01/05/2023
ดูแลสุนัขแต่ละวัยอย่างไรให้ห่างไกลโรค
ในแต่ละวัย มีโรคอะไรบ้าง
ดูแลสุนัขให้ห่างไกลโรค
เพราะสุนัขในแต่ละช่วงวัยนั้นมีความต้องการและการดูแลที่แตกต่างกัน
จากลูกสุนัข สู่การเป็นสุนัขโตเต็มวัย ผ่านประสบการณ์และช่วงเวลาดีๆ จนกลายเป็นสุนัขสูงวัย ช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านนี้ ร่างกายสุนัขก็มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายเช่นกัน แน่นอนว่ารวมถึงเรื่องของสุขภาพด้วย สุนัขในแต่ละช่วงอายุมีโอกาสเป็นโรคของสุนัขที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเราจึงควรทราบถึงโรคของสุนัขที่พบบ่อยในสุนัขช่วงวัยต่างๆ เพื่อหาทางป้องกันและรับมือได้อย่างถูกต้อง
ในช่วงเป็นลูกสุนัข (อายุตั้งแต่แรกเกิด – 1 ปี) นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เสี่ยงที่สุดเพราะว่าลูกสุนัขยังมีภูมิต้านทานต่ำและร่างกายยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ ทำให้มีโอกาสเป็นโรคของสุนัขต่างๆ ได้ง่าย สิ่งสำคัญที่สุดในช่วงวัยนี้คือการฉีดวัคซีนป้องกันตามที่สัตวแพทย์แนะนำให้ครบ เลือกอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนตามที่ช่วงวัยต้องการ และดูแลสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ
ช่วงสุนัขโตเต็มวัย (อายุ 1 – 6 ปี) เป็นช่วงที่สุนัขเติบโตเต็มที่ทำให้มีร่างกายแข็งแรง ในช่วงนี้โรคที่ต้องระวังเป็นโรคติดต่อต่างๆ ที่มาจากปรสิต เช่น เห็บ หมัด หรือยุง รวมไปถึงโรคติดต่อร้ายแรงจำพวกโรคพิษสุนัขบ้า
ช่วงสุนัขสูงวัย (อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป) เป็นช่วงอายุที่ร่างกายสุนัขเริ่มเสื่อมถอยลง อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ไม่ดีเหมือนเคย ทำให้สุนัขช่วงนี้มีโอกาสเป็นโรคของสุนัขเกี่ยวกับการทำงานของอวัยวะต่างๆ มากขึ้น ทั้งโรคเกี่ยวกับสมอง ดวงตา หัวใจ ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายต่างๆ
เมื่อทราบถึงแนวโน้มของโรคของสุนัขแต่ละช่วงวัยมีโอกาสเป็นมากที่สุดแล้ว ต่อไปเรามารู้จักโรคที่พบบ่อยในแต่ละช่วงอายุของสุนัขพร้อมแนวทางวิธีป้องกันอย่างได้ผลกันเลย
โรคที่พบบ่อยต่างๆ ของสุนัขแต่ละช่วงวัย
ดูแลสุนัขให้ห่างไกลโรค
โรคที่พบบ่อยในลูกสุนัข
1. โรคไข้หัดสุนัข (Canine Distemper)
โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Canine Distemper Virus (CDV) ถือว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรง มักเป็นมากในสุนัขช่วงอายุ 3-6 เดือน ลูกสุนัขที่ป่วยเป็นโรคไข้หัดสุนัขจะมีอาการไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร ตาแดง มีขี้ตาหรือคราบน้ำตาเกรอะกรัง อาจจะมีอาการอาเจียนและท้องเสียร่วมด้วย ถ้าเป็นรุนแรงจะมีอาการทางระบบประสาท เช่น ตัวกระตุก ชัก โดยจุดสังเกตที่เห็นชัดที่สุดคือลูกสุนัขที่เป็นโรคไข้หัดสุนัขนั้น ฝ่าเท้าจะหนาตัวขึ้นกว่าปกติ โดยโรคนี้ติดต่อได้จากการหายใจเอาไวรัสที่อยู่ในอากาศเข้าไป หรือลูกสุนัขสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งของสุนัขป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือของเสียต่างๆ จากสุนัขป่วย ด้วยความที่ติดเชื้อง่ายผ่านทางอากาศนี้เองทำให้โรคนี้แพร่ระบาดในลูกสุนัขได้ง่ายมากๆ ถ้าไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเหมาะสม
