11/11/2024
ต่างกันอย่างไร ? การวางยาสลบสัตว์ “แบบยาฉีด” กับ “ใช้เครื่องดมยา”
จากกรณีการ #วางยาแมว เพื่อถ่ายละคร ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ จึงขอนำความรู้ในการ #วางยาสลบสัตว์ “แบบยาฉีด” กับ “ใช้เครื่องดมยา” รวมถึงการเตรียมตัวสัตว์เลี้ยง ใครมีหน้าที่ในการวางยาสลบ ? มาให้ได้ทราบ สร้างความเข้าใจก่อน #ทาสแมว - #ทาสหมา นำ #สัตว์เลี้ยง แสนรักไป #วางยาสลบ เพื่อทำการรักษา
📌อ่านบทความเต็มทางเว็บไซต์ : www.thaipbs.or.th/now/content/1873
การวางยาสลบในสัตว์เลี้ยง
สำหรับการวางยาสลบในทางสัตวแพทย์ น.สพ. ภูรินท์ พัฒนะธนัง ให้ความรู้ว่ามีจุดประสงค์เพื่อทำให้สัตว์อยู่นิ่ง ไม่รู้สึกตัวในระหว่างรับการผ่าตัด การรักษา หรือการทำหัตถการอื่น ๆ เช่น การผ่าตัดทำหมัน การทำฟันขูดหินปูน การผ่าตัดเย็บแผล เพื่อให้สัตว์ไม่แสดงอาการเจ็บปวด ไม่ต้องใช้การจับบังคับให้สัตว์เกิดความเครียด และหมอสามารถทำงานได้จนสำเร็จลุล่วง ปลอดภัยทั้งต่อตัวสัตว์และตัวผู้ปฏิบัติงาน
2 ประเภทการ “วางยาสลบ”
การวางยาสลบ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ “การวางยาสลบในรูปแบบยาฉีดสลบ” และ “การวางยาสลบด้วยเครื่องดมยาสลบ”
โดยการวางยาสลบในรูปแบบยาฉีดสลบ สัตวแพทย์จะทำการฉีดยาเข้าสู่ร่างกายของสัตว์ ในช่วงเริ่มต้นของการวางยาสลบ และคำนวณให้ตัวยาออกฤทธิ์อยู่ได้ครอบคลุมตลอดการวางยาสลบ ซึ่งวิธีนี้จะมีข้อเสียคือการควบคุมปริมาณยาสลบในร่างกายและฤทธิ์ยา ให้คงที่ตลอดระยะเวลาของการผ่าตัดหรือการรักษา ทำได้ค่อนข้างยาก มีผลข้างเคียงคือกดการหายใจและทำให้ความดันโลหิตต่ำ โดยเฉพาะในสัตว์ที่ได้รับยาฉีดสลบในปริมาณมาก อาจมีการฟื้นจากสลบที่ค่อนข้างช้า
ในส่วนของการวางยาสลบด้วยเครื่องดมยาสลบ ใช้การสอดท่อช่วยหายใจในการนำยาดมสลบและออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายสัตว์ สามารถปรับระดับของปริมาณยาดมสลบ ได้ตลอดระยะเวลาของการผ่าตัดตามความเหมาะสม สัตว์มีการฟื้นตัวจากการสลบได้เร็วกว่าการใช้ยาสลบในรูปแบบฉีด และเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า
ใครมีหน้าที่ในการวางยาสลบ ?
ในเรื่องนี้ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ให้ความรู้ว่าจะเป็นหน้าที่ของ “วิสัญญีสัตวแพทย์” ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวางยา มีหน้าที่ให้การดูแลสัตว์ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดทั้งก่อน ขณะ และหลังจากการวางยาสลบเสร็จสิ้น โดยวิสัญญีสัตวแพทย์จะมีหน้าที่ดูแลจนกระทั่งสุนัขฟื้นจากยาสลบจนรู้สึกตัวเต็มที่
วิธีการวางยาสลบ
วิธีการและขั้นตอนในการวางยาสลบนั้นอาจมีหลายวิธีทั้งการใช้ยาฉีด ใช้ยาดมสลบ หรือการใช้ยาชาเฉพาะที่ (block) ซึ่งการจะเลือกวิธีใดนั้นวิสัญญีสัตวแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดสำหรับสัตว์แต่ละตัว
การเตรียมตัวในการทำศัลยกรรมและวางยาสลบ
เนื่องด้วยอาจมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามามีผลกระทบทั้งเรื่อง สุขภาพ, อายุ, โรคประจำตัว หรือแม้กระทั่งความเสี่ยงต่อการแพ้ยาสลบ ดังนั้นการที่จะทำให้สัตว์เลี้ยงที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดปลอดภัยจากการวางยาสลบที่สุด จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวที่ดี ดังนี้
1. ตรวจเช็กสุขภาพโดยสัตวแพทย์ ประกอบด้วย
- ศึกษาประวัติ
- การตรวจโดยตรงที่ตัวสัตว์
- ตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจเลือด, ปัสสาวะ)
- ตรวจพิเศษในกรณีจำเป็น เช่น EKG, Ultrasound, X-ray เป็นต้น
2. ปฏิบัติตามขั้นตอนที่สัตวแพทย์แนะนำ
เช่น งดน้ำ งดอาหารอย่างน้อย 12 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการอาเจียน หรือขย้อนอาหารออกมาซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการสำลักเข้าไปในปอด ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของ ได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/news/playlists/SciAndTech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : น.สพ. ภูรินท์ พัฒนะธนัง, โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ
--------------------------
🌏 “รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