03/04/2022
แนวทางการฝึกนิสัยสุนัขเบื้องต้น
1. เข้าใจพฤติกรรมสุนัขก่อน
การฝึกสุนัขสามารถเริ่มต้นได้ที่ 6-8 สัปดาห์ แต่ถึงสุนัขจะมีอายุมากกว่านี้หรือโตแล้วก็สามารถฝึกได้เช่นกัน เพียงแต่อาจจะยากกว่าและต้องใช้เวลามากขึ้น สิ่งที่เจ้าของควรทราบคือสุนัขแต่ละพันธุ์มีความสามารถและสมาธิในการฝึกที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น สุนัขสายพันธุ์ German Shepherd สุนัขสายพันธุ์ต้อนแกะต่างๆ และพุดเดิ้ล จะเรียนรู้ได้เร็วและรับคำสั่งได้ดี ในขณะที่สุนัขพันธุ์ผสม สุนัขที่มีประสาทดมกลิ่นดี เช่น blood hound จะมีสมาธิสั้นกว่าทำให้ถูกหันเหความสนใจได้ง่าย
การเข้าใจพฤติกรรมสุนัขจะทำให้เราสามารถฝึกได้ง่ายขึ้นเพราะเรารู้ว่าสาเหตุที่สุนัขทำแบบนั้นเพราะอะไรและหาทางจัดการได้อย่างเหมาะสม แต่อย่างไรก็ดีเจ้าของที่ฝึกสุนัขเองจะต้องมีความใจเย็นให้มากๆ เพราะสุนัขทุกตัวล้วนแต่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและฝึกการทำตามคำสั่ง เราไม่ควรคาดหวังว่าสุนัขจะทำตามคำสั่งเราได้ตั้งแต่การฝึกครั้งแรก บางครั้งอาจจะต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือหลายสัปดาห์ ที่สำคัญที่สุดคือไม่ควรทำโทษด้วยการตีหรือทำอะไรรุนแรงกับสุนัข เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้สุนัขเข้าใจแล้ว ยังทำให้ตัวสุนัขกลัว ก้าวร้าว และไม่เชื่อฟังเราอีกด้วย
2. เลือกสถานที่ฝึกให้เหมาะสม
สุนัขนั้นมีช่วงเวลาในการจดจ่อและตั้งสมาธิน้อยกว่าในมนุษย์ ดังนั้นการเริ่มต้นฝึกควรเริ่มจากห้องที่เงียบ ไม่มีคนเดินเข้าออกบ่อย และไม่มีสิ่งของที่เบี่ยงเบนความสนใจ เช่น โทรทัศน์ สัตว์ตัวอื่น หรือสิ่งของที่เคลื่อนไหวได้ หากจำเป็นต้องฝึกกลางแจ้งไม่ควรฝึกใกล้ถนนที่มีรถผ่านมากหรือสถานที่ที่มีคนแปลกหน้าเดินพลุกพล่าน เพราะจะทำให้สุนัขเสียสมาธิได้ง่าย จากนั้นจึงค่อยๆ เริ่มฝึก ไม่ควรฝึกนานเกินไปเพราะจะทำให้สุนัขเบื่อและสร้างความรู้สึกที่ไม่ดี เวลาฝึกต่อวันควรอยู่ที่ประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงก็เพียงพอ
3. รู้จักการให้รางวัลและชมเชย
หัวใจของการฝึกสุนัขคือการทำให้สุนัขเข้าใจว่าถ้าทำตามสิ่งที่เราสอนแล้วจะได้รับรางวัลหรือความรักจากเรา ในทางกลับกันถ้าสุนัขไม่ทำก็จะไม่ได้รับรางวัลเหล่านั้น สิ่งนี้จะเป็นแรงกระตุ้นเชิงบวกที่ทำให้สุนัขอยากทำพฤติกรรมที่เราต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อเริ่มต้นการฝึกเราต้องเตรียมขนมสุนัขชิ้นเล็กๆ เอาไว้สำหรับเป็นของรางวัลเมื่อเขาทำตามคำสั่งของเรา หรือหากเริ่มการฝึกไปในระดับหนึ่งแล้วอาจจะเปลี่ยนรางวัลจากขนมสุนัขเป็นคำชม การให้ของเล่นที่เขาชอบ หรือการกอดและลูบหัวแทนก็ได้
