03/11/2024
📝 ภาวะอักเสบทั่วร่างกายในสัตว์เลื้อยคลาน เปรียบเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 🐢🐾
โดย สพ.ญ. อนัญญา ไทยมิตรชอบ (หมอมีน) และ ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล (อาจารย์แก้ว) 🩺
โรคบางโรคในสัตว์เลื้อยคลานจะถูกเรียกตามภาวะเหตุเป็นพิษจากการติดเชื้อ การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือการอักเสบทั่วร่างกายที่เกิดจากการติดเชื้อ (sepsis) เช่น septicemic cutaneous ulcerative disease และพบว่าการก่อโรคส่วนใหญ่ของเชื้อในสัตว์เหล่านี้มักทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย แต่เป็นการอักเสบที่เกิดอย่างช้าๆ เนื่องจากสัตว์เลื้อยคลานมีเมตาบอลิสมที่ต่ำ จึงไม่พบการอักเสบรุนแรงแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นอวัยวะทำงานล้มเหลว จึงจะแสดงอาการรุนแรง อย่างไรก็ตาม หากทำการสังเกตอย่างใกล้ชิดจะพบอาการที่พอจะนำไปสู่ความสงสัยและวินิจฉัยต่อไป ได้แก่ มีอาการผอม ผิวหยาบกร้าน ผิวหนังอักเสบ และอาจพบแผลและฝีที่ผิว ปลายตีนหรือระยางค์ของร่างกายส่วนต่างๆ การขับถ่ายและลักษณะของมูลผิดปกติ เช่น พบยูเร็ตมาก สีเขียวคล้ำ หรือท้องเสียถ่ายเหลว จนไปถึงไม่พบการขับถ่าย และระดับกิจกรรมลดลงเรื่อยๆ เป็นต้น และพฤติกรรมที่มักพบผิดปกติ คือ ลดการกินอาหาร อาบแดดนานผิดปกติ (เพิ่มเมตาบอลิสม และการได้รับยูวีเอกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสัตว์เลื้อยคลานและความอยากอาหาร) และนอนนานกว่าปกติ แม้ว่าอาการเหล่านี้จะไม่แตกต่างจากโรคอื่นๆ แต่หากพบให้สัตวแพทย์และผู้เลี้ยงประเมินไว้เบื้องต้นว่ามีโอกาสเป็นภาวะเจ็บป่วยและเสี่ยงต่อการอักเสบทั่วร่างกายไป ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่ความตาย
จะมีวิธีการอย่างไรในการพิสูจน์ว่าสัตว์ที่กำลังตรวจอยู่กำลังเสี่ยงต่อภาวะอักเสบทั่วร่างกาย
ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะประเมินคล้ายกับในคนที่จะใช้เกณฑ์ 2 ใน 4 ในสุนัข และ 3 ใน 4 ในแมวจากกลุ่มอาการและผลเลือดที่ปรากฏ ซึ่งในที่นี้จะยกตัวอย่างเกณฑ์ในคนที่สุนัขและแมวประยุกต์มาใช้ และมีค่าแตกต่างกันไปตามด้านพยาธิสรีรวิทยา ดังนี้ 1. มีภาวะมีไข้สูง (หรือไข้ต่ำ) 2. หัวใจหรือชีพจรเต้นเร็วกว่า 90 ครั้งต่อนาที 3. อัตราการหายใจเร็วกว่า 24 ครั้งต่อนาที หรือค่า partial pressure of CO2 ต่ำกว่า 32 mmHg และ 4. ระดับเม็ดเลือดขาวจะสูงกว่า 12000 หรือต่ำกว่า 4000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร และพบว่า band form มากกว่าร้อยละ 10 อย่างไรก็ตาม ค่าดังกล่าวเป็นการประเมินเบื้องต้นและยังจำเป็นต้องประเมินกับกลุ่มชุดอาการที่เกิดร่วมกันได้เสมอ และยังต้องประเมินว่าสัตว์อยู่ในสภาวะ compensatory หรือ decompensatory เพราะค่าจะเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดวิกฤติก่อนเสียชีวิต จึงพบว่ามีการตรวจอย่างอื่นร่วม เช่น ค่าแลคเตสในเลือด และเฝ้าระวังอาการอื่นๆ แม้ว่าสัตวแพทย์จะนำมาวิจัยและใช้ในสัตว์แล้ว ก็พึงเข้าใจและระมัดระวังในการใช้เครื่องมือนี้
เมื่อนำมาใช้ในสัตว์เลื้อยคลานจะประเมินด้วยหลักการเดียวกันได้หรือไม่?
