02/08/2022
อาหารและแร่ธาตุสำหรับวัว
1. อาหารข้น
อาหารข้น หมายถึง อาหารที่มีความเข้มข้นทางโภชนะอยู่สูง โดยเฉพาะโปรตีน มีเปอร์เซนต์เยื่อใยต่ำ เมื่อสัตว์กินเข้าไปสามารถย่อยได้ง่าย จำแนกเป็น
1) อาหารชนิดเดียว เช่น รำ ปลายข้าว ข้าวโพดบด กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง กากปาล์ม ฯลฯ
2) อาหารข้นสำเร็จรูป ใช้เลี้ยงเสริมกับอาหารหยาบ สามารถนำมาใช้เลี้ยงวัวได้เลยโดยไม่ต้องนำวัตถุดิบอย่างอื่นมาผสมอีก อาจอยู่ในรูปอาหารผงหรืออัดเม็ดก็ได้ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยรำ ปลายข้าว หรือข้าวโพดบด กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสงหรือกากปาล์ม ปลาป่น ใบกระถินป่น ไวตามิน และแร่ธาตุ
3) หัวอาหาร เป็นอาหารที่ประกอบด้วยอาหารโปรตีนสูงผสมกัน เช่น กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง ปลาป่น ใบกระถินป่น ไวตามิน และเกลือแร่ เมื่อจะใช้จะต้องนำวัตถุดิบอย่างอื่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ให้พลังงานสูงที่สามารถหาง่ายในท้องถิ่นมาผสมตามสัดส่วนที่ผู้ผลติหัวอาหารกำหนดไว้จึงจะได้คุณค่าทางอาหารตามที่ต้องการ วัตถุดิบที่ต้องนำมาผสม เช่น รำ ปลายข้าว ข้าวโพดบด ฯลฯ
4) อาหารสำเร็จรูป "ที เอ็ม อาร์ (TMR หรือ total mixed ration)" เป็นอาหารผสมระหว่างอาหารหยาบและอาหารข้น สามารถนำไปใช้เลี้ยงวัวได้เลยโดยไม่ต้องให้อาหารหยาบอีก เช่น หญ้าสด เหมาะสำหรับฟาร์มที่หาอาหารหยาบได้ยาก
การให้อาหารข้นเสริมจะทำให้วัวลดการกินหญ้าลง นอกจากเมื่อขาดแคลนหญ้าหรือหญ้ามีโปรตีนต่ำเท่านั้นจึงควรให้อาหารข้น
2. การให้แร่ธาตุเสริม
แร่ธาตุทำให้สัตว์เจริญเติบโต และทำให้การทำงานของร่างกายและระบบสืบพันธุ์เป็นปกติ การให้อาหารแร่ธาตุอาจทำได้ดังนี้
1) แร่ธาตุก้อน มีบริษัทต่างๆ ทำอาหารแร่ธาตุก้อนสำหรับโคกระบือขาย ทำเป็นก้อนทรงกลมหรือสี่เหลี่ยมลูกบาศก์สำหรับวางหรือแขวนไว้ให้สัตว์เลียกิน ขนาดก้อนละ 2 ก.ก. ราคาประมาณ 30 - 50 บาท แร่ธาตุแบบนี้ใช้ได้สะดวก
2) แร่ธาตุผง ผู้เลี้ยงอาจผสมแร่ธาตุผงตั้งไว้ให้โคเลียกิน หรือใช้ผสมในอาหารข้นสูตรที่แนะนำโดยกองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ ดังนี้
1) กระดูกป่น 50 ส่วน
2) เกลือป่น 50 ส่วน
3) จุนสีป่น 1 ส่วน
4) โคบอลท์ซัลเฟต 0.06 ส่วน
ถ้าหาจุนสีและโคบอลท์ซัลเฟตไม่ได้จะใช้กระดูกป่นและเกลือป่นอย่างละครึ่งก็ใช้ได้ แร่ธาตุผงมีข้อเสียคือ อาจหกเสียหายหรือถูกน้ำละลายได้ง่าย