10/05/2021
🤟🏻👍❤️ รวมผลวิจัยการทดลองการใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือนกับพืชผักชนิดต่างๆ
มีการทดสอบนำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่ได้จากกระบวนการย่อยสลายขยะอินทรีย์โดยใช้ไส้เดือนดินในการปลูกพืชหลายชนิด เช่น การนำมาผลิตไม้ดอกชนิดต่างๆ ภายในโรงเรียน รวมทั้งพืชสวนและพืชไร่ชนิดอื่นๆ ภายในฟาร์ม ซึ่งตัวอย่างของพืชที่ปลูกได้ผลดีในวัสดุปลูกที่มีส่วนผสมของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินได้แก่ มะเขือ มะเขือเทศ กะหล่ำปลี คะน้า สะระแหน่ พริก ดอกรักเร่ โพลีแอนทัส เบญจมาศ ซัลเวีย พิทูเนีย ข้าว ข้าวโพด และพืชปลูกชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด ซึ่งพบว่าพืชเหล่านี้เมื่อปลูกในวัสดุปลูกที่มีส่วนของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจะสามารถเจริญเติบโตได้เร็วและออกดอกได้เร็วกว่าปกติ
ซึ่งจากการทดลองของ Reddy (1988) พบว่า ภายหลังจากการใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่ได้จากการย่อยสลายขยะอินทรีย์ของไส้เดือนดินสายพันธุ์ Pheretima alerandri ทำให้ต้นแพงพวยและต้นข้าวมีจำนวนดอกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ Edwaeds and Burrows (1988) ได้ทดลองนำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินมาใช้เป็นวัสดุปลูกพืชและวัสดุเพาะกล้าพืชหลายชนิด เช่น มะเขือม่วง กะหล่ำ พริก แตงกวา ผักสลัด แรดดิช และมะเขือเทศ จำพวกไม้ดอก เช่น อะลิซั่ม (Alyssum) แอนเทอร์รินั่ม (Antirrhinum) แอสเตอร์ (Aster) ดอกระฆัง (Campanula) ดาวเรืองฝรั่งเศส (French marigold)
โพลิแอนทัส (Polyanthus) ซัลเวีย (Salvia) และสวีทพี โดยใช้ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินเพียงอย่างเดียว และใช้ผสมกับวัสดุปลูกพืชอื่นๆ เช่น ผสมปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินกับพีท เปลือกไม้หรือดินร่วน ในอัตรา 3 : 1 หรือ 1 : 1 แล้วนำทดลองปลูกพืชเปรียบเทียบกับวัสดุปลูกทางการค้า พบว่า พืชที่ปลูกในวัสดุปลูกที่มีส่วนผสมของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าวัสดุปลูกทางการค้าทั่วไป โดย มะเขือเทศและกะหล่ำ ที่ปลูกในวัสดุที่มีส่วนผสมของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจะงอกและเจริญเติบโตได้ดีกว่าที่ปลูกทางการค้า หรือที่ปลูกในพีทเพียงอย่างเดียวหรือวัสดุปลูกที่เป็นส่วนผสมของพีทกับทราย
ในการนำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินมาใช้เป็นวัสดุเพาะกล้า พบว่า เมล็ดสามารถงอกได้รวดเร็วกว่าวัสดุเพาะกล้าทางการค้าชนิดอื่นๆ โดยจากการทดลองเพาะ เมล็ดถั่ว ผักสลัด ข้าวสาลี กะหล่ำ มะเขือเทศ และแรดดิช พบว่า การงอกของต้นกล้ามะเขือเทศ กะหล่ำ และแรดดิช ที่เพาะในวัสดุเพาะกล้าที่เป็นปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจะได้ผลค่อนข้างดีและมีอัตราการงอกดีกว่าเมล็ดที่เพาะในวัสดุเพาะกล้าทางการค้า นอกจากนี้ในการย้ายกล้าเหล่านั้นไปปลูกในกระถางปลูกที่มีขนาดใหญ่หรือปลูกในแปลงปลูก พบว่า ต้นกล้าที่เพาะในวัสดุเพาะกล้าที่มีส่วนผสมของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าต้นกล้าที่เพาะในวัสดุปลูกทางการค้าทั่วไป