คำตอบคือ นำมาใช้ได้โดยหลักการแต่ไม่ใช่ทั้งหมด และจะได้เกริ่นสักหน่อยถึงแนวทางในการรักษาที่สัตวแพทย์จำนวนไม่น้อยเข้าใจผิด
ในสัตว์เลื้อยคลานไม่สามารถใช้การประเมินอุณหภูมิร่างกายได้ แต่เราจะประเมินจากสิ่งใดแทนได้ นั่นคือการอาศัยที่พฤติกรรมอาบแดดผิดปกติ ที่เรียกว่า induced hyperthermia ซึ่งต้องแยกจากการอาบแดดจากภาวะร่างกายเย็นจากฤดูหนาวหรือจำศีล เพราะไม่เหมือนกัน
ส่วนการประเมินจากอัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจ จะเหมาะสมกับในรายที่เพิ่งเกิดภาวะช็อค (acute shock) ที่ยังเกิดเป็น compensatory shock อยู่ ที่จะพบการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับภาวะพัก แต่ไม่ต่างจากเมื่อตื่นเต้นหรือถูกจับบังคับ จะเห็นชัดเจนในจระเข้ แต่ในสัตว์เลื้อยคลานที่เมื่อมาพบสัตวแพทย์ในขณะแสดงอาการป่วยแล้วมักจะเป็นอัตราต่ำทั้งสองอย่าง หัวใจเต้นช้า และหายใจช้า ทั้งนี้เป็นไปได้ที่เกิดขึ้นโดยปกติในภาวะพักของสัตว์ แต่อย่างไร ในกรณีที่เป็น septic shock มักจะเกิดภาวะความดันต่ำอย่างมาก สัตว์ต้องปรับตัวโดยการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อรักษาระดับ cardiac output แต่สัตว์เลื้อยคลานกลับประเมินได้ยาก และยังใช้ค่าทั้งสองวัดภาวะกรดในร่างกายสูงและมีการ compensatory shock ไม่ได้ เนื่องจากสัตว์เลื้อยคลานจะทนทานต่อการพบระดับแลคเตสสูง (lactate intolerance) ได้ดีกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมทั้งภาวะออกซิเจนในร่างกายต่ำหรือช็อคนั้น มักจะแสดงอาการไม่ชัดเจนนั่นเอง แต่ในการตรวจภาคปฏิบัติสามารถใช้ชีพจร การเต้นของหัวใจทั้งอัตราการเต้นและความแรงในการพิจารณาได้ ในสัตว์เลื้อยคลานที่เกิดภาวะนี้จะพบหัวใจเต้นเบาและช้า
อย่างไรก็ตามค่าเม็ดเลือดขาวจะช่วยในการประเมินได้ดีขึ้น ในระยะที่สัตว์ป่วยมาพบสัตวแพทย์มักจะเป็นระยะรุนแรงและเกิดอวัยวะต่างๆ ทำงานแย่ลงแล้ว (multiple organ dysfunction) ระดับเม็ดเลือดขาวรวมทั้งเม็ดเลือดแดงมักจะต่ำลงอย่างมาก แต่จะพบการสะสมจองเซลล์เม็ดเลือดขาวในบริเวณเนื้อเยื่อที่เกิดการอักเสบเป็นจำนวนมาก หลังจากทำการผ่าชันสูตรและกระบวนการทางพยาธิวิทยา และจะพบเนื้อเยื่อเกี่ยวพันทั่วร่างกายหรือช่องว่างลำตัว พบของเหลวและจุดเลือดออกในช่องว่าง ร่วมกับอวัยะต่างๆ มีการอักเสบหลายรูปแบบ
