วยกันเองก็เลยมาทบทวนดูว่า เอ๊ะ..หรือว่ามันแพงมากไปจริงๆ เอ๊ะ...หรือว่าจริงๆ คุณหมอที่พูดเขาไม่รู้ว่าค่าใช้จ่ายแต่ละบิลมันคิดมาจากต้นทุนอะไรบ้าง ทำไมเราถึงขายยาราคาสูงกว่าร้านขายยาใกล้บ้านที่บางทีเอาชาวต่างด้าว อาเจ้ อาเฮีย มายืนหน้าร้าน เภสัชกรที่มีแต่ชื่ออยู่ที่ข้างฝา หรือคงนั่งอยู่หลังร้านมั้ง มันจะคิดราคายาเท่ากันได้จริงๆ เหรอ?
วันนี้ผมก็เลยจะมาเล่าที่มาที่ไปของค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลสัตว์ต้องแบกรับ โดยที่หมอจบใหม่หลายท่านอาจยังไม่เคยตระหนัก คุณๆ ที่อยู่ในฐานะหมอมืออาชีพจะได้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของแต่ละยอดบิลครับ
เพราะโรงพยาบาลสัตว์คือธุรกิจชนิดหนึ่งเหมือนกัน
โรงพยาบาลสัตว์ก็คือธุรกิจที่เหมือนกันกับธุรกิจอื่นๆ ซึ่งย่อมมีต้นทุน และก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงเอาการอยู่เสียด้วยครับ ยกตัวอย่างพอเป็นกระษัยแล้วกันครับ เช่น ค่าเช่าอาคารรายเดือน เดี๋ยวนี้ถ้าในกรุงเทพก็หลายหมื่นบาท ผมได้ยินบางที่เป็นแสนต่อเดือนเลย (ถ้าอยู่ในเมืองชั้นใน) เราต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ตเช่นเดียวกัน แถมจะต้องจ่ายสูงกว่าด้วยครับ เพราะเครื่องมืออุปกรณ์ไฟฟ้าเราต้องใช้ไฟมากกว่าบ้านเรือนทั่วไป ราคาค่าไฟเป็นแบบก้าวหน้าจึงสูงกว่า แถมว่าเดี๋ยวนี้ เจ้าของสัตว์พาสัตว์มาหาหมอก็อยากให้ทราบผลเลยว่าป่วยเป็นอะไร ไม่ต้องถูก refer ไปรอคิวที่รพ.มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ เรียกได้ว่าอยากเริ่มและจบในที่เดียวเลย ทำให้ในปัจจุบันโรงพยาบาลส่วนใหญ่ต้องลงทุนเรื่องเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีราคาสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อ แต่เราไม่สามารถเก็บเงินได้เท่ากับโรงพยาบาลคน อย่าลืมนะครับว่า แม้เครื่องมือของเรากับของหมอคนจะเหมือนกัน แต่เราใช้จำนวนบุคลากรในการจัดการแต่ละขั้นตอนมากกว่า คนพาตัวเองไปตรวจกับหมอได้ มี technician คนเดียวดำเนินการก็ทำได้ แต่สัตว์ต้องมี technician ช่วยจับอย่างน้อยๆ ก็สองคน บางตัวต้องวางยาต้องมีคนดูเครื่องดมยาอีก นั่นจึงทำให้การพาสัตว์มาหาหมอ มีต้นทุนสูงกว่าคนใน procedure เดียวกัน
คลินิกสุนัขและแมว ลงทุนสูงกว่าคลินิกหมอฟันนะเชื่อไหม
ทราบไหมครับว่า เดี๋ยวนี้เครื่องเอกซเรย์มือหนึ่งเครื่องเดียวรวมตัวรับแปลงเป็นภาพ (CR, DR) ราคารวมแล้วมีตั้งแต่ 1,000,000 ถึง 2,000,000 บาท เครื่องอัลตราซาวด์ถ้าให้ดีหน่อยไม่ใช่ภาพผีหลอก ก็ราคาประมาณกันนั่นแหละ ราคาเครื่องมืออื่นๆ อีก เช่น เครื่องมือทำฟัน (ขูด กรอ ตัด) ซึ่งที่โรงพยาบาลสัตว์ก็มีเกือบทุกอย่างเหมือนกับคลินิกทันตกรรม อุปกรณ์ผ่าตัดเหมือนโรงพยาบาลคน อุปกรณ์ตรวจแลปต่างๆ ซึ่งบางเครื่องขนาดว่าผลิตจากเซิ่นเจิ้น เช่น เครื่องตรวจค่า CBC ก็ 3-5 แสนบาทแล้ว ยิ่งถ้าเป็นของฝรั่งก็ล้านกว่าบาท เครื่องตรวจ blood chem อีกหลายแสนบาท เครื่องเหล่านี้ราคาสูสีกันกับของคนเลย ในทุกกระบวนการที่มีความเจ็บปวดเราต้องวางยาสลบหมด ทำฟันก็ต้องวางยา