แนวทางการป้องกันและรักษา : โรคไข้หัดสุนัขไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่แม้ว่าจะเป็นโรคติดต่อร้ายแรง แต่โรคไข้หัดสุนัขนั้นสามารถป้องกันได้ง่ายๆ เพียงแค่ฉีดวัคซีนป้องกัน โดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6-8 สัปดาห์ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
2. โรคลำไส้อักเสบ (Canine Parvovirus)
โรคลำไส้อักเสบในสุนัขเกิดจากเชื้อไวรัส Parvovirus สุนัขที่เป็นโรคนี้จะมีอาการที่เห็นชัดคือมีอาการท้องเสียรุนแรง ถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือเลือด อุจจาระมีกลิ่นเหม็นมาก โรคนี้เป็นโรคที่ลูกสุนัขเป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก โรคนี้ติดต่อผ่านทางอุจจาระ และเชื้อที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นกรง มือคนที่เคยสัมผัสสุนัขที่ติดเชื้อ รวมไปถึงยังติดผ่านลูกสุนัขด้วยกันได้ด้วย ดังนั้นถ้าพบว่าลูกสุนัขเป็นโรคนี้ต้องรีบแยกออกมาให้ห่างจากลูกสุนัขตัวอื่นๆ ให้เร็วที่สุด
แนวทางการป้องกันและรักษา : เช่นเดียวกับโรคไข้หัดสุนัข โรคลำไส้อักเสบก็ไม่มีการรักษาอย่างเฉพาะเจาะจง แนวทางเดียวที่จะป้องกันโรคนี้ได้คือการฉีดวัคซีนตามโปรแกรมวัคซีนที่สัตวแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด โดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6-8 สัปดาห์ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
3. โรคหลอดลมอักเสบติดต่อในสุนัข (Kennel Cough)
โรคหลอดลมอักเสบติดต่อในสุนัขนั้นมีชื่อเรียกอื่นๆ หลายชื่อ เช่น Infectious tracheobronchitis (ITB), Kennel cough, Canine cough, Canine croup และ Canine Infectious Respiratory Disease Complex (CIRDC) ซึ่งอาการของโรคนี้ลักษณะคล้ายกับโรคหวัดของมนุษย์ ลูกสุนัขที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบติดต่อจะมีอาการไอ ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งไอแห้งๆ และไอแบบมีเสมหะ รวมไปถึงอาจจะมีไข้ ซึม และตาแดงร่วมด้วยได้ โรคนี้เกิดขึ้นได้จากไวรัสและแบคทีเรียหลายชนิดร่วมกัน ติดต่อทางละอองน้ำมูกและน้ำลายที่ปนเปื้อนภาชนะและสิ่งแวดล้อมต่างๆ มักพบลูกสุนัขเป็นโรคนี้เมื่อถูกเลี้ยงรวมกันอย่างหนาแน่นมากๆ เช่น ในฟาร์มสุนัข
แนวทางการป้องกันและรักษา : โรคนี้มีลักษณะคล้ายไข้หวัดคือถ้าเป็นไม่รุนแรง ให้ลูกสุนัขได้พักผ่อน ดื่มน้ำและได้รับอาหารอย่างเพียงพอจะค่อยๆ หายได้เอง แต่ถ้ามีอาการแย่ลงหรือมีอาการปอดบวมร่วมด้วยให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกต้องต่อไป ส่วนแนวทางการป้องกันคือดูแลเรื่องสุขอนามัยและความสะอาดบริเวณที่เลี้ยงลูกสุนัขให้ดี มีอากาศถ่ายเท และไม่เลี้ยงลูกสุนัขรวมกันเป็นจำนวนมากๆ รวมไปถึงโรคนี้สามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันได้ โดยสามารถเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
ดูแลสุนัขให้ห่างไกลโรค
โรคที่พบบ่อยในสุนัขโตเต็มวัย
1. พยาธิหนอนหัวใจ
