17/05/2024
สัญชาตญาณความเป็นแม่ของนกฟอพัส
เมื่อนกแก้วบางสายพันธุ์ ‘รับเลี้ยงลูกบุญธรรม’ มากกว่าที่จะฆ่าลูกนกซึ่งไม่ใช่ของตัวเอง พฤติกรรมที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องงงงวยมานานกว่า 30 ปี ได้รับคำตอบแล้วในงานวิจัยล่าสุด
การฆ่าตัวอ่อนหรือลูกเล็กนั้นเป็นเรื่องปกติในอาณาจักรสัตว์ ตัวผู้ที่มีสิทธิ์ผสมพันธุ์มักจะฆ่าลูกของตัวเมียที่ไปมีลูกกับตัวผู้ก่อนหน้า เพื่อให้ตัวเมียดังกล่าวทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างให้กับลูกที่มี DNA ของมัน ไม่ไปเสียเวลากับลูกที่เป็นของตัวอื่น สิ่งนี้ทำให้พันธุกรรมของมีโอกาสในการสืบต่อไปมากที่สุด
พฤติกรรมนี้พบในทั้งสิงโต กอริลล่า หรือแม่แต่วาฬเพชฌฆาตที่บางครั้งก็ฆ่าลูกของคู่แข่งเพื่อให้ตัวเองได้ผสมพันธุ์ มันเป็นแนวทางที่เข้าใจได้อย่างไม่ยากเย็น แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่า นกแก้วตัวเล็กสายพันธุ์หนึ่งในกลุ่มประเภทนกแก้วฟอพัส ที่มีชื่อว่า green-rumped parrotlet ทำสิ่งที่ตรงกันข้าม และมันทำให้หลายคนทึ่ง
“ในนกแก้วฟอพัสนั้น การฆ่าทารกและการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและความรัก” Steven Beissinger ผู้เขียนอาวุโสด้านการศึกษา ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นโยบาย และการจัดการจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กล่าว
“การโจมตีด้วยการฆ่าลูกทารกส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อคู่ผสมพันธุ์ถูกโจมตีโดยนกตัวผู้อีกตัวหนึ่ง ที่พยายามยึดครองพื้นที่รังซึ่งเป็นที่ต้องการของมัน” เขาเสริม “นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นเมื่อตัวผู้ต้องการผสมพันธุ์กับแม่หม้าย (นกตัวเมียที่มีลูกและคู่ของมันตายแล้ว) แต่เราแปลกใจที่พบว่าตัวผู้ใหม่เหล่านี้กลับมีแนวโน้มที่จะรับเลี้ยงลูก แทนที่จะโจมตีพวกมัน”
ศาสตราจารย์ Beissinger ได้นำทีมนักชีววิทยาเข้าไปสำรวจชุมชนนกแก้วฟอพัส green-rumped parrotlet ที่อาศัยอยู่ในฟาร์มปศุสัตว์ ของเมือง Guárico ประเทศเวเนซุเอลา ในปี 1988 พวกมันไม่เหมือนนกแก้วในป่าที่หาตัวยาก แต่กลับสร้างรังบนต้นไม้ที่มีโพรงและเสารั้วในทุ่งหญ้า
แต่เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวนกให้ได้ดีขึ้น ทีมงานจึงสร้างพื้นที่รังเทียมที่ทำจากท่อพีวีซีขนาดใหญ่ และติดตั้งไว้ทั่วฟาร์ม พร้อมกับติดแถบสีให้กับนกแก้วเพื่อแยกลักษณะบุคคลออกจากกัน ช่วยให้ติดตามความสัมพันธ์ของพวกมันได้ดีว่าตัวไหนจับคู่กับตัวไหนบ้าง
ในช่วงต้นของการศึกษา ทีมงานรู้สึกประหลาดใจกับพฤติกรรมของพวกมัน บางครั้งนกบ้านใกล้เรือนเคียงก็นำไปสู่การทะเลาะวิวาทได้ บางครั้งก็ไล่กันออกจากบ้าน นกบางตัวก็แทบจะไม่หย่าร้าง และถ้าบางตัวตาย (โดยเฉพาะตัวผู้ที่เป็นคู่ของมัน) ตัวผู้ตัวอื่นก็จะออกันเข้ามาปิดล้อมตัวเมีย
“ภายในหนึ่งชั่วโมง หลังจากสูญเสียคู่ครองไป ตัวเมียที่อยู่ในรังจะถูกล้อมรอบด้วยตัวผู้” Karl Berg นักนิเวศวิทยาด้านพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ริโอ แกรนด์ วัลลีย์ หนึ่งในทีมงานกล่าว