นอกจากนี้ในการนำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่ผลิตได้จากมูลสัตว์ มาใช้เป็นวัสดุเพาะกล้าโดยอัดเป็น “บล็อก” สำหรับเพาะกล้าพืช ซึ่งการเพาะกล้าในบล็อกเพาะกล้า เมื่อต้นกล้าพืชโตขึ้นก็สามารถยายไปปลูกในแปลงได้ทันทีและจากการทดลองเพาะกล้ากะหล่ำปลีในบล็อกเพาะกล้าที่ทำจากวัสดุปลูกทางการค้าโดยทั่วไปกับบล็อกเพาะกล้าที่ทำจากวัสดุเพาะกล้าที่มีส่วนผสมของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน เมื่อนำกล้าที่ได้จากการเพาะในบล็อกดังกล่าวย้ายไปปลูกลงแปลงและวัดอัตราการเจริญเติบโต พบว่า ต้นกล้าที่เพาะในบล็อกที่มีส่วนผสมของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจะมีขนาดต้นกล้าโตกว่าและเจริญเติบโตได้เร็วกว่ากล้าที่เพาะในบล็อกเพาะกล้าที่ทำจากวัสดุการค้าทั่วไป
Ferrira and Cruz (1992) ได้รายงานว่า การใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่ผลิตจากขยะอินทรีย์ในเทศบาลลงไปในแปลงปลูกข้างโพด โดยใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีในปริมาณที่ต่ำ จะทำให้ได้ผลผลิตข้าวโพดีมาก Kale et al., (1982) รายงานว่า การใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินในนาข้าวจะช่วยเพิ่มกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินได้ และเมื่อนำส่วนประกอบของธาตุอาหารพืชในปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่ได้เปรียบเทียบกับวัสดุปลูกทางการค้าที่ผสมปุ๋ยอินทรีย์ พบว่า ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่ได้ปริมาณแร่ธาตุอาหารมากกว่า (Buchanan et al., 1988) และเมื่อเปรียบเทียบคุณภาพของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่ได้จากกระบวนการผลิตปุ๋ยโดยใช้ไส้เดือนดินกับปุ๋ยหมักที่ได้จากหมักด้วยวิธีดั้งเดิมกับธาตุอาหารเสริมพืชที่ผลิตจำหน่ายทางการค้า พบว่า ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินมีส่วนประกอบของธาตุอาหารสูงกว่าและสามารถส่งเสริมให้พืชเจริญเติบโตได้ดีกว่า
นอกจากการนำปุ๋ยหมักไส้เดือนไปใช้เป็นปุ๋ยแล้ว ยังสามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมของวัสดุปลูก และวัสดุเพาะพืชได้ วัสดุปลูกพืชหรือวัสดุเพาะกล้าพืชที่มีส่วนผสมของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจะมีธาตุอาหารพืชอยู่ในปริมาณที่เจือจางและอยู่ในรูปพร้อมใช้ ซึ่งจะค่อยๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารให้กับต้นกล้าพืชในการเจริญเติบโตระยะแรกได้อย่างเหมาะสม ประกอบกับปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินมีโครงสร้างที่โปร่งเบาระบายน้ำและอากาศได้ดี และจุดความขึ้นได้มาก ดังนั้นต้นกล้าพืชจะสามารถเจริญเติบโตออกรากและชอนไชได้ดีมาก ในการนมาปลูกพืชจำพวกไม้ดอกไม้ประดับจะส่งเสริมให้พืชออกดอกได้ดีมากเนื่องจากจุลินทรีย์ในปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินสามารถสร้างเอนไซม์ฟอสฟาเตสได้ จึงทำให้วัสดุปลูกนั้นมีปริมาณของฟอสฟอรัสสูงขึ้นส่งผลให้พืชออกดอกได้ดียิ่งขึ้น (Satchell et al., 1984)
คุณสมบัติของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่นำไปใช้เป็นวัสดุปลูกพืชจะแตกต่างกันตามวัสดุที่นำมาใช้ผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน แต่โดยทั่วไปแล้วโครงสร้างของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่ได้จะมีลักษณะที่คล้ายกัน คือจะมีส่วนประกอบของธาตุอาหารพืชอยู่ในรูปที่พืชสามารถดูดไปใช้ได้มีส่วนประกอบของธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมเกือบทุกชนิดที่พืชต้องการ มีสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของพืชให้เกิดขึ้นได้อย่างปกติ (Edwards and Burrows 1988) และปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินมักจะขาดแคลนธาตุแมกนีเซียมและธาตุไนโตรเจนซึ่งบางครั้งจะมีปริมาณไม้เพียงพอต่อความต้องการของพืชบางชนิด นอกจากอินทรีย์หลายชนิดจะมีปริมาณธาตุอาหารพืชบางตัวที่มากเกินพอต่อความต้องการของพืชซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยหมักไส้เดือนดินดินเพื่อเพิ่มธาตุอาหารที่มีปริมาณน้อยให้เพิ่มมากขึ้นได้ นอกจากขยะอินทรีย์หลายชนิดที่ผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยไส้เดือนดินปกติมักจะมีค่าพีเอชเป็นกลางถึงเบสอ่อน (pH ประมาณ 7.0-8.0) ซึ่งพืชส่วนใหญ่จะชอบวัสดุปลูกที่มีค่าพีเอชเป็นกรดอ่อนถึงกลาง (pH ประมาณ 5.0-7.0) แต่ในดินทั่วไปที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูกพืชมักจะมีปัญหาในเรื่องดินเป็นกรดอยู่แล้ว ดังนั้น ในการเติมปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินลงในดินย่อมจะสามารถทำให้ค่าพีเอชในดินที่มีกรดอยู่แล้วมีค่าพีเอชที่เพิ่มสูงมากขึ้นเล็กน้อย หรือไม่เพิ่มค่าความเป็นกรดในดินให้สูงขึ้นกว่าระดับเดิมซึ่งจะส่งผลให้ดินนั้นมีความเหมาะสมของการเจริญเติบโตของพืช นอกจากนี้ ในการนำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่ได้มาผสมเป็นวัสดุปลูกพืชในกระถาง เพื่อให้วัสดุปลูกนั้นเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชและเกิดประโยชน์สูงสุดสามารถทำให้วัสดุปลูกนั้นมีค่าพีเอชที่เหมาะสมได้โดยการเติมวัตถุดิบที่มีความเป็นกรด เช่น พีท หรือ วัสดุอื่นๆ ที่เป็นกรด เพื่อปรับให้วัสดุปลูกมีค่าพีเอชเป็นกรดอ่อน สามารถปรับได้ตามความต้องการ
ในการนำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินมาใช้เป็นวัสดุปลูก ควรจะนำมาผสมกับวัสดุปลูกอื่นๆ ก่อน เนื่องจากปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจะประกอบด้วยอินทรีย์เป็นส่วนใหญ่ และมีอนุภาคของของดินอยู่น้อย ดังนั้นในการนำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่ได้มาผสมกับวัสดุปลูกชนิดอื่นๆ จะได้ผลดีกว่าและสิ้นเปลืองน้อยกว่าการใช้ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินเพียงอย่างเดียว ซึ่งในการปลูกพืชสวนประดับสามารถนำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินมาเจือจางได้หลายระดับ เช่น ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่ผลิตได้จากวัสดุที่เป็นมูลสุกรผสมกับมูลวัวในอัตราส่วน 50 : 50 การนำมาใช้จะใช้ 5-10 % ของส่วนผสมในวัสดุปลูกพืช โดย Scott (1988) ได้ทดสอบเติมปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่ผลิตจากมูลสัตว์ปริมาณ 5 % กับวัสดุปลูกทางการค้าแล้วนำมาปลูกพืช พบว่าสามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของได้ดีมาก