31/07/2024
กฎมณเฑียรบาลว่าด้วย “ห้ามแตะต้องพระวรกาย” ใครว่ายลงไปช่วย มีโทษประหารชีวิต!
(ภาคต่อจาก) อุบัติเหตุครั้งยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมพระนางเรือล่ม!
ก่อนที่เรือพระประเทียบจะพลิกคว่ำลง พระองค์เจ้าสุนันทาทรงตกพระทัยเป็นอย่างมาก เรือพระที่นั่งโคลงเคลงไปมาใหญ่ เพราะลูกคลื่นได้ซัดเข้ามา สัญชาติญาณแห่งความเป็น"แม่"พระองค์เจ้าสุนันทาทรงอุ้มพระราชธิดาเข้ามาไว้ในอ้อมกอดและตื่นเต้นกับจังหวะของเรือและแล้วน้ำก็พรั่งพรูเข้ามาทางหัวเรือ พระพี่เลี้ยงแก้วร้องไห้ด้วยความตกใจและตกตะลึงทำอะไรไม่ถูก ไม่นานเรือพระประเทียบก็คว่ำลงไปทันที เรือปานมารุตที่ทำหน้าที่จูงจึงหยุดเครื่องทันที
เสียงตระเบ็งเซ็งแซ่ไม่ได้ศัพท์ดังขึ้นที่ชายฝั่งเพราะประจักษ์เหตุการณ์เฉพาะหน้าว่าอันตรายได้เกิดขึ้นกับเรือขบวนที่เพิ่งจะผ่านไปหยกๆจะเป็นเรือของใคร ไม่ว่าจะเป็นไพร่หรือเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินก็ตาม ความหมายคือการช่วยเหลือในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ข้าหลวงที่ตามเสด็จมาในเรือพระประเทียบซึ่งติดอยู่ในเก๋งเรือก็พยายามมุดหาทางออกมาจากเก๋งและว่ายน้ำไปเกาะที่เรือลำอื่นเพราะปรากฏว่าในตอนนั้นกระแสน้ำมิได้ไหลเชี่ยวประกอบกับเป็นที่ตื้น สำหรับพระองค์เจ้าสุนันทานั้นทรงว่ายน้ำเป็น แต่ปรากฏว่าขณะที่เรือล่มนั้นเจ้าฟ้าหญิงได้หลุดออกจากพระหัตถ์หายไปในทันที จึงทำให้พระองค์ไม่เสด็จออกจากเก๋งเรือ ทรงเป็นห่วงพระราชธิดา จึงได้ว่ายค้นหาอยู่ภายในเก๋งเรือจนกระทั่งหมดพระกำลังและสิ้นพระชนม์
ในขณะเรือพระประเทียบล่ม ทันใดนั้นเอง พระยามหามนตรีชูดาบขึ้น ออกคำสั่งโดยฉับพลันทันทีไม่ให้คนหนึ่งคนใดลงไปช่วยเนื่องด้วยขัดกับกฏมณเฑียรบาลแม้แต่ชาวบ้านสามัญที่ไม่รู้เรื่องว่ากฏมณเฑียรบาลคืออะไร พระยามหามนตรีออกคำสั่งเด็ดขาดไม่ให้เข้าใกล้และแตะต้องพระวรกายถึงกับชักดาบยืนตะโกนออกคำสั่งอยู่ที่หัวเรือกลไฟ พวกชาวบ้านงงงวยนักจึงทำได้เพียงช่วยพวกนางข้าหลวงนำส่งขึ้นเรือใหญ่
กฏมณเฑียรบาลซึ่งมิใช่จะประหารชีวิตผู้ทำความช่วยเหลือเท่านั้นแต่เป็นการประหารล้างโคตรจึงอาจจะกล่าวได้ทีเดียวว่าสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สิ้นพระชนม์ไปเพราะกฏมณเฑียรบาลกฏหมายอันมีมาแต่โบราณกาลกฏมณเฑียรบาลตอนนี้มีความหมายว่า
“ถ้าเรือพระประเทียบล่ม เจ้าพนักงานในเรือต้องว่ายน้ำออกจากบริเวณรอบ ๆ เรือ ถ้ายังอยู่ในบริเวณเรือที่ล่มนั้น มีโทษประหารชีวิต ถ้าเรือพระประเทียบล่ม หรือเจ้านายตกน้ำ กำลังว่ายตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอดอยู่ ให้เจ้าพนักงานในเรือที่ว่ายขึ้นฝั่งแล้วเอาไม้ยาว ๆ หรือโยนลูกมะพร้าวให้เจ้านายเกาะ ถ้าไม่มี ห้ามเจ้าพนักงานว่ายลงไปช่วยเจ้านายใครว่ายลงไปช่วยมีโทษประหารชีวิต เจ้าพนักงานคนไหนที่โยนลูกมะพร้าวให้เจ้านายเกาะแล้วรอดจะได้รางวัลขั้นต่ำเป็นเงินสิบตำลึง ถึงขั้นสูงสุดขันทองคำหนึ่งใบ แต่ถ้าคนที่โยนลูกมะพร้าวช่วยเจ้านายนั้นไม่ใช่เจ้าพนักงาน คนที่โยนนั้น มีโทษประหารยกโคตร”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
จากภาพด้านซ้าย พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงอุ้ม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ อรรควรราชกุมารี
จากภาพด้านขวาบน ภาพตัวอย่างลักษณะเรือเก๋งพระประเทียบ
จากภาพด้านขวาล่าง คุ้งน้ำ บางพูด อันเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ เรือพระประเทียบล่ม