05/02/2020
https://www.facebook.com/111236108920978/photos/%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9F%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81-%E0%B8%9F%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-2-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%95-ems%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1/615435718501012/
ท่านนี้ใช้คอปเปอร์ซัลเฟตในบ่อพัก 1 กิโลกรัมต่อ1ไร่ และผสมยาฆ่าเชื้อ โดยทางเราแนะนำ 7 กิโลกรัมต่อไร่ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน
ตัวอย่างฟาร์มกุ้ง..ภาคตะวันออก (ฟาร์มที่ 2 )
ที่เลี้ยงกุ้งสำเร็จท่ามกลางวิกฤต EMS
(ที่มา : นสพ.กุ้งไทย ฉบับ 152 , เอกสารประกอบ เลี้ยงกุ้งได้สำเร็จ ท่ามกลางวิกฤติ EMS เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ร่วมมือรู้เท่าทัน ป้องกันวิกฤติประมง สร้างความมั่นคงด้านการเลี้ยงกุ้ง”กรมประมง)
เรายังคงอยู่ในโซนภาคตะวันออก ฟาร์มอีกหนึ่งแห่งของ คุณวิสุทธิ์ ทรัพย์เจริญ ซึ่งเป็นเจ้าของบ่อเลี้ยงกุ้ง “วิสุทธิ์ฟาร์ม” ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 ตำบลทุ่งควายกิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง สัมภาษณ์โดย คุณสมพิศ แย้มเกษม นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งระยอง
ประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งมาได้กี่ปีแล้ว รูปแบบการเลี้ยงเป็นอย่างไร
วิสุทธิ์ : นับตั้งแต่เริ่มเลี้ยงกุ้งจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ตกประมาณ 25 ปี ตอนเริ่มต้นก็แน่นอนว่าเลี้ยงกุ้งกุลาดำมาก่อน พอมาช่วงหลังกุ้งกุลาดำเริ่มประสบปัญหา เช่น โตช้ามั่ง อะไรมั่ง ประกอบกับภาวะตลาดด้วย ก็เลยเปลี่ยนมาเลี้ยงกุ้งขาวแทนจนถึงปัจจุบันนี้ครับ วิสุทธิ์ฟาร์ม มีบ่อเลี้ยงทั้งหมด 7 บ่อ เป็นบ่อขนาด 2 ไร่ จำนวน 1 บ่อ, 3.5 ไร่ 2 บ่อ, 4 ไร่ 3บ่อ และบ่อ 7 ไร่ อีก 1 บ่อ นอกจากนี้เรายังมีบ่อพักน้ำ 1 บ่อ ขนาด 4 ไร่ และบ่อทิ้งเลน 9 ไร่ อีก 1 บ่อ
ขั้นตอนการเลี้ยง ตั้งแต่การเตรียมบ่อ การเตรียมนํ้า
วิสุทธิ์ : หลังจากจับกุ้งจำหน่ายไปแล้ว เราจะไม่ดูดเลนออก แต่จะใช้วิธีระบายนํ้าในบ่อให้เหลือระดับนํ้าพอปริ่ม ๆ เลน หรือในลักษณะพื้นบ่อมีสภาพหมาด ๆ แล้วจึงใช้จุลินทรีย์กลุ่มบาซิลลัส ยี่ห้อไฮคิว ประมาณ 1 กก./ไร่ นำไปสาดพื้นบ่อตามบริเวณกองเลน ทิ้งไว้ 3 – 4 วัน จนกระทั่งกลิ่นเหม็นจากเลนหายไป หลังจากนั้นก็ดูดนํ้าเข้าบ่อเลี้ยงโดยตรงจากคลอง กรองที่ปลายท่อสูบโดยใช้อวนมุ้งฟ้า 1 ชั้น จนได้ระดับนํ้าที่ต้องการ คือ 150 ซม. จากนั้นจึงเปิดเครื่องตีนํ้า (เปิดไว้ตลอดจนถึงวันลงลูกกุ้ง) แล้วใส่คอปเปอร์ซัลเฟต 1 กิโลกรัม/ไร่ กับใส่ยาฆ่าเชื้อ Virus block (ชื่อการค้า) ทำสีน้ำและสร้าง
อาหารธรรมชาติโดยเติมปูนโดโลไมท์และซีโอไลท์ โดยปรับปริมาณตามค่าพีเอชของนํ้า ซึ่งจะคุมให้อยู่ในช่วง 7.9 – 8.5 โดยปกติแล้วใช้เวลาในการเตรียมน้ำประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ถ้าสีน้ำยังไม่ขึ้นเป็นสีเขียวอ่อน ๆ ก็ยังไม่ลงลูกกุ้ง จะรอจนกระทั่งสีนํ้าขึ้นดีแล้วจึงนำลูกกุ้งมาลงบ่อส่วนบ่อพักน้ำมีไว้สำหรับใช้เติมน้ำเข้าบ่อเลี้ยงในระหว่างการเลี้ยง
