30/09/2022
🦮🥰🥰
สุนัขรู้เมื่อเราเครียด โดยการดมกลิ่น บ่งชี้ให้เห็นว่าสุนัขคือเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์
งานวิจัยใหม่ของนักวิทยาศาตร์มหาวิทยาควีนเบลฟาส (Oueen’s University Belfast) ในสหราชอาณาจักรค้นพบว่าสุนัขมีความแม่นยำอย่างน่าประหลาดใจในการตรวจจับตัวอย่างเหงื่อและลมหายใจจากคนที่มีความเครียดในการทดลองทำแบบทดสอบทางคณิตศาสตร์ ซึ่งแม่นยำมากกว่าร้อยละ 90
“การศึกษานี้แสดงหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสามารถพิเศษของเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์” คลารา วิลสัน (Clara Wilson) นักจิตวิทยาสัตว์ผู้ทำการทดลองกล่าว
ทีมวิจัยได้ทดสอบสุนัข 4 ตัวกับอาสาสมัครที่เป็นมนุษย์ 36 คน โดยให้มนุษย์พยายามนับถอยหลังดัง ๆ จากตัวเลข 9,000 และลดลงครั้งละ 17 ภายในเวลา 3 นาที ซึ่งวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และแบบสอบถามระดับความเครียดทั้งก่อนและหลังการทำแบบทดสอบ จากนั้นจึงนำตัวอย่างไปให้สุนัขตรวจสอบ
‘ผ้าก๊อซที่ไม่ได้ใช้งาน’, ‘ผ้าก๊อซจากมนุษย์เมื่อมีความเครียด’ และ ‘ผ้าก๊อซจากคนเดียวกันเมื่อไม่มีความเครียด’ ผลลัพธ์ที่ได้นั้นดีกว่าที่พวกเขาคาดไว้ สุนัขแต่ละตัวมีความแม่นยำสูงในการตรวจหาความเครียดจากตัวอย่างถึงร้อยละ 90-96.88 หรือก็คือสุนัขเลือกความเครียด 675 ครั้งจากการทดลองทั้งหมด 720 ครั้ง แม้พวกมันจะถูกฝึกสอนให้รู้จักตัวอย่างที่มีความเครียดมาก่อนหน้านี้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังน่าประทับใจ
“มันวิเศษมากที่ได้เห็นพวกมันมั่นใจที่จะบอกฉันว่า ‘ไม่เลย (คลารา) สองสิ่งนี้มีกลิ่นที่แตกต่างอย่างแน่นอน” วิลสันกล่าว “เรายังคงประหลาดใจในครั้งแรกที่สุนัขได้รับตัวอย่างก่อนการทำแบบทดสอบทางคณิตศาสตร์ทั้งก่อนและหลัง แล้วยังคงเลือกอย่างมั่นใจ”
อย่างไรก็ตามทีมงานยังไม่แน่ใจว่าสุนัขนั้นเก็บหรือจดจำสารเคมีชนิดใดไว้ และนั่นอาจมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของเหงื่อหรือลมหายใจที่เกิดจากความเครียด ทำให้สุนัขรับรู้ถึงความแตกต่าง อีกทั้งยังไม่สามารถบอกได้ว่าสุนัขมีความเห็นอกเห็นใจหรือไม่เมื่อมีคนเครียด
กระนั้นพวกเขาเชื่อว่างานวิจัยนี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการฝึกสุนัขให้ช่วยเหลือผู้ที่มีความเครียดเช่น อาการป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD)
“งานวิจัยชี้ว่าสุนัขไม่ต้องการสัญญาณภาพหรือเสียงใด ๆ เพื่อจัดการกับความเครียดของมนุษย์” วิลสันระบุ “นี่เป็นการศึกษาครั้งแรกในประเภทนี้และเป็นหลักฐานว่าสุนัขสามารถได้กลิ่นความเครียดจากลมหายใจและเหงื่อเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นประโยชน์เมื่อฝึกสุนัขช่วยเหลือและสุนัขบำบัด”
ขณะที่ ดร. นิโคลัส ดอดแมน (Dr. Nicolas Dodman) จากมหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University) และประธานศูนย์การศึกษาพฤติกรรมสุนัขที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยกล่าวว่า “ถ้าให้ใส่เป็นตัวเลขแล้ว เรา(มนุษย์)มีตัวรับกลิ่น 12 ล้านตัว แต่สุนัขมีจำนวนมากกว่าอย่างน้อย 50 เท่าของตัวเลขนั้น” แม้จะสามารถรับกลิ่นได้ดีมาก แต่สุนัขก็ไม่ใช่สัตว์ชนิดเดียวที่ไวต่อกลิ่น
ดร. เคทเธอรีน ฮอพท์ (Dr. Katherine Houpt) ยกตัวอย่างการศึกษาในม้าว่า “สามารถบอกความแตกต่างระหว่างคนที่ดูหนังสยองขวัญกับคนที่ดูหนังตลกได้” และกล่าวถึงงานวิจัยนี้ว่า “ใช่ พวกมัน(สุนัข)สามารถแยกแยะความแตกต่างได้ แต่พวกมันจะสนใจไหม? น่าจะเป็นเช่นนั้น และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมสุนัขถึงเป็นสัตว์ที่บำบัดอารมณ์ที่ดี”