พยาธิหนอนหัวใจหรือ Dirofilaria immitis เป็นพยาธิในสุนัขที่มียุงเป็นพาหะ โดยตัวอ่อนของพยาธิจะอาศัยอยู่ในตัวยุง เมื่อยุงกัดสุนัขตัวอ่อนจะเข้าไปในร่างกายสุนัขและกลายเป็นตัวโตเต็มวัย พยาธิหนอนหัวใจจะอาศัยอยู่ในหัวใจห้องล่างขวาและหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปฟอกที่ปอด พยาธิอาจชอนไขทำลายเนื้อเยื่อหรืออุดตันหัวใจและหลอดเลือดได้ อาการของสุนัขที่เป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจ คือ ไอแห้งๆ เหนื่อยง่าย เป็นลม และอาจมีอาการท้องมานร่วมด้วย โดยหากสุนัขมีอาการรุนแรงอาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย
แนวทางการป้องกันและรักษา : โรคพยาธิหนอนหัวใจสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาและ/หรือ ร่วมกับการผ่าตัด โดยฉีดยาฆ่าพยาธิตัวแก่ที่อาศัยอยู่ในหัวใจและหลอดเลือด แต่ถ้ามีพยาธิหนอนหัวใจจำนวนมากอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อเอาตัวพยาธิออกมาจากหลอดเลือดแทน แต่มักไม่นิยมทำกันเนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่ต้องใช้ความชำนาญสูง ดังนั้นเพื่อเป็นการไม่ประมาท เราจึงควรป้องกันสุนัขของเราจากโรคพยาธิหนอนหัวใจด้วยการให้ยาฉีด ยาหยอดหลัง หรือกินยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจเป็นประจำตามที่สัตวแพทย์แนะนำ
2. โรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ติดต่อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เกิดจากไวรัสชื่อว่า Rabies Virus โรคพิษสุนัขบ้ายังเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย สามารถติดกันผ่านสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ เช่น แมว หนู ที่ติดเชื้อกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังบริเวณที่มีแผล ส่วนอาการคือในช่วงเริ่มต้นสุนัขจะมีนิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม มีอาการหงุดหงิด จากนั้นสุนัขจะเริ่มมีอาการกระวนกระวาย แสดงอาการดุร้ายโดยกัดหรือเข้าไปทำร้ายทุกอย่างที่ขวางหน้า ลิ้นห้อย น้ำลายไหลยืด ก่อนที่จะชัก เป็นอัมพาต และเสียชีวิตในที่สุด
แนวทางการป้องกันและรักษา : แม้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าจะมีมานานแล้ว แต่โรคนี้ยังไม่มีการรักษาที่ได้ผล มีแค่วิธีเดียวที่ป้องกันโรคนี้ได้คือการฉีดวัคซีนเท่านั้น สุนัขทุกตัวควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไป ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
3. โรคพยาธิเม็ดเลือด
โรคพยาธิเม็ดเลือดเป็นอีกหนึ่งโรคอันตรายที่พบได้บ่อยในสุนัขโตเต็มวัย โรคนี้มีพาหะคือเห็บ เกิดจากเชื้อโปรโตซัว 3 ชนิดคือ Babesia canis, Ehrlichia canis และ Hepatozoon canis สุนัขที่เป็นโรคนี้จะมีอาการโลหิตจางจากการที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย นอกจากนี้พยาธิในเม็ดเลือดยังทำให้ผนังหลอดเลือดอักเสบทำให้สุนัขมีอาการเลือดออกง่าย เลือดกำเดาไหล ที่ผิวหนังอาจะมีรอยจุดเลือดออกสีแดงตามผิวหนัง โดยเฉพาะตรงช่องท้อง และมีอาการเหงือกซีด