4. อย่าให้สุนัขเป็นผู้นำ
สุนัขเป็นสัตว์ที่มีธรรมชาติในการอยู่ร่วมกันเป็นฝูงและเชื่อฟังคำสั่งของจ่าฝูง ดังนั้นถ้าเราอยากให้สุนัขทำตามคำสั่งเราต้องแสดงให้สุนัขเห็นว่าเราคือจ่าฝูง เริ่มต้นได้จากการที่เราต้องเดินนำหน้าสุนัขเสมอ ไม่ยอมให้สุนัขขบหรือกัดตามร่างกายแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล่นๆ และไม่เดินไปหาหรือทำตามเมื่อสุนัขส่งเสียงเห่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้สุนัขเข้าใจว่าเราเป็นจ่าฝูงและทำให้เราฝึกสุนัขได้ง่ายขึ้น การเลี้ยงสุนัขที่ถูกต้อง ต้องอย่าให้สุนัขรู้สึกว่าตัวเองคือจ่าฝูงหรือหัวหน้าเพราะจะทำให้เขาทำอะไรตามใจและไม่เชื่อฟังคำสั่งของเจ้าของ
5. ฝึกนิสัยการกินให้เป็นเวลา
อย่างแรกที่เราสามารถฝึกสุนัขของเราได้เลยและง่ายด้วยคือการฝึกนิสัยให้สุนัขกินเป็นเวลา กำหนดตารางในการให้อาหารอย่างเหมาะสม ประมาณ 2 มื้อต่อวัน ในช่วงแรกให้เทอาหารให้สุนัขทาน ให้เวลาประมาณ 20 นาที หากสุนัขกินไม่หมดหรือไม่ยอมกินให้เก็บชามอาหารขึ้นทันที ด้วยวิธีนี้สุนัขจะเริ่มเรียนรู้แล้วว่าต้องกินอาหารในเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นแล้วจะอดกิน และในช่วงระหว่างการฝึกนี้ไม่ควรให้ขนมสุนัขเพราะจะทำให้สุนัขเคยตัว ดังนั้นอาหารในแต่ละมื้อจึงสำคัญมาก ควรเลือกอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและมีประโยชน์อย่าง SUPERCOAT® (ซุปเปอร์โค้ท®) อาหารสุนัขที่คัดสรรวัตถุดิบอย่างดี มีคุณค่าตามหลักโภชนาการเพื่อพัฒนาให้สุนัขมีสุขภาพที่ดีจากภายในจนสังเกตเห็นได้ด้วยตัวคุณเอง
6. ฝึกขับถ่ายเป็นที่
ปัญหาสุนัขขับถ่ายเรี่ยราดนั้นนอกจากจะเป็นพฤติกรรมของสุนัขที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้บ้านมีกลิ่นเหม็นแล้ว ยังส่งผลต่อเรื่องสุขลักษณะความสะอาดภายในบ้านอีกด้วย ดังนั้นเราจึงควรฝึกให้สุนัขขับถ่ายเป็นที่ โดยเราควรเริ่มต้นจากการให้สุนัขลองฝึกขับถ่ายในจุดที่เราต้องการก่อน จากนั้นเมื่อถึงเวลาให้พาสุนัขไปขับถ่ายที่เดิมทุกครั้ง และให้รางวัล ด้วยวิธีนี้จะทำให้สุนัขค่อยๆ รู้ว่าต้องขับถ่ายที่ไหน
7. ฝึกคำสั่งง่ายๆ
เมื่อสุนัขเริ่มเรียนรู้ตารางชีวิตประจำวันแล้ว ลองขยับการฝึกด้วยคำสั่งง่ายๆ เช่น เรียกชื่อ นั่ง และรอ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการฝึกเรียกชื่อก่อน วิธีการฝึกเรียกชื่อทำได้โดยเรียกชื่อสุนัขแล้วเขย่ากล่องขนม ถ้าสุนัขหันมาหาให้เราให้ขนมทันที ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะทำให้สุนัขรู้ว่าต้องหันเมื่อได้ยินคนเรียกชื่อ