การตรวจเชื้อในกระแสเลือดเพื่อยืนยันใช้ได้ผลหรือไม่? โดยปกติการจะระบุว่าเกิด sepsis แยกจากภาวะ SIRs หรือการอักเสบที่ไม่ได้จากการติดเชื้อในกระแสเลือดนั้นต้องอาศัยการเก็บตัวอย่างเลือดในคนป่วยมาตรวจ แต่พบว่ามีการอนุโลมในเด็กเพราะอาจตรวจไม่พบเชื้อ แต่อาศัยอาการทางคลินิก และปัจจัยอื่นๆ ช่วยประเมิน รวมไปถึงการใช้ยาปฏิชีวนะและมีการตอบสนองต่อการรักษา ซึ่งต้องมีระยะเวลาที่เหมาะสม (5-7 วัน) ในกรณีที่ได้รับยา 1-2 วันแล้วอาการไข้ดีขึ้น อาจจะไม่ใช่กรณี sepsis แต่เป็นเพียง fever ทั่วไป ในสัตว์เลื้อยคลาน การตรวจเชื้อจากเลือดอาจไม่พบเชื้อที่สงสัยเสมอไปเช่นกัน แต่มักจะพบได้เมื่อเก็บจากเนื้อเยื่อ รอยโรค เมื่อทำการชันสูตรซาก และเมื่อทำด้านจุลพยาธิวิทยาจากรอยโรค
แล้วประเมิน sepsis ของสัตว์เลื้อยคลานได้จากอะไรในเมื่อค่าต่างๆ วัดได้แต่อาจไม่แม่นยำ: เมื่อทราบโดยหลักการของการอักเสบทั่วร่างกายว่า เกิดจากการอักเสบติดเชื้อจากที่ใดที่หนึ่งและกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ หรือห่างจากบริเวณติดเชื้อแรก และไปพบการติดเชื้อชนิดนั้นที่อวัยวะหรือส่วนอื่น และก่อให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้นทั่วร่างกาย ในสัตว์เลื้อยคลานที่ขณะมาตรวจมักจะเข้าข่าย severe sepsis เนื่องจากเป็น sepsis ที่เกิดร่วมกับ organ dysfunction แล้ว และพบ 2 อวัยวะขึ้นไป
ดังนั้นการประเมินจึงสังเกตได้จากอาการที่ได้กล่าวมาข้างต้น และทำการสำรวจเพิ่มเติมโดยการตรวจเลือด ซึ่งยังสามารถช่วยประเมินได้ดี และอาจได้ประเมินการเสื่อมของอวัยวะหลักในการประเมินความรุนแรงร่วม เช่น ตับ ไต เป็นเบื้องต้น โดยอาศัยร่วมกับอาการที่พบ การเพาะเชื้อจากเลือดหรือป้ายจากหลอดลมซึ่งมักพบการก่อโรคในระบบหายใจร่วมด้วยเสมอ ทั้งในกลุ่มเชื้อ Chlamydia, Streptococcus, Staphylococcus, Mycoplasma และ Coliform bacteria ต่างๆ และการสำรวจที่ทำได้สะดวกและแนะนำคือการเอกซเรย์สำรวจ ซึ่งเป็นงานเบื้องต้นที่ควรทำเพื่อร่วมการตัดสินใจ