ทีมงานเชื่อว่าตัวผู้เหล่านั้นจะฆ่าลูกน้อยที่เป็นของตัวผู้ตัวเก่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปและได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานที่พวกเขาเห็นจงอยปากเปื้อนเลือดของตัวผู้ที่บินออกจากรัง แต่ทว่าสถานการณ์กลับซับซ้อนยิ่งกว่าเดิมเมื่อพวกเขายังเห็นตัวผู้บางตัวกำลังป้อนอาหารตัวอ่อนที่ไม่ใช่ลูกของมัน
ดังนั้นศาสตราจารย์ Beissinger จึงสังเกตการณ์ต่อไป พวกเขาสำรวจรังมากกว่า 2,700 รังในตลอดระยะเวลาการศึกษา สิ่งที่พบก็คือมีลูกนกมากกว่า 250 ตัวถูกฆ่า ไข่จำนวนมากถูกทำลาย และตัวผู้ที่ไม่คู่หรือรัง 69% คือฆาตกรของกรณีทั้งหมด แต่สิ่งที่น่าสนใจคือที่เหลือ 31% กลับเปลี่ยนตัวเองเป็น ‘พ่อเลี้ยง’ รับลูกติดของตัวเมียเป็นลูกบุญธรรม แต่เพราะอะไรกันล่ะ?
“การรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมอาจยอมรับได้ง่าย(ด้านศีลธรรมของมนุษย์)กว่าการฆ่าทารกมาก แต่จริง ๆ แล้วยากที่จะเข้าใจ เพราะมันท้าทายแนวคิดของดาร์วินเกี่ยวกับการคัดเลือกโดยธรรมชาติ” Berg กล่าว “เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่ได้เห็นว่าผลลัพธ์ด้านประสิทธิภาพการเจริญพันธ์นั้นอยู่ระหว่างการรับเลี้ยงและการฆ่าตัวอ่อน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพวกเขามีกลยุทธ์ทางเลือกอื่น”
ทีมนักวิทยาศาสตร์ต้องประหลาดใจเมื่อศึกษาลึกลงไปแล้วพบว่า ลูกนกที่ถูกรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมเติบโตขึ้นมาปกป้องพ่อบุญธรรมและแม่แท้ ๆ จากนกดุร้ายอื่น ๆ ที่พยายามเข้ามาแย่งชิงรัง ยิ่งไปกว่านั้นตัวผู้ดังกล่าวยังคงมีลูกมากพอๆ กับนกตัวผู้ที่เป็นนักฆ่ามาตลอดชีวิต
ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ลูกนกที่กลายเป็นลูกเลี้ยงช่วยให้ชีวิตครอบครัวของพวกมันปลอดภัยขึ้น และช่วยส่งเสริมความผูกพันของตัวผู้และตัวเมียให้กระชับยิ่งขึ้น ซึ่งก็ส่งผลกลับมาให้พวกมันมีโอกาสในการผสมพันธุ์เร็วขึ้นและมากขึ้น
“กลายเป็นว่า (สิ่งนี้) สามารถใช้เป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพได้” ศาสตราจารย์ Beissinger บอก “พ่อเลี้ยงได้รับความรัก-คู่ครองใหม่ และที่อยู่อาศัย-รัง”
การวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันสมิธโซเนียน สมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ประธาน A. Starker Leopold สาขาชีววิทยาสัตว์ป่า และมูลนิธิ Maxwell-Hanrahan
ที่มา
https://www.pnas.org/doi/full/10.1073/pnas.2317305121
https://www.science.org/doi/10.1126/science.333.6041.398
https://www.science.org/content/article/new-animal-dads-often-kill-their-stepchildren-these-parrots-adopt-them-instead?utm_campaign=SciMag&utm_source=Facebook&utm_medium=ownedSocial&fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTEAAR1mkMCF3bbItLDYJXVHL-s6aKkh1DMmBcZAk6JelLOd9LacBeFCxP1q-0w_aem_ARsMFEYNS3CcuX3weiep3h-MWnQnUTqsZMV19yXs-bDfAX-PN44d-Y1rJOqJCB51-mQl1wLcJJjxOzl-ubRqiGW6
https://news.berkeley.edu/2024/05/06/why-parrots-sometimes-adopt-or-kill-each-others-babies
Photo : Karl Berg