12/07/2022
Acute kidney injury (AKI) คือภาวะใด ๆ ก็ตามที่ส่งผลให้โครงสร้างและการทำงานของไตเสียหายอย่างรุนแรงและฉับพลัน ประกอบด้วยสาเหตุที่เกิดจาก 1. pre-renal azotemia 2. renal azotemia และ 3. post renal azotemia
สารเคมีและยาบางชนิดอาจทำให้กระบวนการทำงานของไตเสียหาย หรือทำให้ renal blood flow (RBF) ลดลง และอาจก่อให้เกิดการทำลายของเซลล์ไต (renal cellular damage) ทั้งในส่วนของ glomerular cell, tubular cell และ interstitial cell ซึ่งการซักประวัติอย่างละเอียดเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จะทำให้สัตวแพทย์ได้ข้อมูลและทราบถึงสาเหตุของการเกิด AKI ได้เบื้องต้น โดยบทความนี้จะยกตัวอย่างสารเคมีหรือยาบางชนิดที่มีพิษต่อไต ทั้งกลไก อาการ และการรักษา ซึ่งอาหารและยาบางชนิดอาจดูเป็นสิ่งใกล้ตัวที่คุณหมออาจมองข้ามได้
1. องุ่นและลูกเกด
มีรายงานว่าผลองุ่น (ทั้งมีและไม่มีเมล็ด) ผิวเปลือกขององุ่น ลูกเกด และผลิตภัณฑ์แบบแห้งขององุ่นล้วนมีพิษต่อไตในสุนัข สำหรับกลไกยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด แต่จากพยาธิวินิจฉัยที่พบทำให้เกิดภาวะ diffuse renal tub–ular degeneration โดยเฉพาะส่วนของ proximal tubules ทำให้เกิดภาวะ acute tubular necrosis ทั้งนี้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่านอกจากได้รับสารพิษจากองุ่นแล้ว สัตว์ยังมีโอกาสได้รับสารพิษจากการปนเปื้อนของ mycotoxins ยาฆ่าแมลง และโลหะหนักได้ด้วย
สำหรับปริมาณที่กินเข้าไปแล้วจะก่อให้เกิดความเป็นพิษนั้นมีหลายการศึกษา แต่มีรายงานว่าปริมาณต่ำที่สุดที่มีโอกาสเกิดพิษกับไตคือ องุ่น 4-5 ลูกหรือ 2.8 กรัม/กิโลกรัม และลูกเกด 3 กรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ ส่วนระดับความรุนแรงของอาการและระยะเวลาที่จะแสดงความผิดปกติให้เห็นขึ้นอยู่กับปริมาณที่กินและปัจจัยจากตัวสัตว์เอง
อาการที่ผิดปกติพบได้ตั้งแต่ 6 ถึง 12 ชั่วโมงหลังกิน ได้แก่ vomiting, diarrhea, hypersalivation, haematemesis, bloody stools, anorexia, tender abdomen, ataxia, weakness และ lethargy บางรายพบภาวะ oliguria หรือ anuria ภายหลังกินไป 24 – 72 ชั่วโมง บางรายอาจพบภาวะ pancreatitis ได้แต่ยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด ในรายที่รุนแรงอาจพบภาวะ bradycardia, tachycardia, hypo/hyperthermia, anaemia, leucocytosis, cyanosis, respiratory depression, tremor, rigidity และ seizures ได้ในบางเคส
สำหรับการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่การตรวจค่า complete blood count (CBC), blood urea nitrogen (BUN), creatinine (Cr), phosphorous (ประมาณ 24 ชั่วโมงหลังกิน), calcium (ประมาณ 48–72 ชั่วโมงหลังกิน) urinalysis (UA) อาจพบภาวะ proteinuria, glycosuria, microscopic hematuria บางรายอาจพบ crystalluria ได้ด้วย (Eubig et al., 2005)
