12/10/2017
#ครูเกษตรแชร์ข่าว
🔊รายงานพิเศษ : นาแปลงใหญ่ต้นแบบจังหวัดปทุมธานี รวมกลุ่มเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างอำนาจต่อรอง
การส่งเสริมการทำนาในรูปแบบแปลงใหญ่ จุดประสงค์หลักคือให้ชาวนารวมตัวกันเพื่อรวมกันซื้อ รวมกันผลิต ช่วยลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพผลผลิต มีอำนาจในการต่อรองทางการค้า สามารถขายข้าวได้ในราคาที่เป็นธรรม คุ้มค่ากับการลงทุน เกษตรกรก็จะมีรายได้และคุณภาพที่ดีขึ้น
นายปัญญา ร่มเย็น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กรมการข้าว กล่าวว่า การส่งเสริมทำนาแปลงใหญ่ กรมการข้าวเน้นถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การปลูกข้าวโดยใช้เครื่องหยอดข้าว ที่สามารถลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเพียง 10-15 กก.ต่อไร่ ลดลงจากการทำนาหว่านทั่วไปที่เกษตรกรจะใช้อัตราเมล็ดพันธุ์มากถึง 25-50 กก.ต่อไร่ ร่วมกับแนะนำการใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำทางวิชาการ การใช้เชื้อบิวเวอร์เรียและเชื้อไตรโคเดอร์มาในการป้องกันกำจัดโรคและแมลง การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีอย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้ กรมการข้าวยังผลักดันให้เกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ผลิตข้าวให้ได้ตามมาตรฐาน GAP เพื่อความปลอดภัยและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ผลการดำเนินการส่งเสริมนาแปลงใหญ่ในช่วงตั้งแต่ปี 2558 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมทำนาแปลงใหญ่ได้รับประโยชน์ที่เด่นชัดคือ เกษตรกรสามารถใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้รับไปปฏิบัติ สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้จากเดิมไม่น้อยกว่า 20% ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% ทำให้มีส่วนต่างกำไรมากขึ้น อีกเรื่องคือเกษตรกรมีความร่วมมือกันมากขึ้น เพราะการรวมกลุ่มทำงานด้วยกันช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทั้งในการซื้อปัจจัยการผลิตที่ถูกลง การขายข้าวได้ในราคาที่ดีขึ้น
ด้าน นางประนอม มงคลบรรจง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดปทุมธานีมีการส่งเสริมทำนาแปลงใหญ่ตั้งแต่ปี 2558-2560 รวม 10 แปลง พอปีนี้มีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ลดจำนวนเกษตรกรและลดพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการได้มากขึ้น ก็มีกลุ่มเกษตรกรรวมตัวกันมาสมัครเพิ่มอีก 7 แปลง ดังนั้น ขณะนี้มีนาแปลงใหญ่ที่จะดำเนินการในปี 2561 ทั้งกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่รวม 17 แปลง เกษตรกรจำนวน 1,227 ราย คิดเป็นพื้นที่รวมกันทั้งหมด 30,062 ไร่ โดยแผนการดำเนินนั้นกลุ่มนาแปลงใหญ่กลุ่มเดิมจะเข้าไปพัฒนาต่อยอดจากที่ได้รับมาตรฐาน GAP จะผลักดันให้เข้าสู่มาตรฐานอินทรีย์หรือให้มีการแปรรูปเอง เพื่อยกระดับราคาผลผลิต ส่วนกลุ่มใหม่ก็ต้องถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ให้พัฒนาไปในทุกด้านตามเป้าหมายที่กำหนดตั้งแต่ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ได้มาตรฐานเข้าสู่การเชื่อมโยงตลาดอย่างครบวงจรต่อไป