แนวทางการป้องกันและรักษา : โรคพยาธิเม็ดเลือดสามารถรักษาได้โดยให้ยาฆ่าพยาธิเม็ดเลือดและรักษาตามอาการอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดีโรคนี้สามารถป้องกันได้เพียงแค่ป้องกันไม่ให้สุนัขของเรามีเห็บเท่านั้นเอง ดังนั้นอย่าลืมป้องกันเห็บและปรสิตภายนอกอื่นๆ ให้กับสุนัขของเรา ไม่ว่าจะทั้งรูปแบบยาฉีด ยาหยอดหลัง หรือยากิน ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ รวมไปถึงทำความสะอาดพื้นที่อยู่อาศัยให้สะอาดเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เห็บอีกด้วย
4. โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนูเกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Leptospira spp. โดยมีหนูเป็นพาหะนำโรค สุนัขอาจติดโรคได้จากการสัมผัสกับหนูโดยตรง หรือสัมผัสกับปัสสาวะหนู หรือติดผ่านน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ ทำให้โรคนี้มักพบมากในช่วงฤดูฝนเพราะมีแหล่งน้ำขังจำนวนมาก โดยสุนัขที่เป็นโรคฉี่หนูจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อ ถ้าร้ายแรงอาจมีอาการไตวาย ตัวเหลือง และอาการเลือดแข็งตัวยากได้ ความน่ากลัวของโรคนี้คือนอกจากสุนัขจะเป็นได้แล้ว คนก็สามารถติดโรคนี้ได้เช่นกัน
แนวทางการป้องกันและรักษา : การรักษาโรคฉี่หนูสามารถทำได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อ รวมไปถึงการรักษาอาการไตวายตามอาการ ส่วนแนวทางการป้องกันนั้นสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขไปเล่นบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง กำจัดหนูในบริเวณบ้านและที่อยู่อาศัยโดยรอบเพื่อกำจัดพาหะนำโรค และหากพบว่าสุนัขป่วยเป็นโรคฉี่หนู เจ้าของควรแยกเลี้ยงจากสุนัขตัวอื่น และเจ้าของไม่ควรสัมผัสสัตว์ป่วยและสิ่งขับถ่ายโดยตรง ควรใส่ถุงมือยางและรองเท้าบูตเพื่อความปลอดภัย
5. โรคบิดในสุนัข
โรคบิดในสุนัขสามารถเกิดได้จากเชื้อโปรโตซัว 2 กลุ่ม คือ Coccidia และ Giardia spp. โดยสุนัขที่เป็นโรคบิดจะมีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ อุจจาระมีเมือกมากหรือมีเลือดปน อาเจียน และขาดน้ำอย่างรุนแรง หากมีอาการรุนแรงตอนเป็นลูกสัตว์อาจจะถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้เลย โรคบิดติดได้จากการที่สุนัขกินตัวอ่อนโปรโตซัวเหล่านี้เข้าไปในร่างกายจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมไปถึงหากสัตว์มีภาวะเครียดหรือภูมิตกก็จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคบิดในสุนัขเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
แนวทางการป้องกันและรักษา : โรคบิดในสุนัขสามารถรักษาได้ โดยสัตวแพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อโปรโตซัว หากรักษาได้ทันท่วงทีสุนัขจะกลับมาแข็งแรงเป็นปกติได้ ส่วนแนวทางการป้องกันที่ได้ผลคือดูแลรักษาเรื่องของความสะอาดในบริเวณบ้าน ไม่ให้สุนัขกินน้ำสกปรกหรือน้ำขังตามที่ต่างๆ
6. โรคภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัข
โรคภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัข (Skin Allergy) สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ 1. ภาวะภูมิแพ้ผิวหนังสุนัขที่เกิดจากการแพ้น้ำลายหมัด 2. ภาวะภูมิแพ้ผิวหนังจากอาหาร และ 3. ภาวะภูมิแพ้ผิวหนังจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาวะโรคภูมิแพ้ผิวหนังนี้ถือว่าเป็นโรคผิวหนังในสุนัขที่พบได้บ่อย โดยสุนัขจะมีอาการคัน ผิวหนังบวมแดง สุนัขจะแสดงอาการคันหรือเลียตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะเท้าอยู่เป็นประจำ ซึ่งทำให้อาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนหรือเป็นโรคผิวหนังในสุนัขอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นได้
แนวทางการป้องกันและรักษา : การรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัขนั้นสามารถทำได้ถ้ารู้สาเหตุว่าสุนัขแพ้จากอะไร ซึ่งต้องให้สัตวแพทย์เป็นผู้ทำการทดสอบและวินิจฉัย โดยสัตวแพทย์จะค่อยๆ ทดสอบความเป็นไปได้ของการแพ้แต่ละอย่าง สิ่งสำคัญคือเจ้าของห้ามสรุปเองเด็ดขาด
โดยปกติแล้วโรคภูมิแพ้ผิวหนังจากน้ำลายหมัดสามารถป้องกันได้ด้วยการป้องกันเห็บหมัดด้วยยาฉีด ยาหยอดหลัง หรือยากินตามที่สัตวแพทย์แนะนำ
ส่วนภาวะภูมิแพ้สิ่งแวดล้อมนั้นจำเป็นต้องได้รับการแนะนำจากสัตวแพทย์เพื่อหาแนวทางปรับเปลี่ยนเพื่อลดอาการแพ้ต่อไป และในกรณีสุนัขมีภาวะภูมิแพ้อาหาร ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อปรับสูตรอาหารที่เหมาะสม โดยควรเลือกเป็น PRO PLAN® สูตร Sensitive Skin & Stomach ซึ่งมีแหล่งโปรตีนหลักจากแซลมอนและทูน่า เหมาะสำหรับสุนัขที่แพ้โปรตีนจากไก่และวัว และมีกรดไขมันโอเมก้า-3 และ 6 ช่วยบำรุงผิวหนังและขนให้สวยเงางาม
ดูแลสุนัขให้ห่างไกลโรค
โรคที่พบบ่อยในสุนัขสูงวัย
1. โรคไตวายเรื้อรัง
โรคไตวายเรื้อรังเป็นโรคไตในสุนัขที่พบได้มากในสุนัขสูงวัย สาเหตุเกิดจากไตที่ค่อยๆ เสื่อมสภาพลงตามอายุ ทำให้ทำงานได้น้อยลง กรองและขับของเสียได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม ทำให้ร่างกายสุนัขมีการสะสมของเสียไว้ในร่างกายมากขึ้น ความน่ากลัวของโรคไตในสุนัขก็คือเราจะสังเกตอาการเริ่มต้นของภาวะไตวายเรื้อรังได้ยาก เพราะกว่าจะแสดงอาการ ไตก็อาจจะลดการทำงานไปมากกว่า 75% แล้ว โดยอาการของโรคไตในสุนัข คือ กินน้ำมากและปัสสาวะมาก อ่อนเพลีย ซึม เบื่ออาหาร
แนวทางการป้องกันและรักษา : โรคไตวายเรื้อรังนั้นไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ จำเป็นต้องได้รับการรักษาตามอาการอย่างต่อเนื่อง ส่วนแนวทางการป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุดคือการพาสุนัขไปตรวจสุขภาพประจำปี โดยสุนัขอายุ 6 ปีขึ้นไปควรไปพบสัตวแพทย์อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อตรวจร่างกายและตรวจค่าเลือด หากพบว่าสุนัขเริ่มมีสัญญาณเสี่ยงของการเป็นโรคไตในสุนัข ทางสัตวแพทย์จะได้เริ่มวางแผนการรักษาต่อไปได้ทันท่วงที เพราะโรคไตวายเรื้อรังนั้นยิ่งตรวจพบและรักษาเร็วเท่าไหร่ยิ่งลดผลกระทบที่ตามมาได้มากขึ้น
2. โรคหัวใจ