จากนั้นให้ฝึกการนั่ง ทำได้โดยเอามือกำขนมไว้ จากนั้นยื่นไปบนหัวสุนัข สุนัขจะแหงนหน้ามองอัตโนมัติทำให้ค่อยๆ ย่อตัวนั่งลง เมื่อสุนัขนั่งแล้วให้เราให้ขนมแก่สุนัข ทำแบบนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ พร้อมกับสอดแทรกคำว่า “นั่ง” จนเขาเข้าใจ
ปิดท้ายกับคำสั่งรอ โดยเราต้องฝึกสุนัขนั่งให้ได้ก่อน เมื่อสุนัขนั่งได้แล้ว ให้ปล่อยให้เขานั่งซัก 3-5 วินาที ถ้าเขาทำได้ค่อยให้ขนม พร้อมกับพูดคำว่า “รอ” ทำแบบนี้ไปหลายๆ ครั้งเพื่อให้สุนัขเข้าใจคำสั่ง
การฝึกนิสัยสุนัขให้เข้ากับผู้เลี้ยง
การฝึกนิสัยสุนัขให้เข้ากับผู้เลี้ยง
1. เข้าใจตัวเราก่อนว่าใช้ชีวิตแบบไหน
แต่ละคนล้วนมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะต้องทำงานนอกบ้านบ่อยๆ ในขณะที่บางคนทำงานอยู่กับบ้านตลอดเวลา รวมไปถึงชอบพาสุนัขไปเที่ยวที่ต่างๆ หรือพาไปต่างจังหวัดด้วยไหม ลองศึกษาไลฟ์สไตล์ตัวเองก่อนว่าเราใช้ชีวิตแบบไหน รวมไปถึงไลฟ์สไตล์ของสุนัขด้วยว่าต้องเป็นสุนัขที่ออกกำลังนอกบ้านหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยกำหนดว่าเราจะฝึกสุนัขแบบไหนบ้าง เช่น เจ้าของที่ชอบพาสุนัขไปสถานที่ต่างๆ อาจจะต้องฝึกให้สุนัขไม่ตกใจกับคนแปลกหน้า คุ้นเคยกับสายจูง และมีนิสัยเป็นมิตร เป็นต้น
2. วางตารางการทำกิจกรรมร่วมกัน
เมื่อเราทราบไลฟ์สไตล์แล้ว ให้ลองวางตารางการทำกิจกรรมร่วมกันว่าจะทำอะไรบ้าง จะช่วยให้เรากับสุนัขปรับตัวเข้าหากันได้ง่ายขึ้น โดยเราอาจจัดตารางเวลาอย่างชัดเจน เช่น พาสุนัขไปเดินเล่นตอนเช้าก่อนไปทำงานทุกวัน ตอนเย็นจะเล่นด้วยกันเบาๆ อาบน้ำทุกๆ สองสัปดาห์ แปรงขนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ด้วยตารางเวลาที่แน่นอนจะทำให้สุนัขรู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร และการมีกิจกรรมร่วมกันจะทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับสุนัขแน่นแฟ้นมากขึ้น และส่งผลให้พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น ดุร้าย กัดแทะทำลายข้าวของลดลงอีกด้วย
3. ให้สุนัขรู้ว่าต้องนอนตอนกลางคืน
ในธรรมชาติสุนัขเป็นสัตว์ที่ออกหากินตอนกลางคืน แต่เราสามารถฝึกให้สุนัขมีวงจรการนอนหลับเหมือนกับเจ้าของได้ การฝึกให้สุนัขนอนตอนกลางคืนช่วยลดปัญหาชวนปวดหัวกับเพื่อนบ้าน เช่น การเห่าหรือหอน ของสุนัขลงได้ โดยเริ่มต้นจากการที่ให้สุนัขกินอาหารเป็นเวลา โดยเฉพาะมื้อเย็น จากนั้นให้พาสุนัขไปออกกำลังกายช่วงหัวค่ำ จะทำให้สุนัขได้ออกแรงอย่างเต็มที่และพร้อมนอนหลับสบายในตอนกลางคืนนั่นเอง