อาการที่พบเพิ่มเติมเมื่อทำการตรวจ มักจะพบช่องปากอักเสบรุนแรงทั้งที่มีและไม่มี diphteritic membrane หลอดลมแดงและบวม มักจะพบร่วมกับช่องเพดานปากบวมแดง มีเสมหะเหนียวข้นติดไปถึงหลอดลม จะพบหน้าบวมหรือไม่ก็ได้ พบจุดเลือดออกตามร่างกาย รูทวารรวมบวมแดง มักมีคราบยูเร็ตเปรอะเปื้อนหรือมีการขับปัสสาวะบ่อยกว่าปกติได้ เมื่อทำการเอกซเรย์สำรวจซึ่งช่วยได้ดีมาก ในภาวะการอักเสบทั่วร่างกายมักจะใช้อย่างน้อยสองอวัยวะในการประเมิน และในสัตว์เลื้อยคลานมักพบปอดผิดปกติได้เป็นอันดับต้นๆ และใช้วัดระดับความรุนแรงได้ ในระยะแรกปอดมักจะ opacity ขึ้นแบบ interstitial pattern โดยเห็นเป็น recticular หรือ linear เป็นเส้น จะยังไม่เป็นแบบ nodular หรือ recticulonodular เมื่อรุนแรงขึ้น จะพบลักษณะขาวขุ่นแบบกระจาย หรือหมอก (hazy) และรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อเห็นเป็นเส้นขาวมีความเด่นเท่าๆ กับอวัยวะอื่นๆ รอบข้าง มักจะเกิดจากการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันจากการอักเสบ และกระบวนการซ่อมแซม ระยะนี้มักบ่งชี้ว่ากระบวนการอักเสบได้ดำเนินมานานแล้ว จนสร้างพังผืดในช่องว่างร่างกายและเกี่ยวกับอวัยวะต่างๆ และยังแสดงว่าอวัยวะต่างๆ ได้อักเสบและผ่านกระบวนการเหล่านี้มาแล้วเช่นกัน และเสี่ยงต่อการสูญเสียหน้าที่สำคัญในร่างกาย
และส่วนใหญ่ตั้งแต่ที่กระบวนการอักเสบเพิ่งดำเนินไปจะพบลำไส้และอวัยวะข้างเคียงอักเสบทำให้ดูได้ง่ายกว่าและสามารถทำการพยากรณ์ร่วมได้ดีและให้ความแม่นยำได้คือการพบ generalized ileus ในอัตราร้อยละ 100 แม้ว่าจะเกิดจากการอุดกั้นแบบสมบูรณ์ในทางเดินอาหารได้ (complete obstruction) ในสัตว์ แต่ภาวะอุดกั้นแบบสมบูรณ์พบได้ยากมักพบเป็น localized ileus แทน และเห็นบริเวณที่มีการอุดกั้น รวมทั้งการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ก็มักจะทำให้ทางเดินอาหารข้างเคียงเกิด localized ileus เท่านั้น และอาจสังเกตเห็นผนังลำไส้มีการหนาตัวและขาวขึ้นกว่าปกติได้ ซึ่งจะสัมพันธ์กับผลการชันสูตรซาก ซึ่งลักษณะ generalized ileus มักพบในเต่าเสือดาว เรเดียต้า อัลดราบา แต่ลักษณะที่เป็นแบบ diphteritic เมื่อผ่าชันสูตร มักจะพบในเต่าซูลคาตา และจระเข้จำนวนมาก อย่างไรก็ตามในตัวเงินตัวทองมักจะพบจุดเลือดออกในอวัยวะภายในจำนวนมาก และมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และหลายรายพบของเหลวในช่องว่างลำตัวจากการอักเสบ และเปลี่ยนเป็นพังผืดในรายที่เกิดขึ้นนาน
การพยากรณ์และแนวทางรักษา?