โรคหัวใจในสุนัขสูงอายุที่พบได้บ่อยคือ 1. โรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม (Myxomatous Valvular Degeneration) และ 2. โรคหัวใจโต (Dilated Cardiomyopathy) โดยโรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อมนั้นมักพบในสุนัขพันธุ์เล็ก เกิดขึ้นจากลิ้นหัวใจไมทรัลที่ทำหน้าที่ปิดเปิดเลือดในหัวใจห้องบนซ้ายและห้องล่างซ้ายทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิมจากสภาพอายุทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจมีเลือดคั่งที่หัวใจและปอด ส่วนโรคหัวใจโต มักพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่มากกว่า เกิดขึ้นจากห้องหัวใจมีขนาดพองขยายใหญ่ขึ้น แต่กล้ามเนื้อหัวใจกลับบางลง ส่งผลทำให้แรงบีบหัวใจลดลง เลือดคั่งในห้องหัวใจ ไม่สามารถนำเลือดไปเลี้ยงในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ ทั้ง 2 โรคนี้ ส่งผลทำให้สัตว์เหนื่อยง่าย หอบ ไม่สามารถออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมหนักๆ ได้ อาจจะเป็นลม ร่วมกันกับอาการไอ หากปล่อยให้อาการเป็นหนักขึ้นอาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย
แนวทางการป้องกันและรักษา : โรคหัวใจในสุนัขเป็นโรคสำคัญที่ต้องได้รับการดูแลจากสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยเมื่อสงสัยว่าสุนัขป่วยเป็นโรคหัวใจ สัตวแพทย์จะมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) และอัลตราซาวด์หัวใจเพื่อหาสาเหตุที่ตรงจุด ส่วนวิธีป้องกันคือควรพาสุนัขมาตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกๆ ปี เพื่อให้สัตวแพทย์ฟังเสียงหัวใจแล้วประเมินว่าปกติดีหรือไม่ หากพบความผิดปกติจะได้เริ่มต้นการวินิจฉัยเพิ่มเติมและรักษาได้ทันที
3. โรคสมองเสื่อม
โรคสมองเสื่อมในสุนัขนั้นมีความใกล้เคียงกับโรคอัลไซเมอร์ในมนุษย์ค่อนข้างมากเลยทีเดียว โรคนี้มีสาเหตุเกิดจากเนื้อสมองเสื่อมสภาพร่วมกับการลดลงของสารต้านอนุมูลอิสระในเซลล์สมอง สุนัขที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการหลักๆ 5 ประการ ดังนี้
1. เดินไม่มีทิศทาง มึนงงสับสน (Disorientation)
2. การปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของที่เปลี่ยนไป (Interaction) เช่น จากเชื่องกลายเป็นดุร้าย หรือจากที่เคยดุกลายเป็นเชื่อง
3. มีวงจรการนอนหลับที่เปลี่ยนไป (Sleep Wake Cycle) เช่น อาจตื่นตอนกลางคืนและนอนตอนกลางวัน
4. ไม่สามารถทำหรือหลงลืมกิจวัตรประจำวันที่เคยทำได้ ขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง (House Training)
5. มีความตื่นตัวต่อสิ่งรอบตัวน้อยลง (Alertness)
หากพบว่าสุนัขของเรามีอาการเหล่านี้ ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันที เนื่องจากสุนัขอาจมีอาการของภาวะสมองเสื่อมแล้วนั่นเอง
แนวทางการป้องกันและรักษา : ในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการรักษาโรคสมองเสื่อมในสุนัขให้หายขาดได้ สิ่งสำคัญคือเจ้าของสัตว์ต้องมีความเข้าใจในตัวโรคนี้ โดยอาจปรึกษาสัตวแพทย์ในการใช้ยาและสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ร่วมกับการจัดการสิ่งแวดล้อมของสัตว์ให้มีความเหมาะสมจะช่วยชะลออาการและทำให้สัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
4. โรคข้ออักเสบ
