13/06/2024
ภาวะไข่ค้างในปลาโค่ยกับหุ่นของปลา
ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน คือภาวะที่มีไขมันสะสมอยู่ในร่างกายของปลามากกว่าปกติ เป็นภาวะที่ไม่ปกติ แต่อาจพบได้เป็นระยะในปลาเลี้ยง เนื่องจากได้รับอาหารมากกว่าปกติ และมีการออกกำลังกายน้อยกว่าปลาในธรรมชาติ หรืออาจจะมีปัญหาสุขภาพอื่นๆร่วมด้วย
ในกลุ่มคนเลี้ยงปลาโค่ย มีคนตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความอ้วนของปลา และภาวะไข่ค้าง แอดมินเคยได้ยินผู้อธิบายว่าเกิดปัญหาขึ้นเพราะในภาวะปกติที่ไข่ถูกสร้าง หากไม่ได้รับการผสมก็จะมีการดูดซึมกลับไป แต่หากมีภาวะอ้วน ซึ่งพลังงานในร่างกายมากกว่าปกติอยู่แล้ว การดูดซึมจะเกิดได้ไม่ดี จึงค้างอยู่อย่างนั้น
เรื่องนี้จริงหรือไม่?
ภาวะไข่ค้าง หรือ egg retention เป็นภาวะที่ปลาเพศเมียไม่สามารถขับไข่ของตัวเองออกมาได้ในระหว่างการวางไข่ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของปลาโดยรวมในเวลาต่อมา การศึกษาของ Flores‐García และคณะ ในปี 2022 พบว่า ปลานิลที่มีหุ่นไม่ดี (หรืออ้วนเกินไป) จะมีความเสี่ยงต่อภาวะไข่ค้างมากขึ้น โดยได้พบว่าความอ้วน ส่งผลต่อสมดุลฮอร์โมนของปลา ทำให้ผิดปกติไป และทำให้สรีรวิทยาของปลา รวมไปถึงระบบสืบพันธุ์ทำงานผิดปกติไป
นอกจากนี้ การศึกษาของ Siddiquee และคณะ ในปี 2015 ยังพบว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นในปลาช่อนหูเห่าอินเดีย (Channa marulius) ด้วย โดยพบว่าหุ่นของปลา หรือที่เรียกว่า body condition score นั้นมีความสัมพันธ์กับการเติบโตเข้าสู่การเจริญพันธุ์ของอวัยวะเพศ รวมถึงความสำเร็จในการวางไข่ด้วย
ในกรณีของปลาคาร์ปหรือปลาโค่ย ความสัมพันธ์ระหว่างความอ้วนและภาวะไข่ค้างนั้นมีความซับซ้อนกว่า เพราะมีปัจจัยอื่นๆมาเกี่ยวข้องหลายประการ เช่น สภาวะอากาศ โดยเฉพาะช่วงที่มีพายุฝนมากๆ เช่นตอนนี้ หรือช่วงมรสุมพายุฤดูร้อน ซึ่งปัจจัยนี้มีผลต่อพฤติกรรมการวางไข่ของปลาคาร์ป ปลาจะมีการสร้างไข่และอยากจะสืบพันธุ์ในช่วงเวลานี้ ซึ่งความอ้วนก็อาจส่งผลต่อความผิดปกติของปลา และเกิดภาวะไข่ค้างได้มากขึ้น เช่นเดียวกับปลาอื่นๆครับ
แอดมินหวังว่าปลาของทุกท่านจะแข็งแรงผ่านหน้าฝนไปได้นะครับ
ใครมีเทคนิคอะไรพิเศษ หรือความรู้อะไรอยากแบ่งปัน สามารถคอมเม้นต์ทิ้งไว้ได้นะครับ หรือใครสนใจลงโฆษณา ติดต่อได้นะครับ
สมาคมสัตวแพทย์สัตว์น้ำไทย
E-mail [email protected]
Line OA https://lin.ee/kGbaaUm
Sari, R K N., Wuryani, S., & R., K A. (2022, October 29). KOI FISH AS AN INSPIRATION FOR WALL DECORATION ARTWORK. Institut Seni Indonesia (ISI) Surakarta, 3(2), 115-128. https://doi.org/10.33153/artistic.v3i2.4494
Flores‐García, L., Camargo‐Castellanos, J C., Pascual-Jiménez, C., Almazán‐Rueda, P., Monroy-López, J F., Albertos‐Alpuche, P J., & Martínez‐Yáñez, R. (2022, June 27). Welfare Indicators in Tilapia: An Epidemiological Approach. Frontiers Media, 9. https://doi.org/10.3389/fvets.2022.882567
Siddiquee, A., Rashid, H., Isl, M A., Uddi, K K., & Shahjahan, M. (2015, June 15). Reproductive Biology of Great Snakehead Channa marulius from Sylhet Basin in the North East Bangladesh. , 10(4), 294-299. https://doi.org/10.3923/jfas.2015.294.299
Schramm, M. (1993, June 1). A COMPARISON OF CYPRINID FISH POPULATIONS IN THREE LARGE TRANSKEI RESERVOIRS WITH RESPECT TO ABUNDANCE AND REPRODUCTION. Taylor & Francis, 19(1-2), 74-88. https://doi.org/10.1080/10183469.1993.9631340