อัลตราซาวด์บางครั้งก็ต้องวางยา สวนปัสสาวะกรณีนิ่วอุดตัน ก็ต้องวางยา เครื่องดมยาจึงต้องมี ในขณะที่คลินิกทันตกรรม (ของคน) หลายๆ procedure หากไม่ได้ทำในเด็กก็อาจไม่จำเป็นต้องวางยา แต่สัตวแพทย์วางยาในหลายกรณีครับ เครื่องดมยาเครื่องหนึ่งเดี๋ยวนี้ถ้าเอาปลอดภัยอาจต้องมี ventilator ด้วย ราคาขั้นต่ำ (made in ประเทศเดิม) ก็ 3-4 แสนบาทขึ้นไป ถ้าเป็นของฝรั่งก็เฉียดล้าน up ที่กล่าวมานั่นก็เป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายทั้งนั้น ดังนั้นบอกมาว่า “เอกซเรย์ในสัตว์...โห...แพงกว่าคนอีก” “โห...หมาขูดหินปูนแพงกว่าคนอีก” ฟังแล้วเก็กซิม...นี่คงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้วิธีการขบหินปูนโดยไม่วางยาเกิดขึ้น ทั้งที่รู้ว่าเสี่ยงอันตรายจากการจับบังคับ แถมการขูดแค่ตรงส่วนเหนือขอบเหงือกกับการไม่ได้ขูดเลย ผลต่อสถานการณ์โรค periodontal ก็ไม่ต่างกัน แค่ดู pseudo-beauty จนเกิดความชะล่าใจว่าฟันยังดีอยู่เท่านั้น
คนทำงานก็ต้องมีเงินเดือน
สัตวแพทย์ทำงานคนเดียวไม่ได้ แน่นอนครับว่าต้องมีผู้ช่วยสัตวแพทย์ ต้องมี technician ทุกคนล้วนมีค่าจ้างหรือเงินเดือนพนักงาน technician ระดับป.ตรีที่เดี๋ยวนี้ขั้นต่ำเขาก็ให้กัน 80-100 บาทต่อชั่วโมง ส่วนผู้ช่วยฯระดับ ปวช. ปวส. ก็อาจต่ำกว่านี้หน่อย สัก 60-80 บาทต่อชั่วโมง ซึ่งก็ถือว่าเดือนๆ หนึ่งก็มีค่าจ้างสูงถึง 12,000-20,000 บาทต่อคนต่อเดือน นี่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลา (OT) ส่วนเงินเดือนสัตวแพทย์เราก็ไม่ได้มากมาย ถ้าเทียบกับหมอในสาขาวิชาชีพอื่นๆ อย่างหมอคนหรือหมอฟัน ยิ่งถ้าเป็นหมอเฉพาะทางของคนเขามีรายได้ต่อเดือนสูงกันถึงหลายล้าน (กรณีทำงานในรพ.เอกชนชั้นนำ) ในขณะที่สัตว์แพทย์จบใหม่มีรายได้ประมาณ 25,000 บาทเท่านั้น (กรณีทำงานแบบ full time จำนวน 40 ชม.ต่อสัปดาห์นะครับ) แม้ว่าจะต้องทำงานหนักเหมือนกัน วันละ 10-12 ชั่วโมง บวกกับความเสี่ยงถูกกัด ถูกข่วนอีก และยังต้องเจอกับเรื่องเครียดเพราะว่ามีสัตว์อาการหนักในวอร์ด และอารมณ์เจ้าของสัตว์ที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียอีก มันไม่ได้สวยงามเหมือนในการ์ตูนนะครับ ทั่วโลกพบสถานการณ์แบบนี้เหมือนๆกัน ถ้าหากเรามาทำงานสัตวแพทย์เพราะเงินเป็นหลัก ผมว่าเราคงเลิกทำกันไปแล้ว ไปเรียนหมอคนหรือหมอฟันดีกว่า เงินดีกว่าครับ แต่เพราะว่าสัตวแพทย์อย่างพวกเราต่างรักและมีความสุขที่จะช่วยเหลือสัตว์ที่น่าสงสารมากกว่า หมาแมวป่วยมันก็ยังดูน่ารักนะ มันน่าสงสารตรงที่มันพูดไม่ได้ บอกไม่ได้เหมือนเรา เจ็บปวดตรงไหน อาการเป็นยังไงก็พูดก็บอกไม่ได้สักอย่าง
กลับมาเรื่องเงินกันต่อ ดังนั้นเมื่อค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนมันสูงกว่าคลินิกหมอฟัน หมอรักษาผิวหนังผิวหน้า ราคาค่าใช้จ่ายเพื่อให้อยู่ได้ก็ย่อมสูงกว่าเช่นกันเพื่อจะได้สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนได้ เพราะหากจ่ายไม่ไหวเราก็ต้องเลิกกิจการไปเท่านั้นเอง ทำธุรกิจก็ต้องมีกำไร คนเขาเอาเงินมาลงทุนใครๆ เขาก็หวังผลกำไรกันทั้งนั้นครับ