สำหรับจังหวัดปทุมธานี มีกลุ่มนาแปลงใหญ่ต้นแบบ ที่สามารถเป็นที่ศึกษาดูงานถ่ายทอดประสบการณ์ตรงให้กับกลุ่มเกษตรกรกลุ่มใหม่ได้เป็นอย่างดี คือ กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวต้นแบบ ม.7 ต.บึงกาสาม อ.หนองเสือ มีสมาชิก 50 ราย พื้นที่รวม 1,241 ไร่ นายมนตรี ดวงหิรัญ ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่ต้นแบบ เล่าว่า การทำอาชีพเกษตรของทุกคนที่ผ่านมาจะต่างคนต่างทำ อำนาจต่อรองอะไรก็ไม่มี พอภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการข้าว เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวทำนาแปลงใหญ่ เพื่อรวมกันทำ รวมกันซื้อ รวมกันผลิต ทำให้สามารถซื้อปัจจัยการผลิตในราคาที่ถูกลง ต้นทุนก็ลดลงตามไป พอขายก็ต่อรองกับพ่อค้าได้เพราะมีการรวมตัวปริมาณผลผลิตมากก็สามารถเพิ่มราคาขึ้นได้
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อเข้ามาทำนาแปลงใหญ่คือ มีหน่วยงานราชการต่างๆ เข้ามาให้ความรู้ช่วยให้การทำนามีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เชื่อมโยงตลาดมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอน โดยสมาชิกทุกคนตั้งเป้าลดต้นทุนลงจากที่แต่ละคนเคยทำให้ได้ 20% เพราะเกษตรกรแต่ละรายต้นทุนการผลิตไม่เท่ากันก็ให้ยึดต้นทุนเดิมของตนเป็นหลัก เช่น เดิมเคยใช้ต้นทุนอยู่ที่ 4,000 บาท ก็ให้ลดลงเหลือ 3,500 บาท จาก 3,500 เหลือ 3,000 เป็นต้น เพื่อให้ทุกคนมีรายได้ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น สำหรับวิธีการลดต้นทุนการผลิต ก็เริ่มจากลดการใช้เมล็ดพันธุ์เหลือไร่ละ 10-15 กก. ลดการใช้ปุ๋ย เน้นการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ต้องนำดินมาวิเคราะห์ธาตุอาหารก่อนทำการปลูกข้าวในฤดูกาลต่อไป ควบคู่กับลดการใช้สารเคมี หันมาใช้สารชีวภัณฑ์แทน ได้แก่ เชื้อไตรโครเดอร์มา เชื้อบิวเวอเรีย เชื้อเมตาไรเซียม นอกจากลดต้นทุน ต้องมีการบริหารจัดการแปลงอย่างเหมาะสม ทั้งใช้พันธุ์ดี ใช้ปุ๋ยถูกต้องตามเวลาที่พืชต้องการ
“เมื่อก่อนเกษตรกรจะทำนาแบบมีสเต็ปถึงเวลาวันนี้ต้องใส่ปุ๋ยก็ใส่ วันนี้ต้องฉีดยาก็จะฉีดโดยไม่รู้ว่าเป็นช่วงที่จำเป็นหรือไม่ ทำให้เสียต้นทุนโดยเปล่าประโยชน์ก็มี แต่พอได้รับความรู้จากศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ทำให้ใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องและใช้สารเคมีปลอดภัยมากขึ้น มีการเก็บเกี่ยวข้าวในระยะเวลาที่เหมาะสม ทำให้ต้นทุนลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 845 กก.ต่อไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 900-1,000 กก.ต่อไร่ แต่สิ่งที่ตามมานอกจากผลผลิตเพิ่มขึ้น คือผลผลิตมีคุณภาพ เนื่องจากเกษตรกรมีการใช้เมล็ดข้าวพันธุ์ดี มีการคัดพันธุ์ปนเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองในฤดูกาลต่อไป ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ 100% และได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมการข้าว ส่งผลให้ขายข้าวให้กับโรงสีหรือผู้ประกอบการที่มีการลงนาม MOU รับซื้อข้าวของกลุ่มนาแปลงใหญ่ในราคานำตลาด สมาชิกลุ่มขายข้าวได้ราคาสูงขึ้นตามคุณภาพ เรียกว่าเข้ามาสู่โครงการนาแปลงใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นทุกด้าน โดยเฉพาะการบูรณาการเข้ามาช่วยเหลือจากทุกหน่วยงาน มีปัญหาหรืออุปสรรคก็เข้ามาช่วยเหลือชี้แนะทันที่ ทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งมากขึ้น” นายมนตรี กล่าวทิ้งท้าย
•••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••
┏━━━━━━━━━━━━━━━━┓
✦ติดตามข่าวสารได้ที่✦
👇🏻👇🏻
www.facebook.com/fan.krukaset
www.krukaset.com
┗━━━━━━━━━━━━━━━━┛
#ครูเกษตร
การส่งเสริมการทำนาในรูปแบบแปลงใหญ่ จุดประสงค์หลักคือให้ชาวนารวมตัวกันเพื่อรวมกันซื้อ รวมกันผลิต ช่วยลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพผลผลิต มีอำนาจในการต่อรองทางการค้า สามารถขายข้าวได้ในราคาที่เป็นธรรม คุ้มค่ากับการลงทุน เกษตรกรก็จะมีรายได้และคุณภาพที่ดีขึ้น