13/11/2020
สุนัขก้าวร้าวกับคนแปลกหน้า หมาแปลกหน้า มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง มาดูกันครับ
ต้องบอกก่อนว่าความก้าวร้าว เป็นพฤติกรรมที่มีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่มักจะเป็นสาเหตุที่ทำให้น้องหมาดุร้าย คือความกลัว เมื่อน้องหมากลัวก็สามารถที่จะผลักดันให้เกิดเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะทำให้สิ่งที่น้องกลัวนั้นหายไปได้ ถามว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่สามารถส่งผลทำให้น้องหมากลัวคนแปลกหน้า หรือไม่ชอบหมาแปลกหน้าได้บ้าง การศึกษาล่าสุดจากประเทศ Finland ที่รายงานไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งทำการสำรวจข้อมูลในสุนัขกว่าเกือบ 6000 ตัว แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ กับความกลัวคนและสุนัขแปลกหน้าของน้องหมา เช่น
> การเข้าสังคมของสุนัข ในช่วง 7-16 สัปดาห์แรกของชีวิต โดยการศึกษาพบความสัมพันธ์ระหว่างการกลัวคนและสุนัขที่ไม่คุ้นเคย กับการที่ลูกสุนัขไม่ได้เข้าสังคมในช่วงอายุดังกล่าว
> สายพันธุ์ การศึกษาพบว่าสายพันธุ์มีความสัมพันธ์กับความกลัวคนและสุนัขที่ไม่คุ้นเคย โดยจาก 23 พันธุ์ที่มีการสำรวจ พบว่าชิวาว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีคะแนนความกลัวสุนัขที่ไม่คุ้นเคยมากที่สุด และ Pembroke Welsh Corgi มีคะแนนความกลัวสุนัขที่ไม่คุ้นเคยน้อยที่สุด สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย Spanish Water Dog มีคะแนนความกลัวสูงที่สุด ส่วน Wheaten Terrier และ Labrador Retriever จัดอยู่ในกลุ่มของสายพันธุ์ที่กลัวคนแปลกหน้าน้อยที่สุด
> สุนัขที่ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรม หรือไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย มีความสัมพันธ์กับการเกิดความกลัวมากกว่าสุนัขที่ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายเป็นประจำ
> ขนาดตัวของสุนัข โดยสุนัขที่มีขนาดเล็ก มีแนวโน้มที่จะมีความกลัวต่อคนและสุนัขไม่คุ้นเคยมากกว่าสุนัขตัวใหญ่
> สุนัขเพศเมีย มีแนวโน้มที่จะมีความกลัวต่อคนและสุนัขไม่คุ้นเคยมากกว่าสุนัขเพศผู้
> สุนัขที่ทำหมันแล้ว มีแนวโน้มที่จะมีความกลัวต่อคนและสุนัขไม่คุ้นเคยมากกว่าสุนัขที่ยังไม่ทำหมัน เป็นต้น
การศึกษานี้ เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อความกลัวของสุนัข อันจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมตามมา
จะเห็นว่ามีหลายๆปัจจัยที่เราสามารถควบคุม จัดการ หรือจัดเตรียมให้กับน้องหมา เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดความกลัวได้ เช่น การพาน้องเข้าสังคมในช่วงวัยที่เหมาะสม ซึ่งถ้าเปรียบง่ายๆ ก็เหมือนกับการทำวัคซีนทางด้านจิตใจให้แก่สุนัข เพื่อช่วยลดแนวโน้มการเกิดปัญหาพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสังคมเมื่อน้องโตขึ้น เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
Puurunen, J., Hakanen, E., Salonen, M. K., Mikkola, S., Sulkama, S., Araujo, C., & Lohi, H. (2020). Inadequate socialisation, inactivity, and urban living environment are associated with social fearfulness in pet dogs. Scientific reports, 10(1), 1-10.