การพยากรณ์ในสัตว์ที่เป็น severe sepsis ต้องเป็น poor หรือมีเหตุผลว่าไม่รอด แต่เพราะสัตว์เลื้อยคลานมักจะหลอกตา ตายยากในหลายเคส และพวกเขาทั้งหลายย่อมเชื่อว่ามีหวัง สัตวแพทย์ไม่ใช่เทวดา คนที่เข้าใจเคสลึกซึ้งผ่านประสบการณ์มาแล้วมักจะไม่ยินบอกว่าเคสนี้จะรอด เพราะเห็นหลักฐานบ่งชี้อยู่หลายประการ แม้กระทั่งการพบหลักฐานเดียวคือ generalized ileus และ edema ของระบบทางเดินอาหาร อย่างไรก็ตามสัตวแพทย์มักต้องค้นหาหลักฐานอื่นร่วมเป็นชุดอาการ (clinical approach algorithm) สัตวแพทย์ก็ต้องระมัดระวัง
มีหลายเคสพยายามทำการรักษาเคสเหล่านี้ ซึ่งตามหลักในการรักษา sepsis จะใช้หลัก EGDT เมื่อประเมิน ซึ่งสัตวแพทย์ควรทำความเข้าใจเรื่องนี้กันเพิ่มเติม เพราะหลายคนยังเห็นว่าการรอผลค่าเลือดสำคัญกว่าอาการที่ปรากฏ เพราะในกรณีที่ประเมินว่าเคสนั้นๆ เกิด septic shock การให้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมหรือตามข้อมูล (data base) ให้เลือกใช้ยาได้ในทันทีภายใน 1 ชั่วโมงแรก แม้ในสัตว์เลื้อยคลานไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าสามารถช่วยได้ดีเท่าในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือไม่ และในคนพบว่าการเลือกใช้ empirical drugs จาก data base จะช่วยลดอัตราการตายจาก sepsis ได้เกือบร้อยละ 8 และการจัดการควรสำเร็จภายใน 6 ชั่วโมงในการแก้ไขสภาวะช็อคและวิกฤติ อย่างไรก็ตาม ในสัตว์เลื้อยคลานจากภาคปฏิบัติอาจไม่จำเป็น เพราะส่วนใหญ่จะเสมือนตอบสนองต่อการรักษาได้ดีในระยะแรก เมื่อประคับประคองอาการไปเรื่อย และหากตอบสนองต่อยาต้านจุลชีพ โอกาสรอดมีชีวิตอีกระยะจึงเกิดขึ้น แต่ไม่ต่างอะไรจากการเลี้ยงไข้ในรายที่เป็น severe sepsis เพราะอวัยวะเกิดการเสื่อมไปแล้ว ในที่สุดสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้จะตาย ตั้งแต่ระยะสั้นๆ สัปดาห์ถึงเดือน หรือระยะยาวเป็นเดือนถึงปี บางตัวที่พยายามยื้อ ประคับประคอง ป้อนยาและอาหาร ตรวจซ้ำๆ บ่อยๆ ก็อาจจะนานถึง 3-5 ปี สัตว์ป่วยมักจะผอม ไม่เติบโต ผิวหยาบกร้านและเป็นแผล ไม่กินอาหารซึ่งต้องป้อน แต่สุดท้ายเมื่อชันสูตรก็ยังพบปัญหาเดียวกัน เชื้อชนิดเดียวกัน และรอยโรคเรื้อรังแบบตัวที่ตายไปก่อนหน้านั้น
ในสัตว์เหล่านี้เมื่อทำการตรวจมักมีค่าเลือดผิดปกติแต่แรก สัตวแพทย์ที่ยึดแนวคิดแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาจมองไม่เห็นมุมที่ต่างกัน เมื่อต้องพิจารณาการรักษา severe sepsis โดยหลัก EGDT ซึ่งผลที่ทำให้ค่าเลือด (blood chemistry) เหล่านี้สูงขึ้นอาจไม่ได้เกิดจากยาที่ใช้รักษาแม้ว่าจะเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อสัตวแพทย์จำเป็นต้องเลือก empirical drugs ที่ตรงกับข้อมูลเชื้อมีความสำคัญกว่า เช่นทั้ง Chlamydia
🐶🐱🐭🐹🐰🦊🐻🐯🐮🐷🐸🐵🐔🐦🦅🦉🐢🐍🦎
#คลินิกออนไลน์สำหรับสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ
www.epofclinic.com...............................................................................
#ภาวะอักเสบทั่วร่างกายในสัตว์เลื้อยคลาน #โรคในสัตว์เลื้อยคลาน
#สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม #รักษาสัตว์เลี้ยง
#ปัญหาสุขภาพในสัตว์เลี้ยง #เกร็ดวิชาการขวัญคำ
#หมอเอกโซติก #หมอสารพัดสัตว์
#โรงพยาบาลสัตว์ขวัญคำ #โรงพยาบาลสัตว์ExoticPet
#รักษาสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