04/09/2023
มีบทความนึงที่น่าสนใจ เกี่ยวกับความเครียดของน้องแมว ที่เป็นการเตือนทั้งสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่เทคนิคการสัตวแพทย์ รวมถึงเจ้าของสัตว์ คือภาวะเครียดจากการเดินทาง จากบ้านไปคลินิก/โรงพยาบาลสัตว์ จนกระทั่งการนั่งรอคิวตรวจรักษา ณ สถานพยาบาลสัตว์ แค่ช่วงเวลาไม่นานส่งผลต่อระบบต่างๆ ของน้องแมว ทำให้บางครั้งผลการตรวจร่างกายของน้องแมว คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง คุณหมอหลายๆ ท่านอาจจะมองถึงการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของเม็ดเลือดขาว ที่เรียกว่า stress leukogram (lymphopenia - จำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ลดลง / neutrophillia - จำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลสูงขึ้น / eosinopenia - จำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดอิโอซิโนฟิลลดลง) เป็นข้อมูลหลัก ซึ่งที่จริงแล้ว นอกจากการเปลี่ยนแปลงของเม็ดเลือดขาวแล้ว ยังมีอีกหลายส่วน อาทิ เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น อัตราการหายใจสูงขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น อุณหภูมิสูงกว่าปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ค่าระดับอิเล็คโตรไลท์ในเลือด หรือฮอร์โมนผิดปกติ ซึ่งการแปลผลอาจจะต้องมานั่งย้อนพิจารณากันว่า ขณะที่น้องแมวรอการเจาะเลือดอยู่นั้น น้องมีความเครียดแค่ไหน ไม่เช่นนั้นก็อาจจะแปลผลเลือดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ตรวจกี่ครั้งก็ยังคงผิดปกติอยู่นั่น กลายเป็นการกล่าวโทษน้องแมว ผู้เลี้ยง หรือห้องปฏิบัติการไปเสีย
การสังเกตพฤติกรรมของน้องแมว ร่วมกับการแสดงออกทางด้านร่างกาย ก็เป็นส่วนช่วยในการพิจารณาความเครียดได้ในระดับหนึ่ง
- ม่านตาขยาย ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงมาก (ในสภาวะแสงมาก ม่านตาจะหดเป็นขีดแนวตั้ง เมื่อสภาวะแสงน้อย ม่านตาถึงจะขยายกลมโต)
- หูลู่ไปทางด้านหลัง อาจขี้ตั้งไปทางด้านหลัง หรือแบราบไปกับศีรษะก็ได้
- หนวดชี้ตั้งฉากกับใบหน้า
- เคี้ยวปาก (คล้ายเราเคี้ยวหมากฝรั่ง) และเริ่มมีน้ำลายไหล
- ปัสสาวะหรืออุจจาระออกมา
- เก็บหางไว้ใต้ลำตัว ปลายหางมักขดม้วน
- หายใจหอบถี่
- พยายามตะกุย carrier (หาทางหนี)
- พฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ขู่ ตบ กัด ทั้งที่ผู้เลี้ยงไม่เคยพบเจอมาก่อน
การคงอยู่ของความเครียดภายหลังกลับจากคลินิก/โรงพยาบาลสัตว์ สามารถเกิดขึ้นได้อีกระยะหนึ่ง บางรายไม่ใช่แค่ออกจากคลินิก/โรงพยาบาลสัตว์แล้วหายเครียดเลย แต่ใช้ระยะเวลาเป็นหลายชั่วโมง หลายวันก็สามารถพบได้ การคงอยู่ของความเครียดส่งผล ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ (ภูมิคุ้มกันลดลง), เร่งการแสดงอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หัดแมว ลิวคีเมีย เอดส์แมว ช่องท้องอักเสบติดต่อ ในกรณีที่น้องป่วยเป็นโรคดังกล่าวอยู่แล้ว, การหายของแผลนานขึ้น, ไวต่อความเจ็บปวด หรือการตอบสนองต่อการทำวัคซีนลดลง นอกจากนี้ยังสร้างภาพจำที่ไม่ดีต่อ carrier, การนั่งรถ, คลินิก/โรงพยาบาลสัตว์ รวมไปถึงสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อีกด้วย
พฤติกรรมการตอบสนองต่อการคงอยู่ของความเครียดภายหลังกลับจากคลินิก/โรงพยาบาลสัตว์ อาทิเช่น พฤติกรรมก้าวร้าวต่อแมว (สัตว์อื่น) ในบ้าน (ที่ไม่ได้ไปคลินิก/โรงพยาบาลสัตว์), พฤติกรรมก้าวร้าวต่อผู้เลี้ยง และมีรายงานว่าพฤติกรรมดังกล่าวอาจจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อไปคลินิก/โรงพยาบาลสัตว์ในครั้งต่อๆ ไป
สิ่งหนึ่งที่ทางคลินิกแมวดื้อ พยายามทำมาตลอด คือการนัดหมายคิวตรวจรักษา เพื่อลดช่วงเวลาที่น้องแมวจะต้องรอคิวตรวจ ลดความเครียดจากการที่ต้องพบเจอ ได้กลิ่น ได้ยินเสียง สัตว์ตัวอื่นๆ ในคลินิก อันจะส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจของน้องแมว รวมถึงรณรงค์การใช้ตะกร้าหรือบ็อกซ์ในการพาน้องแมวออกนอกบ้าน การอยู่ใน carrier ของน้องเอง จะช่วยสร้างความรู้สึกคุ้นเคย ปลอดภัย ไม่ควรใช้การอุ้มน้อง นอกจากไม่สร้างความปลอดภัยให้แก่น้องแมวแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อผู้เลี้ยงจากการโดนน้องข่วนจิกได้อีกด้วย
#เพราะความเครียดมันน่ากลัว