วิธีการคัดเลือกลูกกุ้ง
วิสุทธิ์ : ซื้อลูกกุ้งจากฟาร์มที่เชื่อถือได้ ผมสั่งลูกกุ้งจากโรงเพาะเจริญวัฒนาฟาร์ม จังหวัดฉะเชิงเทรา เขาขนส่งลูกกุ้งนำมาส่งที่บ่อโดยการใส่ถุงและอัดออกซิเจน ความหนาแน่น 2,000 ตัว/ถุง (น้ำ 2 ลิตร)
เมื่อบ่อที่เตรียมไว้มีสีน้ำขึ้นดีและปัจจัยอื่นๆ พร้อมที่จะลงลูกกุ้งแล้ว ผมจะแจ้งให้ทางโรงเพาะเขาส่งตัวอย่างลูกกุ้งพีมาให้ เพื่อมาลองนํ้า โดยการตักนํ้าในบ่อมาใส่ไว้ในถัง แล้วนำลูกกุ้งพีใส่ลงไป พร้อมกับเปิดลมไว้ วันรุ่งขึ้นก็จะมาตรวจสอบกุ้งในถังนั้นว่ามีการตายผิดแบบปกติอะไรบ้างไหม ถ้าทุกอย่างโอเคผมก็จะสั่งให้โรงเพาะเขาขนส่งลูกกุ้งมาลงที่บ่อ ผมปล่อยลูกกุ้ง 100,000 ตัว/ไร่
ขั้นตอนการเลี้ยงมีการจัดการอย่างไร
วิสุทธิ์ : หลังจากปล่อยกุ้งไปแล้ว ในช่วง 15-20 วันแรกยังไม่ให้อาหาร โดยจะให้ลูกกุ้งหากินอาหารธรรมชาติในบ่อ เพื่อเสริมความแข็งแรงให้แก่กุ้ง เมื่อสังเกตเห็นลูกกุ้งเริ่มล่องนั่นแสดงว่าอาหารธรรมชาติที่มีอยู่ในบ่อเริ่มไม่เพียงพอสำหรับลูกกุ้ง จึงเริ่มให้กินอาหารเม็ดเบอร์ 2 ของบริษัทอินเทค ปริมาณ 2 กิโลกรัม/100,000 ตัว หลังจากนั้นก็ปรับปริมาณอาหารจากผลของการเช็คยอ และสุดท้ายเพิ่มจำนวนมื้อเป็นวันละ 3 มื้อ แต่จะให้อาหารเฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น ช่วงกลางคืนนี่ผมจะไม่ให้อาหารเลย ในเรื่องของการให้อากาศ ช่วงสัปดาห์แรก ไม่เปิดเครื่องตีนํ้า เพราะช่วงที่ลูกกุ้งยังเล็กอยู่
นั้น ผมคิดว่าในบ่อมีออกซิเจนเพียงพอ เราจึงสามารถประหยัดพลังงานในส่วนนี้ไปได้
หลังจากสัปดาห์แรก ผมก็จะเริ่มตีนํ้าในช่วงประมาณเที่ยงคืนหรือประมาณ 5 ทุ่ม กลางวันปิดเครื่อง จนกระทั่งกุ้งมีขนาดใหญ่ขึ้นก็จะปรับเพิ่มการใช้เครื่องตีน้ำไปตามสภาพการควบคุมคุณภาพนํ้าในบ่อเลี้ยง ผมจะเริ่มทำตั้งแต่กุ้งมีอายุ 30 วันขึ้นไป โดยจะตรวจคุณภาพนํ้าในช่วงวันโกนหรือวันพระซึ่งกุ้งจะลอกคราบ โดยใช้ชุด Test kit วัดค่า พีเอช อัลคาไลน์ และความเค็ม ควบคุมพีเอชให้อยู่ในช่วง 7.9-8.5 ค่าอัลคาไลน์ให้ได้ประมาณ 100 ซึ่งจะปรับค่าโดยใช้แคลเซียมและดีเกลือ ส่วนค่าความเค็มให้อยู่ในช่วง 8 – 15 พีพีที
ในภาวะของ อีเอ็มเอส ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้คนเลี้ยงกุ้งควรเน้นในเรื่องใดเป็นพิเศษที่จะทำให้เลี้ยงผ่านไปได้
วิสุทธิ์ : ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะเน้นในเรื่องของการให้อาหาร ควบคุมอย่าให้อาหารจนเหลือ ตามที่ผมปฏิบัติอยู่ มันน่าจะโอเคนะครับ เพราะผมคิดว่าในเรื่องนี้ หากให้อาหารมากไปจนกุ้งกินไม่หมด มันจะไปกระทบกับเรื่องสภาพนํ้าที่จะเน่าเสีย แล้วส่งผลต่อสุขภาพกุ้ง อะไรทำนองนี้ครับ
“วิสุทธิ์ฟาร์ม” เน้นหนักไปที่การเตรียมบ่อและเตรียมนํ้าก่อนที่จะลงลูกกุ้ง โดยเฉพาะในเรื่องของการทำสีนํ้า กับอีกเรื่องคือคุมในเรื่องของอาหาร เช่นในช่วงเริ่มต้นก็จะปล่อยให้กุ้งกินอาหารธรรมชาติที่เกิดขึ้นในบ่อ และในช่วงของการเลี้ยงก็จะเข้มงวดในเรื่องนี้โดยดูแลไม่ให้มีอาหารเหลือตกค้างอยู่ในบ่ออีกจุดหนึ่งก็คือการควบคุมความเค็มของนํ้าให้อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำช่วง 8 – 15 พีพีที กับควบคุมเรื่อง พีเอช และค่าอัลคาไลน์