การรักษามีข้อแนะนำให้ทำการ gastric lavage เพราะลูกองุ่นและลูกเกดที่บวมน้ำสามารถอยู่ในกระเพาะอาหารได้นานจนข้ามคืน ดังนั้นการล้างท้องภายหลังจากที่กินองุ่นและลูกเกดไปแล้วนานหลายชั่วโมงจึงเป็นผลดีมากกว่า ส่วนการให้ activated charcoal ยังไม่ทราบกลไกแน่ชัดในการลดสารพิษจากองุ่นและลูกเกด แต่การให้ก็ยังมีผลดีมากกว่าผลเสีย
นอกจากนี้ยังเน้นการให้สารน้ำต่อเนื่องอย่างน้อย 48 ชั่วโมง (aggressive intravenous fluid therapy) ร่วมกับการให้ยาลดอาเจียน อาจมีการให้ furosemide และ mannitol กรณีที่มี urine output (UOP) น้อยกว่าปกติ แต่ประสิทธิภาพยายังไม่เป็นที่แน่ชัดเพราะสารพิษจากองุ่นทำให้เกิดเกิดภาวะ tubular necrosis และการอุดตันของ renal tubules ทำให้ UOP น้อยกว่าปกติอยู่แล้ว
มีการติดตามค่า electrolytes และค่า renal function ทุก ๆ 24 – 72 ชั่วโมง ติดตามอาการ tachypnea, chemosis, serous nasal discharge, pulmonary crackles, body weight อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้มีรายงานการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธี hemodialysis (HD) และ peritoneal dialysis (PD) กรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยาและสารน้ำ ซึ่งสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้
2. ลิลลี่ (Lilies)
ลิลลี่เป็นไม้ประดับที่สวยงามแต่เป็นดั่งเพชฌฆาตในแมว ก่อความเป็นพิษต่อไตอย่างรุนแรง (ยกเว้นในสุนัขและกระต่าย) องค์ประกอบทั้งต้น ก้าน ใบ ดอก และเกสรล้วนเป็นพิษทั้งสิ้น โดยเฉพาะในส่วนของดอก (Hall., 2013) มีรายงานการเกิดภาวะ AKI ในแมวจากการแค่สัมผัสกับเกสรเท่านั้น ส่วนในสุนัขที่กินดอกลิลลี่เป็นจำนวนมากจะเกิดอาการทางระบบอาหาร เช่น อาเจียน ท้องเสีย อาจพบ hematochezia แต่ไม่พบว่าก่อให้เกิดอาการของไตวาย กลไกการออกฤทธิ์ยังไม่เป็นทราบที่แน่ชัด แต่พบภาวะ necrosis ของ renal tubular และ epithelial cells จากพยาธิวินิจฉัย
สำหรับอาการหลังกินไปประมาณ 1- 6 ชั่วโมงจะแสดงภาวะระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร (gastrointestinal irritation) หลังจากนั้นจะเริ่มแสดงอาการ uremia sign ได้แก่ hypersalivation, vomiting, anorexia, weakness, lethargy และ depression จากนั้น 12 – 30 ชั่วโมงอาจพบภาวะ polyuria ตามมาด้วยภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงภายหลัง 18–30 ชั่วโมง เมื่อภาวะ uremia crisis รุนแรงขึ้นแมวอาจพบว่ามีแผลหลุ่มเกิดในปาก (oral ulceration) กลิ่นปาก (uremic breath )พบการโตและเจ็บปวดบริเวณไตได้ บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นชัก