4. ฝึกการออกนอกบ้านและพบปะคนแปลกหน้า
สำหรับเจ้าของที่ชอบพาสุนัขไปเที่ยวงานสัตว์เลี้ยงต่างๆ หรือชอบพาไปออกกำลังกายนอกบ้าน ควรฝึกให้สุนัขคุ้นชินกับคนแปลกหน้าก่อน โดยอาจเริ่มจากพาไปพบคนแปลกหน้าจำนวนไม่มาก แล้วสังเกตพฤติกรรมสุนัขว่ากลัวหรือขู่หรือไม่ หากไม่มีก็ค่อยๆ พาไปในสถานที่ที่มีคนมากขึ้น แต่หากมีอาจจะค่อยๆ ให้เขาอยู่ห่างจากคนแปลกหน้าก่อน โดยให้สังเกตเห็นจากไกลๆ จนเขาเริ่มชิน จากนั้นค่อยๆ ขยับเข้าไปใกล้มากขึ้น
อีกเรื่องที่ควรฝึกสำหรับสุนัขที่ต้องออกนอกบ้านบ่อยๆ คือ สุนัขควรสามารถใส่สายจูงได้และอยู่ในสายจูงตลอดเวลาเพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝัน การฝึกใส่สายจูงทำได้โดยนำสายจูงมาให้สุนัขได้ดมและสำรวจก่อน สังเกตการแสดงออกของสุนัข จากนั้นค่อยๆ ใส่สายจูงทีละส่วน เป็นระยะเวลาสั้นๆ แล้วให้ขนมแก่สุนัข จากนั้นค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาจนกว่าสุนัขจะเริ่มคุ้นชิน
5. เรียนรู้การอยู่บ้านตัวเดียว
บางครั้งเราคงไม่สามารถพาสุนัขไปด้วยได้ตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงควรฝึกสุนัขให้สามารถอยู่บ้านตัวเดียวได้ โดยเราให้สุนัขค่อยๆ เรียนรู้ได้ว่าการอยู่ตัวเดียวในบ้านไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว การเลี้ยงสุนัขอยู่ตัวเดียวในบ้านควรเริ่มจากในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะค่อยๆ เพิ่มเวลาให้มากขึ้น และทำให้การออกจากบ้านเป็นเรื่องปกติ ไม่แสดงอาการทักทายหรือแสดงความรักก่อนจากลากับสุนัขมากเกินไป การให้สุนัขอยู่บ้านตัวเดียวได้ จะทำให้สุนัขไม่เกิดอาการกระวนกระวาย หรือกัดทำลายข้าวของ (สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฝึกสุนัขให้อยู่บ้านตัวเดียว ได้ที่นี่)
6. ปรับนิสัยสุนัขให้เหมาะกับสมาชิกในบ้าน
ในบางครอบครัวอาจจะมีสมาชิกที่อายุแตกต่างกัน ครอบครัวไหนที่มีผู้สูงอายุและเด็ก ควรฝึกสุนัขให้ระมัดระวังและไม่เล่นรุนแรง เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะบ้านที่มีการเลี้ยงสุนัขพันธุ์ใหญ่ถึงพันธุ์ยักษ์ รวมไปถึงควรฝึกให้สุนัขควบคุมอารมณ์ ไม่ตื่นเต้นตกใจง่าย หรือวิ่งเล่นอย่างไร้ทิศทาง เพราะมีอุบัติเหตุจากการที่สุนัขพุ่งชนจนผู้สูงอายุหกล้ม หรือสุนัขเล่นกับเด็กรุนแรงเกินไปโดยไม่ได้ตั้งใจจนเลือดตกยางออกมาแล้ว