โรคข้ออักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขสูงอายุ โดยมีสาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายสัตว์สร้างสารเสริมบำรุงกระดูกและข้อต่อลดลง รวมไปถึงน้ำในไขข้อที่ทำหน้าที่คอยหล่อลื่นก็มีการผลิตลดลงหรือมีคุณภาพแย่ลงร่วมด้วย ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อต่อเกิดความผิดปกติ โดยสุนัขที่มีภาวะโรคข้ออักเสบนั้นจะแสดงอาการเจ็บปวดโดยเฉพาะในสุนัขที่มีภาวะโรคอ้วน สุนัขสายพันธุ์ใหญ่และสายพันธุ์ยักษ์ เพราะข้อต่อต่างๆ ต้องรับน้ำหนักมาก สุนัขอาจจะแสดงอาการไม่อยากลุกเดิน ไม่ยอมใช้ขา เดินยกขา หรือเดินกระเผลกได้
แนวทางการป้องกันและรักษา : แนวทางการรักษาของโรคนี้อาจสามารถให้ยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัดร่วมกันอาจะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ โรคนี้หาวิธีป้องกันได้ยาก แต่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงได้โดยควบคุมน้ำหนักไม่ให้สุนัขอ้วนเกิดไปและให้อาหารที่มีสารอาหารบำรุงข้อต่อเพื่อเสริมให้กระดูกและข้อต่อแข็งแรง
ดูแลสุนัขให้ห่างไกลโรค
สรุป
สุนัขในแต่ละช่วงวัยนั้นมีแนวโน้มในการเป็นโรคต่างๆ ที่แตกต่างกัน แต่เราสามารถป้องกันโรคต่างๆ ให้กับสุนัขทุกวัยได้ด้วยการดูแลเอาใจใส่ หมั่นพาไปพบสัตวแพทย์ ป้องกันปรสิตภายนอกอยู่เสมอ และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของอาหาร ที่เราควรให้อาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและสมดุลเพื่อให้ร่างกายของสุนัขแข็งแรง
สำหรับลูกสุนัข เจ้าของควรเลือกให้ PRO PLAN สูตร Puppy ที่มีให้เลือกถึง 3 สูตร คือ SMALL & MINI PUPPY, MEDIUM PUPPY และ LARGE PUPPY เพื่อครอบคลุมความต้องการของลูกสุนัขพันธุ์เล็ก พันธุ์กลาง และพันธุ์ใหญ่ตามลำดับ โดย PRO PLAN สูตร Puppy นั้นเป็นอาหารสุนัขหนึ่งเดียวที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากนมน้ำเหลือง (Colostrum) ที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติตั้งแต่เริ่มต้นให้กับสุนัข ช่วยให้ลูกสุนัขแข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและโรคต่างๆ เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้
สำหรับสุนัขโตเต็มวัย เจ้าของควรเลือกให้ PRO PLAN สูตร Adult ที่มีให้เลือกถึง 3 สูตร คือ SMALL & MINI ADULT, MEDIUM ADULT และ LARGE ADULT ที่ทุกสูตรออกแบบมาเฉพาะเพื่อสุนัขโตเต็มวัยสายพันธุ์เล็ก พันธุ์กลาง และพันธุ์ใหญ่ เพราะสุนัขแต่ละสายพันธุ์ล้วนมีความต้องการที่แตกต่างกัน โดยแต่ละสูตรของ PRO PLAN Adult ผ่านการค้นคว้าวิจัยจนได้ปริมาณคุณค่าสารอาหารที่สุนัขแต่ละขนาดสายพันธุ์ต้องการจริงๆ มีสารอาหารช่วยบำรุงระบบข้อต่อกระดูก ทางเดินอาหาร และระบบหัวใจ
อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย เพื่อให้สุนัขที่คุณรักมีสุขภาพที่ดีแข็งแรงและสมบูรณ์ในระยะยาว
สิ่งสำคัญสุดท้ายที่เจ้าของสุนัขห้ามลืมเลยคือความรัก อย่าลืมดูแลสุนัขของเราด้วยความรักและให้เวลากับเขาอยู่เสมอ โดยเฉพาะการพาไปออกกำลังกาย เพื่อให้สุนัขมีสุขภาพที่แข็งแรงไม่ว่าจะในช่วงวัยไหนและอยู่กับเราไปได้อีกนานๆ
โดย กมลฟาร์มสัตว์แพทย์
น.สพ. ธงทอง กรแก้วกาญจน์
เลขที่ใบอนุญาต 01/3582-2545
อ้างอิง
จากลูกสุนัข สู่การเป็นสุนัขโตเต็มวัย ผ่านประสบการณ์และช่วงเวลาดีๆ จนกลายเป็นสุนัขสูงวัย ช่วงเวลาที่เปล.....