สำหรับการตรวจวินิจฉัยจะพบค่า severe azotemia การเพิ่มขึ้นของค่า BUN, Cr, Potassium, Phosphorus ภายใน 18 – 24 ชั่วโมง การเพิ่มขึ้นของค่า Cr มักไม่เป็นสัดส่วนกับค่า BUN ภายหลังการกินไป 12 ชั่วโมงในปัสสาวะอาจพบภาวะ hematuria, proteinuria, glucosuria, isosthenuria, squamous cells, epithelial cells และมี cast จำนวนมาก มักเห็นเปลี่ยนแปลงจากการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ (urinalysis) ที่บ่งชี้ถึงความเสียหายของท่อไต ก่อนการเพิ่มขึ้นของค่า azotemia อาจพบค่าเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการเบื่ออาหารอย่างรุนแรงหรือภาวะ hepatic stress
การรักษาในสุนัขที่กินดอกลิลลี่ไม่แนะนำให้ทำ gastric lavage หากมีอาการทางเดินอาหารแค่ให้ยาประคับประคองตามอาการเท่านั้น ส่วนในแมวต้องให้การรักษาอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการดูดซึมสารพิษ ป้องกันการเกิด renal shutdown และรักษาสภาวะ renal perfusion ไว้ให้ดี มีการให้ยาลดอาเจียน และ/หรือร่วมกับการให้ activated charcoal ในกรณีที่กินไปได้ไม่นาน มีการล้างตัวเพื่อขจัดเกสรที่ติดตามผิว ขน ใบหน้าเพื่อลดโอกาสเลียตัวแล้วนำสารพิษเข้าไปอย่างต่อเนื่อง
มีข้อแนะนำให้บริหารสารน้ำเข้าเส้นเลือดเป็น 2 เท่าของ rate maintenance และให้ต่อเนื่องอย่างน้อย 48 ชั่วโมง ทั้งนี้ต้องมีการติดตามสภาวะ fluid overload ประเมินค่า UOP และ fluid in/out อย่างใกล้ชิด โดยให้ดูความเหมาะสมเป็นหลัก มีรายงานการทำ Hemodialysis และ Peritoneal dialysis ซึ่งสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้
3. Non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs)
ในต่างประเทศมักมีรายงานว่าสุนัขแอบไปกินกลุ่มยา NSAIDs ที่ใช้ในคน ซึ่งส่งผลก่อพิษต่อไตอย่างรุนแรง เช่น ibuprofen และ flurbiprofen และยังก่อให้เกิดภาวะระคายเคืองทางเดินอาหารอย่างรุนแรงด้วย (gastric ulceration และ intestinal irritation) ทั้งนี้ในสุนัขและแมวที่มีภาวะขาดน้ำ ความดันโลหิตต่ำ อยู่ในช่วงวางยาสลบ หรือการทำงานของไตที่ผิดปกติยู่แล้วจะเพิ่มโอกาสให้เกิดความเป็นพิษรุนแรงมากขึ้น
กลไกของ NSAIDs คือ ยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase 1 และ 2 (COX-1 และ COX-2) ในสภาวะปกติเมื่อเกิดการอักเสบ arachidonic acid ที่มีอยู่ในทุกเซลล์จะถูกเอนไซม์ COX-1 และ COX-2 เปลี่ยนไปเป็นสารที่เรียกว่า prostaglandin ซึ่งสารนี้ในส่วนของ COX-1 มีหน้าที่ในการรักษาสมดุลของร่างกาย เพิ่มระบบไหลเวียนเลือดที่ไตทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดขยายตัว (vasodilation) ที่ตำแหน่งหลอดเลือดฝอยในไต (afferent arteriole) ลดการสร้างกรด/เพิ่มการหลั่ง bicarbonate ที่กระเพาะอาหาร ลดการหลั่งเยื่อเมือก เพิ่มประสิทธิภาพของ mucosal barrier ส่วนเอนไซม์ COX-2 สร้าง prostaglandin ที่เป็นสาเหตุของอาการปวด ภาวะอักเสบ และอาการไข้
ดังนั้นเมื่อ NSAIDs ยับยั้ง prostaglandin จะทำให้เกิดการลดลงของ renal blood flow จนทำให้เส้นเลือดในไตขาดเลือด และเกิดภาวะ AKI ได้ ในส่วนของกระเพาะอาหารทำให้เกิดภาวะหลั่งกรดมากขึ้น mucosal barrier ลดลงจนเกิดแผลหลุมตามมา
