15/08/2023
ถูกกฎหมายไม่ได้แปลว่าถูกต้อง?
Droit du seigneur คือกฎหมายที่เจ้านายอ้างสิทธิในความบริสุทธิ์ของหญิงสาว ที่ในยุคโบราณ บางแคว้นผู้ปกครองแคว้นได้ออกกฎว่า ก่อนแต่งงานเจ้าสาวต้องขึ้นเตียงกับเจ้าผู้ปกครองแคว้นก่อนถึงจะไปแต่งงานได้
ไม่ได้หมายความว่าเกิดขึ้นทั่วไปในยุคกลาง แต่มีเจ้าที่ตั้งกฎประเภทนี้อยู่จริงๆ ในประวัติศาสตร์
จะเป็นอย่างไรถ้าจู่ๆรัฐประกาศใช้ Droit du seigneur ขึ้นมาตอนนี้เวลานี้?
ถ้ากฎหมายคือคำสั่งของผู้มีอำนาจที่ไม่ต้องมีเหตุผลก็ได้ และทำงานเป็นกฎหมายด้วยตัวของมันเอง หมายความว่าเราก็ต้องยอมรับกฎแบบนี้ไปด้วยสิ?
แต่ถ้าเราบอกตัวเองว่าเราคงไม่ยอมรับกฎแบบนี้ แสดงว่ากฎหมายก็ไม่ได้ศักดิสิทธิ์ด้วยความที่มันเป็นกฎหมายเท่านั้น มันทำงานได้ด้วยเหตุอะไรบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังกฎหมาย
ดังนั้นกฎหมายจึงต้องมีเหตุผลรองรับ ว่าทำไมมันจึงเป็นกฎหมายที่ควรบังคับใช้และปฏิบัติตาม
และในทางเดียวกันกฎหมายก็ต้องถูกตั้งคำถามอยู่เรื่อยๆ ว่าเหตุผลของมันถูกต้องเหมาะสม และแก้ปัญหาได้จริงอย่างที่มันอ้างมั้ย
แต่เมื่อเราตั้งคำถามกับกฎหมายชิดหนึ่ง คนชอบใช้ตรรกะแบบทางลาดเอาสุดว่าเราจะยกเลิกกฎหมายทั้งหมด ให้บ้านเมืองไร้กฎหมายไปเลย ที่จริงไม่ใช่ เราแค่เช็คเหตุผลที่รองรับกฎหมายเป็นชิ้นๆไป
อย่างเช่น
การห้ามขี่รถบนฟุตบาท > มันก็มีเหตุผลในเรื่องการลดอุบัติเหตุ และมันก็เกิดอุบัติเหตุจากที่คนขี่รถบนฟุตบาทจนมีคนตายจริง เป็นต้น
แต่ถ้ากฎหมาย ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ว่าฟังก์ชั่นของมันคืออะไร และผลงานที่ผ่านมาของมันสวนทางกับที่มันโฆษณาไว้ กฎหมายนั้นก็ควรจะถูกตั้งคำถามว่าควรปรับเปลี่ยนหรือไม่
จารีตต่างๆที่ไม่ใช่กฎหมายก็เช่นกัน
เดวิด ฮูม ซึ่งนิยมจารีตบอกว่า จารีตเนี่ยมันมีประโยชน์ เพราะมันช่วงให้สังคมดำเนินไปในทางที่ดี และมันเคยทำงานได้ในยุคที่ผ่านมา คนเลยรู้ว่าอะไรมันควรไม่ควรโดยไม่ต้องมีกฎหมายก็ได้ - แต่เมื่อเวลาผ่านไป จารีตเก่าก็ไม่ทำงาน ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยเสียแล้ว - ดังนั้นจารีตเองจึงก็เหมือนกฎหมาย คือควรถูกเช็คเหมือนกัน ว่ามันมีเหตุผลรองรับหรือไม่ และมันยังเวิร์คหรือเปล่า
ปัญหาของสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยคือ ผู้ผูกขาดอำนาจขี้เกียจอธิบายกับผู้อยู่ใต้ปกครอง ว่าคำสั่งของผู้ปกครองนั้นมีเหตุผลอะไรให้ปฏิบัติตาม - และบางครังมันก็ไม่มีเหตุผล หรือเป็นเหตุผลในเชิงผลประโยชน์ และเหตุผลเกี่ยวกับการรักษาอำนาจของผู้ปกครอง - ผู้ปกครองจึงไม่อยากให้ประชาชนตั้งคำถามถึงเหตุผลของกฎหมาย
หลายครั้งที่มีการกวาดล้างผู้ที่ตั้งคำถามถึงกฎหมาย และจารีตสำหรับการรักษาอำนาจของผู้ปกครองอย่างรุนแรง
ลองคิดถึงสมัยที่มีจารีตห้ามมองหน้าเจ้านาย จารีตมันมีเพื่อรักษาอำนาจของเจ้านายแน่นอน - แต่จะเป็นยังไงถ้ามีคนตั้งตำถามถึงเรื่องนี้ในยุคอยุธยา? ผมเชื่อว่าไม่ต้องถึงเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ชาวบ้านน่าจะตบปากคนที่ถามคำถามนี้กันเอง เพราะจารีตของสังคมไพร่มันทำงานแบบนั้น (อาจจะกลัวโดนเจ้าลงโทษจนเดือนร้อนทั้งตระกูลหรือหมู่บ้านมั้ง)
ประเทศไทยพึ่งจะรู้จักกับประชาธิปไตยไม่ถึง 100 ปีเท่านั้น ดังนั้นจารีตที่มีอยู่เพื่อรักษาอำนาจแบบไม่เป็นประชาธิปไตยจึงยังมีรากลึกอยู่ในสังคมไทย
อันที่จริงแล้ว ในยุคของเรานี่ อาจจะเป็นยุคแรกที่ได้ตั้งคำถามถึง จารีต และ กฎหมาย ในสเกลคนทั่วไป ไม่ใช่คุยแต่ในหมู่ปัญญาชน หรือนักปฏิวัติปฏิรูป
ดังนั้นอย่าแปลกใจ ถ้าอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เคยเป็นจารีตซึ่งทำๆกันมาจะเริ่มถูกตั้งคำถามว่าทำไปทำไม
และถ้าคุณอยากรักษาจารีตประเพณีนั่นไว้ ควรไปนั่งคิดว่ามันมีเหตุผลเบื้องหลังอะไร และพยายามอธิบายเหตุผลนั้นให้ได้ - เพราะวิธีตบปากคนสงสัยแบบโบราณมันไม่ได้ผลแล้ว