ไหนจะค่าใช้จ่ายที่เราคาดไม่ถึงอีก
ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ค่าแม่บ้านทำความสะอาด ค่าซ่อมบำรุงอุปกรณ์ สาธารณูปโภคต่างๆ ค่านักบัญชี ค่าทำบัญชี ค่าโปรแกรม software บริหารจัดการ ค่า maintenance เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ภาษีประจำปี ประกันสังคม ประกันกลุ่ม ให้ลูกน้องที่รัก ค่า...ค่า...ค่า...ค่า...โอ้ย สารพัดที่เรียกเก็บจากลูกค้าไม่ได้ แต่ต้องจ่ายนะครับ ไม่จ่ายก็เปิดกิจการต่อไม่ได้ เนี่ย...แล้วจะไม่ให้ราคาแพงกว่ายาที่ซื้อจากร้านขายยาข้างบ้านได้ไง อันนี้แอบวิงวอนไปยังท่านเจ้าของสัตว์ป่วยที่บังเอิญผ่านมาอ่านด้วยครับ ผมอยากให้เข้าใจคุณหมอเจ้าของกิจการเหมือนกัน
นี่ยังไม่นับหมาแมวที่ถูกทิ้งไว้ในวอร์ดอีกนะ
เจ้าของหลายท่านที่ประสงค์ดี สงสารสัตว์ เห็นแมวหมาข้างทางอาการแย่ก็เก็บมา บางท่านผมนับถือน้ำใจนะ เพราะช่วยด้วยใจ แถมค่าใช้จ่ายนี่ก็ไม่เคยที่จะอิดออด สังเกตได้เลยครับว่าเธอสวยออกมาจากภายในเลย อันนี้ข้าพเจ้านับถือมาก มีอะไรที่พอช่วยประหยัดให้ได้ มียาบริจาคก็จัดให้เต็มที่สุดแรงเกิด
ก็กับอีกบางท่านที่ประสงค์ดีเหมือนกัน สงสารสัตว์จับใจแต่ไม่สงสารหมอเลย เอาเข้ามาวางหน้าร้าน แล้วจากไป เอามาให้แล้วแค่เล่าอาการให้ฟัง จ่ายเงินก้อนพอเป็นกระษัย แล้วหายหน้าขาดการติดต่อไปเฉยๆ...แล้วหมอต้องทำไงต่อล่ะครับทีนี้ คงต้องเลี้ยงกันจนจากกันไปข้างหนึ่ง ไม่หมอตายก่อนก็หมาตายก่อน สุดท้ายเต็มวอร์ดสิครับ...รออะไร อาหาร ยา ค่าเลี้ยงดู พื้นที่ที่จะเอาไว้ให้หมาแมวมีเจ้าของรายอื่นๆ เป็นอันจบ รายจ่ายเหล่านี้แบกไว้บนบ่าจนเดินขาขวิดกันไปมาแล้ว ถ้าเป็นฝรั่งคงส่งไปยังสถานรับเลี้ยงสัตว์จรของรัฐ ซึ่งสักพักหากหาบ้านไม่ได้ เขาก็ฉีดยาให้หลับหมด แล้วถ้าเป็นคุณๆ ในฐานะเจ้าของให้ฉีดยาให้มันตาย คุณจะทำไหม...หมอๆ หลายท่านที่เป็นพุทธมามกะ ไม่มีใครอยากทำหรอกครับ
คงเห็นกันแล้วนะครับว่ามีแต่ค่าใช้จ่าย และต้องจ่ายเสียตั้งแต่ยังไม่มีรายได้เลยด้วยซ้ำ นี่ยังมีต้นทุนอีกบานตะไทที่ยังต่อคิวรอรับการชำระ วันนี้คงจะพอทำให้คุณเห็นภาพรวมกันนะครับ ฉบับหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังต่อครับว่า แล้วเมื่อค่าใช้จ่ายสูงจนต้องตั้งราคาสูงกว่าร้านขายยาห้องข้างๆ แล้ว...ทำอย่างไรถึงจะมีลูกค้ามาใช้บริการกิจการของเรา หวังว่าทุกท่านจะรอติดตามอ่านกันนะครับ อย่าให้ผมรอเก้อเป็นสายบัวนะเอ้อ
สามารถติดตามอ่านบทความฉบับเต็มจาก ผศ.น.สพ.ศิราม สุวรรณวิภัช คอลัมนิสต์รับเชิญคนใหม่ล่าสุดของเรา ได้ในคอลัมน์ VetSikkha
---------------------------------------------------------------
นิตยสาร VPN ฉบับที่ 184 เดือน มกราคม 2561
: VET MARKETING 4.0 Issue ได้อ่านกันเร็วๆ นี้ค่ะ
สามารถสมัครสมาชิกได้ผ่านทาง LINE@
แค่คลิ๊ก https://line.me/R/ti/p/%40vpnmagazine
หรือค้นหา ID: (มี@ด้วย)
ติดต่อ/สอบถามได้ที่
inbox Facebook : VPNmagazine
E-mail : [email protected]
โทร. 0-2965-5020, 084-435-5675
( จ-ศ เวลา 8.00-16.00 น.)
Website : http://www.magazinevpn.com/