เมื่อสุนัขกินยาเข้าไปในปริมาณมากทำให้เป็นแผลหลุมในกระเพาะอาหารรุนแรงจนอาจทะลุ เนื่องจากทำให้หลอดเลือดที่เยื่อบุกระเพาะอาหารหดตัว และเกิดการลอกหลุดของเยื่อบุ อาการที่แสดงถึงความเป็นพิษอาจเกิดขึ้นได้ทันที ได้แก่ อาเจียน, ท้องเสีย, คลื่นไส้, ปวดท้อง และอาจพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น seizures, ataxia, coma อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น อ่อนแรง ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ นอกจากนี้มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ไตลดลง ทำให้อัตราการกรองที่ไตลดลง
การรักษา กรณีที่สุนัขหรือแมวพึ่งกินยา NSAIDs ควรถูกกระตุ้นให้เกิดการอาเจียน และให้ activated charcoal หลังจากนั้นให้ยาลดกรด เช่น
- Cimetidine (ขนาด 5 – 10 mg/kg รูปแบบการกิน IV IM ทุก 8 ชั่วโมงในสุนัข และขนาด 2.5 – 5 mg/kg รูปแบบการกิน IV IM ทุก 12 ชั่วโมงในแมว)
- Famotidine (ขนาด 0.5 – 1.0 mg/kg รูปแบบการกิน IV IM SC ทุก 12 – 24 ชั่วโมงทั้งในสุนัขและแมว)
- Omeprazole (ขนาด 0.5 – 1.5 mg/kg รูปแบบการกิน IV ทุก 12 ชั่วโมงในสุนัข และขนาด 0.75 – 1 mg/kg รูปแบบการกินทุก 24 ชั่วโมงในแมว)
- Sucralfate (ขนาด 0.5 – 1 กรัม ทุก 8 – 12 ชั่วโมงรูปแบบการกินในสุนัข และขนาด 0.25 กรัม ทุก 8 – 12 ชั่วโมงในแมว)
- Misoprostol (ขนาด 2 - 5 mcg/kg รูปแบบการกิน ทุก 6 – 8 ชั่วโมง)
กรณีที่กินไปนานจนมีการดูดซึมหมดแล้วจะเป็นการรักษาแบบพยุงอาการ เช่น การให้ยาลดอาเจียน เช่น metoclopramide (ขนาด 0.25 – 0.5 mg/kg รูปแบบการกิน IV IM SC ทุก 12 ชั่วโมงทั้งในสุนัขและแมว) ondansetron และ maropitant
ลดอาการชักด้วยการให้ยา diazepam เพิ่มการให้สารน้ำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 48 ชั่วโมงเพื่อเพิ่มการขับทิ้งของยา และเพิ่มปริมาณเลือดไปเลี้ยงไตให้มากขึ้น พร้อมทั้งมีการติดตามค่า UOP อย่างใกล้ชิดทุก 6 – 12 ชั่วโมง
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทความเท่านั้น อ่านบทความฉบับเต็มพร้อมตารางประกอบได้ที่ : https://www.readvpn.com/Topic/Info/9aa07629-2cac-44a0-84e1-f933431edd12
บทความโดย : น.สพ. ธนวัฒน์ ขาวเอี่ยม
สำหรับคุณหมอสัตวแพทย์ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก
ตอนนี้ทาง VPN มีโปรโมชั่นน่าสนใจอยู่นะ
💙 อ่านออนไลน์ จ่ายถูกกว่า -
สำหรับสัตวแพทย์ท่านที่สมัครสมาชิกแบบอ่านออนไลน์ (ไม่รับหนังสือ) จ่ายเพียง 1,000 บาท/ปี เท่านั้น และยังสามารถทำ CE online ในเว็ปไซต์ได้ตามปกติ
💙 อ่านจากเล่ม เน้นสะสม -
สำหรับท่านที่สมัคร/ต่ออายุสมาชิกแบบรับหนังสือ (สามารถใช้งานเว็ปไซต์และทำ CE online ได้ด้วย)
📍 ได้ทำ CE online มากกว่า 40 คะแนน/ปี
📍 ดาวโหลด E-book ไปอ่านได้
📍 ใช้งานเว็ปไซต์ได้เต็มรูปแบบ
📍 E-learning online course
ดูรายละเอียดแพคเกจ
และสมัครออนไลน์ด้วยตัวเองได้ที่ https://www.readvpn.com/VPN/Subscription
หรือสอบถามเพิ่มเติม
add Line : https://lin.ee/v8Ldcyu